The Face Thailand Season 4 All Stars สัปดาห์นี้กลับมาพร้อมโจทย์การถ่ายแฟชั่นวิดีโอที่ผู้เข้าแข่งขันต้องห้อยโหนอยู่บนลูกบอลที่เป็นรูปลูกพรุนห้อยต่องแต่งไปมา ทั้งต้องทรงตัวอยู่บนลูกบอลที่ลื่นไม่ให้ตก ต้องแสดงสีหน้าท่าทางร่าเริงมีความสุขทั้งที่ลึกๆ กลัวจะตก แถมต้องจัดการกับร่างกายไม่ให้ท่าออกมาตลกเกินไปหรือโป๊เกินไปโดยไม่ตั้งใจ โดยทั้งหมดนี้มีเวลาอยู่เพียง 20 นาทีต่อทั้งทีม และมีพี่หมู Asava กลับมาเป็นกรรมการที่วิจารณ์ได้ทั้งตรงทั้งขำด้วย ถือเป็นอีพีที่สนุกใช้ได้ทีเดียว นอกจากความสนุกแล้ว เราจะมาถอดบทเรียนกันว่าสัