×

ถอดบทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars EP.2

18.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ความน่าสนใจของซีซันนี้อยู่ที่บรรดาลูกทีมแต่ละคนได้ผ่านประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น วิธีการโค้ชชิ่งของเมนเทอร์จะไม่เหมือนเดิม ไม่จำเป็นต้องมาสอนแบบตั้งไข่นับหนึ่งกันอีกแล้ว
  • ป้าตือ-สมบัษร ถิระสาโรช ถึงกับใช้คำว่า เหมือนดูเด็กที่เพิ่งหัดเข้าวงการใหม่ๆ มาลงแข่ง ไม่เหมือนคนที่ผ่านการแข่งขันมาแล้ว ส่วน เจนี่ เมบิลีนนิวหยวก บอกว่าถ้ามีคะแนนเต็มร้อยยังให้ไม่ถึงสิบคะแนน และไม่สามารถให้ใครชนะ Master Class ได้เลยสักคน!
  • ผมคิดว่าการวางหมากแบบนี้ของเมนเทอร์ซอนย่าน่าสนใจมาก เพราะเริ่มต้นเธอใช้วิธีการที่คนอื่นคาดไม่ถึง ใช้วิธีไม่สร้างศัตรู ลอยเหนือปัญหา ใครจะตีกันก็ตีไป แต่ฉันเข้ากับทุกคนได้หมด ฉันกอดทุกคนได้หมด ยิ่งเธอเฟรนด์ลียิ่งทำให้คนยิ่งเกรงใจเธอ

 

 

กลับมาอีกครั้งกับมหากาพย์การแข่งขัน The Face Thailand ที่อยู่ยั้งยืนยงมาถึงซีซันที่ 4 แล้ว และมาพร้อมกับทีเด็ดตั้งแต่การจุดธูปอัญเชิญยานแม่แห่งวงการบันเทิงทั้ง 6 นาง ลูกเกด-เมทินี กิ่งโพยม, คริส หอวัง, บี-น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, พิม-ซอนย่า คูลลิ่ง และริต้า-ศรีริต้า เจนเซ่น มาเป็นเมนเทอร์แบบทีมคู่ และคัดเอาผู้เข้าแข่งขัน The Face Thailand ซีซันก่อนๆ ทั้งชายและหญิงมาอยู่ในทีม น่าตื่นเต้นว่าการกลับมาครั้งนี้ของรายการเรียลิตี้โชว์ที่ขยันสร้างดราม่าทุกสัปดาห์จะดุเดือดแค่ไหน

 

และเช่นเคยเหมือนทุกซีซันที่ผ่านมา นอกจากความบันเทิงที่ได้จากรายการนี้แล้ว เรายังสามารถเรียนรู้วิธีการทำงานจากการแข่งขันไปด้วยในตัว ทั้งเรียนรู้จากเมนเทอร์ ลูกทีม และกรรมการ ความน่าสนใจของซีซันนี้อยู่ที่บรรดาลูกทีมแต่ละคนได้ผ่านประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น วิธีการโค้ชชิ่งของเมนเทอร์จะไม่เหมือนเดิม ไม่จำเป็นต้องมาสอนแบบตั้งไข่นับหนึ่งกันอีกแล้ว ถ้าเราจะเรียนรู้จากรายการนี้ได้ก็เห็นจะเป็นวิธีการทำงานกับลูกน้องที่มีประสบการณ์มาบ้างแล้ว มีของมาตั้งแต่ต้น แล้วเราในฐานะหัวหน้าจะช่วยต่อยอดให้ลูกน้องเปล่งประกายได้มากกว่าเดิมอย่างไร จุดนี้น่าจะเป็นสาระสำคัญที่เราได้จาก The Face Thailand ในซีซันนี้ บวกกับการมีเมนเทอร์ใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะทำให้เราเห็นวิธีการโค้ชชิ่งแบบใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งเมนเทอร์หน้าเก่าเองก็มีวิธีการสร้างทีมให้เราได้เรียนรู้เช่นกัน ไหนจะโจทย์ที่ต้องยากขึ้นตามความสามารถของลูกทีมและเมนเทอร์ที่มากขึ้นกว่าซีซันก่อนๆ สิ่งเหล่านี้ผมจะมาถอดบทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Thailand Season 4 All Stars ให้ผู้อ่านได้เรียนรู้กันทุกสัปดาห์เช่นเคยอย่างที่ทำมาทุกซีซัน

 

ผ่านอีพีแรกซึ่งเป็นการจับคู่เมนเทอร์และคัดลูกทีมเข้าทีมกันไปแล้ว เข้าสู่การแข่งขันของจริงในสัปดาห์นี้ มีบทเรียนอะไรให้เราเรียนรู้กันบ้าง อ่านได้ที่นี่ ที่เดียว!

 

ติดตามดูรายการ The Face Thailand Season 4 All Stars EP.2 ย้อนหลังได้ที่ tv.line.me/v/2727703/list/190363

 

*บทความมีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ

 

 

รู้ว่าเมื่อไรต้องจริงจัง รู้ว่าเมื่อไรต้องเล่น

สิ่งที่ทั้งเมนเทอร์และกรรมการสะท้อนตรงกันในสัปดาห์แรกของการลงสนามแข่งขันของจริงก็คือ ภาพรวมผู้เข้าแข่งขันดูอ่อนกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่แต่ละคนเคยผ่านการแข่งขันมาแล้วและไปเรียนรู้จากโลกนอกรายการมาบ้างแล้ว ป้าตือ-สมบัษร ถิระสาโรช ถึงกับใช้คำว่า เหมือนดูเด็กที่เพิ่งหัดเข้าวงการใหม่ๆ มาลงแข่ง ไม่เหมือนคนที่ผ่านการแข่งขันมาแล้ว ส่วนเจนี่ เมบิลีนนิวหยวก บอกว่าถ้ามีคะแนนเต็มร้อยยังให้ไม่ถึงสิบคะแนน และไม่สามารถให้ใครชนะ Master Class ได้เลยสักคน!

 

ซึ่งถ้าใครได้ดูรายการในสัปดาห์คงรู้สึกเหมือนกันว่า ผู้เข้าแข่งขันดูยังไม่ตื่นดี เหมือนยังหลับอยู่ ไม่ได้เอาใจมาแข่งขัน Master Class สัปดาห์แรกดูพังทุกคน มั่วไปหมด ไม่มีใครจริงจัง เหมือนทำเล่นๆ เช่นเดียวกับการแข่งขันแคมเปญ แม้จะมีผู้เข้าแข่งขันที่ทำได้ดีอยู่ แต่ก็อาจจะดีไม่เท่ากับที่เราๆ เคยเห็นตัวเขาเองทำมาในซีซันก่อนๆ ด้วยซ้ำ และหลายคนทำได้ไม่ดีอย่างน่าตกใจด้วยซ้ำ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าผู้เข้าแข่งขันอาจจะยังไม่ทันวอร์มอัพตัวเองเท่าไร เพราะเพิ่งเป็นสัปดาห์แรกๆ ความกดดันหรือความรู้สึกว่าเราต้องอยู่รอดให้ได้เพื่อไปถึงชัยชนะอาจจะยังไม่ทันได้เกิด เราคงต้องดูกันในสัปดาห์ต่อๆ ไป เพราะถ้าแต่ละคนยังกึ่งหลับกึ่งตื่นมาแข่งแบบนี้คงไม่รอด คุณยังไม่ใช่ The Face Thailand เชิญค่ะ!

 

 

ในโลกการทำงานก็เหมือนกันครับ จริงอยู่ว่าการทำงานที่เราสนุก ไม่รู้สึกกดดัน เป็นเรื่องดี แต่เราอาจจะต้องรู้ว่าเมื่อไรที่ต้องจริงจัง รู้ว่าเมื่อไรและอะไรไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 

เวลาที่บอกว่าเราจริงจังอยู่ไม่ได้แปลว่าเราต้องเครียด หรือไม่ได้แปลว่าเห็นคนทำงานไปหัวเราะไปแปลว่าเขาไม่จริงจังกับงาน แต่สิ่งที่จะบอกได้ว่าคนคนนั้นจริงจังกับงานแค่ไหนเราดูที่ผลงานของเขา ผลงานของเขาจะเป็นตัวฟ้องเองว่าเขาให้ความสำคัญกับงานนี้มากแค่ไหน เอาใจใส่กับงานแค่ไหน (ผมชอบคำนี้นะครับ คำว่า “เอาใจใส่” มันเห็นภาพชัดเจนเลยนะครับว่าแปลว่าอะไร) ให้ความหมายกับงานที่ทำอย่างไร นั่นแหละครับ สิ่งที่จะบอกว่าเขาจริงจังกับงานหรือเปล่า

 

คนทำงานเครียดเอาเป็นเอาตายไม่ได้แปลว่าเขาจริงจังกับงานเสมอไป บางทีเครียดมากจนงานออกมาไม่ดี หรือเครียดจนบรรยากาศในการทำงานเหมือนมีใครต้องตายอยู่ตลอดเวลาก็ไม่ได้แปลว่าเขาจริงจังนะครับ เรียกว่าคนทำงานไม่เป็น คนที่จริงจังกับงานคือคนที่รู้ว่าจะทำงานให้ออกมาดีอย่างไร ผ่อนหนักผ่อนเบาเป็น เราแค่ต้องรู้ว่าจะทำงานออกมาให้ดีมันต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างแล้วลงมือทำตามนั้น นั่นเรียกว่าจริงจังแล้วล่ะครับ  

 

 

บางคนอาจจะรู้สึกว่า งานบางอย่างที่ทำไปแบบขำๆ ไม่คิดอะไรมาก ทำไมมันดันเวิร์ก แบบนี้เรียกว่าเราจริงจังไหม ผมคิดว่ากรณีนี้ที่มันเวิร์กไม่ได้มาจากการที่เราไม่เห็นได้จริงจังกับมันเท่าไร แต่มันเวิร์กเพราะเราไม่ได้ตีกรอบกดดันตัวเราเอง และคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด เราเลยสามารถโยนไอเดียอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในหัวเราโดยไม่ฆ่าไอเดียนั้นก่อน พอปล่อยให้เราคิดอะไรก็ได้ออกมาแบบไม่ต้องกดดัน ไม่ได้บีบคั้นคาดหวังใดๆ เราก็เลยได้งานที่เวิร์กออกมา

 

บางทีการใช้วิธีการ ‘คิดอะไรออกก็โยนๆ ไอเดียกันออกมาก่อน’ ก็เวิร์กมากนะครับ เราปล่อยให้สมองเรา ‘เล่น’ สนุกกับความคิดได้เต็มที่โดยไม่ปิดกั้นไอเดียใดๆ พออยู่ในสภาวะแบบนี้แหละครับ สมองเราจะทำงานได้เต็มที่ โยนไอเดียมากองรวมกันก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมาต่อยอดไอเดียเหล่านั้นอีกที

 

เคยได้ยินไหมครับ ‘จริงจังในเรื่องเล่นๆ’ นั่นแหละครับวิธีทำงานที่เวิร์ก คงความสนุกไว้เพื่อให้เราปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้โดยไม่ปล่อยให้ตัวเองกดดันเกินไป ขณะเดียวกัน ใช้ความจริงจังเพื่อเอาไว้ย้ำเตือนตัวเองว่าสิ่งที่เราต้องทำเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่กลั่นกรองความคิดมาแล้ว ไม่ได้ทำไปทั่ว

 

เพราะฉะนั้น จะทำงานได้ดี เราต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไรเราจะจริงจัง เมื่อไรเราจะเล่น และผสมผสานมันให้งานออกมาดี

 

 

เผชิญหน้ากับความกลัว

โจทย์การแข่งขันแคมเปญในสัปดาห์นี้ ผู้เข้าแข่งขันต้องเจอทั้งงูและไฟ มีผู้เข้าแข่งขันหลายคนที่แสดงออกชัดเจนตั้งแต่ก่อนลงสนามว่ากลัวงู เช่น ทราย ซึ่งสารภาพว่างูคือสิ่งที่เธอกลัวที่สุดในชีวิต ที่ถ้าจำได้ ในซีซันแรกเธอเคยล้มคะมำตอนเดินแฟชั่นกับสุนัขมาแล้วชนิดที่ก่อนหน้านี้เธอเพิ่งชนะ Master Class มา แต่ตอนแข่งแคมเปญของจริงเธอล้มและเผลอปล่อยให้สุนัขหลุดมือ และแคมเปญหลังๆ เธอยังต้องโหนสลิงถ่ายแบบทั้งที่ตัวเองกลัวความสูงมาก มาซีซันนี้เธอก็ยังต้องเจอโจทย์ที่ดันตรงกับความกลัวของตัวเองอีก โอ๊ย! กรรม!

 

มีคำพูดหนึ่งของเมนเทอร์ซอนย่าที่ผมชอบมาก เธอบอกลูกทีมที่กลัวงูว่า “ถ้าน้องผ่านสิ่งที่น้องกลัวที่สุดนี้ไปได้ น้องจะไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้วในโลก” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทรายสามารถข้ามผ่านความกลัวได้ เธอเดินแบบกับงูโดยที่ไม่แสดงความกลัวออกมาทางร่างกายเลย และกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชม ในขณะที่บางคนไม่สามารถสลัดความกังวลได้ เลยเดินแบบออกมาไม่ดี เพราะสายตามันฟ้องว่าไม่มีความมั่นใจเหลือเลย

 

ความกลัวของคนเราเกิดจากความไม่รู้ว่าจะจัดการกับสิ่งที่เราเจออย่างไร พอไม่รู้ก็เลยกลัว มองในมุมกลับ ถ้าเรารู้ว่าจะจัดการกับมันอย่างไรได้ เราจะไม่กลัวมันอีก ในกรณีของทรายทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า ในเมื่อหนีมันไม่ได้ ก็เผชิญหน้ากับมัน แล้วหาวิธีจัดการกับมันซะ และเมื่อเราจัดการกับมันได้แล้ว เราจะไม่กลัวมันอีก

 

ปัญหาทั้งหลายในชีวิตเราก็เป็นแบบนั้นครับ มีให้เราเลือกสองทางคือ เผชิญหน้ากับมันแล้วหาวิธีจัดการกับมันให้ได้ หรือจะกลัวมันไปตลอดชีวิต

 

 

กลยุทธ์นางงามมิตรภาพ

ทั้งเมนเทอร์เกดและเมนเทอร์บีคาดการณ์ว่า หลังออกจากห้องดำแล้ว เมนเทอร์ซอนย่าจะต้อง ‘เล่นใหญ่’ หรือมาพร้อมกับถ้อยคำเชือดเฉือนประชดประชันตามแบบฉบับรายการที่เมนเทอร์แต่ละคนเมื่อออกมาจากห้องดำก็ต้องมามีซีนดราม่าเล่นใหญ่เป็นนางร้ายขึ้นมาซะงั้น ปรากฏว่าเมนเทอร์ซอนย่ามาแบบนางงามมิตรภาพ ตั้งแต่โผเข้ากอดเมนเทอร์บีว่าขอโทษที่จำเป็นต้องตัดลูกทีมออก พร้อมกับอธิบายเหตุผลการตัดสินใจแบบแฟร์ๆ ให้บีฟังด้วยวิธีการที่เข้าไปนั่งอยู่ข้างๆ แล้วคุยกันอย่างใกล้ชิด แสดงความเห็นอกเห็นใจอีกฝ่าย ยิ้มแย้ม ไม่สร้างความตึงเครียด ทำให้เมนเทอร์บีไม่โต้ตอบไปด้วยความแรง

 

ซึ่งถ้ากลับไปดูซีซันก่อนๆ ไม่มีใครใช้วิธีเข้าไปนั่งคุยใกล้ๆ แบบนี้ แต่ละคนมาพร้อมซีนเล่นใหญ่ สร้างความตึงเครียด และวางระยะห่างกับอีกฝ่ายอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับเมื่อตอนที่เมนเทอร์ซอนย่าเข้าไปหาเมนเทอร์ลูกเกดก็เข้าไปแบบเพื่อนมาหาเพื่อน ทักทายกันฮิฮะจิ๊จ๊ะจ๊ะจ๋า แล้วบอกว่ามาส่งลูกคืน จนเมนเทอร์ลูกเกดบอกลูกทีมว่าไหว้แม่สิลูก ซึ่งท่าทีของเมนเทอร์ซอนย่าแบบนางงามมิตรภาพนั้นผิดจากความคาดหมายของทุกคนมากจนไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาด่าเมนเทอร์ซอนย่าได้เลย

 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือเมนเทอร์ซอนย่าเลือกใช้วิธีการสุดแสนจะเฟรนด์ลีแบบนี้ในการเปิดตัวเธอในฐานะเมนเทอร์ที่เพิ่งออกจากห้องดำ ถ้าลองดูซีซันสอง ตอนที่เมนเทอร์บีออกจากห้องดำเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเธอร้องไห้เพราะกดดันจากการที่ต้องตัดลูกทีมทีมอื่นออกจนเมนเทอร์เกดเดินเข้าไปปลอบว่าเข้าใจว่านี่เป็นครั้งแรก แต่ครั้งต่อไปมันจะดีขึ้น และมันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปตามเกมแม้จะลำบากใจแค่ไหน หรือซีซันแรก ตอนที่เมนเทอร์ลูกเกดออกจากห้องดำเป็นครั้งแรกก็ใช้วิธีแผ่แสนยานุภาพให้ทีมอื่นรู้ว่าพี่ไม่ได้มาเล่นๆ ทุกคนกลัวหัวหดกันหมด โดยส่วนตัว ผมคิดว่าการวางหมากแบบนี้ของเมนเทอร์ซอนย่าน่าสนใจมาก เพราะเริ่มต้นเธอใช้วิธีการที่คนอื่นคาดไม่ถึง ใช้วิธีไม่สร้างศัตรู ลอยเหนือปัญหา ใครจะตีกันก็ตีไป แต่ฉันเข้ากับทุกคนได้หมด ฉันกอดทุกคนได้หมด ยิ่งเธอเฟรนด์ลียิ่งทำให้คนยิ่งเกรงใจเธอ เอาว่าต่อไปคิดจะตัดลูกทีมเธอก็ขอให้อย่าลืมนะจ๊ะว่าครั้งหนึ่งเคยพาลูกทีมมาคืนให้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องแล้วแต่ว่าทีมอื่นจะแทงหลังเธอหรือเปล่า

 

ถึงดูทรงแล้วว่าทีมซอนย่าจะไม่ได้ใช้วิธีนางงามมิตรภาพอยู่ตลอดทุกอีพีหรอก ในเมื่อเธอจำเป็นต้องแข่งขันกับคนที่พร้อมจะขย้ำเธอได้ตลอดเวลา แต่การสับขาหลอกและใช้วิธีการที่ไม่มีใครคาดคิดตั้งแต่ต้นแบบนี้ก็พอจะทำให้เราสัมผัสได้ว่า เมนเทอร์ซอนย่าน่าจะมาพร้อมกับวิธีการเล่นเกมที่คาดเดายาก ไม่เล่นเกมแบบเดิมๆ สัปดาห์นี้มาแบบนางงามมิตรภาพ สัปดาห์ต่อๆ ไปจะมาแบบไหนกัน ซึ่งนี่แหละที่ทำให้เกมน่าสนุกขึ้นแม้จะไม่ได้เปิดมาด้วยดราม่าด่ากันแรงๆ ตั้งแต่แรกอย่างที่คนคาดหวัง ซึ่งถ้าผมเป็นทีมอื่นผมคงกลับมาตั้งหลักใหม่เหมือนกันนะครับ เพราะทีมซอนย่าเล่นเกมไม่เหมือนคนอื่น

 

 

ถ้าจะเรียนรู้อะไรจากเมนเทอร์ซอนย่าตอนนี้ได้นอกจากการเปิดเกมแบบที่ทำให้คู่แข่งเดาไม่ถูกแล้ว ผมสนใจวิธีการวางตัวบนความขัดแย้งของเมนเทอร์ซอนย่าด้วยการไม่สร้างศัตรู ลอยเหนือความขัดแย้งใดๆ ลองคิดดูนะครับว่า ปกติแล้วเมนเทอร์คนไหนโดนตัดลูกทีมออกก็รู้สึกไม่พอใจอยู่แล้ว เผลอๆ จะรู้สึกโกรธเมนเทอร์ที่มาตัดลูกทีมตัวเองออกไปด้วยซ้ำ แต่ดูวิธีที่เมนเทอร์ซอนย่าเข้าหาเมนเทอร์บีไว้เป็นกรณีตัวอย่างได้เลยครับ ว่าถ้าเราต้องเข้าหาคนที่เรารู้ว่าเขาอาจจะโกรธเราได้หรือคนที่สามารถทำให้ความขัดแย้งบานปลายได้แบบเดียวกับการที่เมนเทอร์บีอาจจะโกรธเมนเทอร์ซอนย่าได้ที่ตัดลูกทีมออก แล้วเราใช้วิธีการแสดงออกที่เป็นมิตรมากๆ เข้าหาเขา ไปด้วยพลังงานบวกเต็มที่ ยิ้มไว้ก่อน และแสดงออกตั้งแต่ต้นว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขาหรือรีบพูดในสิ่งที่เขาอยากฟังก่อนเช่นเดียวกับการที่เมนเทอร์ซอนย่าเข้าไปกอดเมนเทอร์บีและพูดว่าขอโทษก่อนเลย มันจะเป็นการไม่เพิ่มความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น ยิ่งเราแสดงออกว่าเราเข้าใจอีกฝ่ายมากเท่าไร เราเข้าไปถึงความรู้สึกของเขาได้มากเท่าไร เรายิ่งลดความขัดแย้งได้ เห็นไหมครับ สุดท้ายเมนเทอร์บีไม่โกรธเมนเทอร์ซอนย่าเลยทั้งที่โดนตัดลูกทีมออก แต่ลองคิดกลับกันนะครับว่า ถ้าเมนเทอร์ซอนย่าเข้าหาเมนเทอร์บีด้วยความรุนแรง ปฏิกิริยาของเมนเทอร์บีจะเป็นอีกแบบไปเลย

 

อีพีนี้อาจจะจบลงอย่างสันติสุข กระนั้นผมก็คิดว่าเมื่ออยู่ในเกมนี้เราประมาทใครไม่ได้เลย สัปดาห์หน้าเราจะได้เรียนรู้อะไรจาก The Face Thailand Season 4 All Stars ที่เอาไปใช้กับการทำงานของเราได้อีก ติดตามได้ที่ THE STANDARD กับท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ครับ  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising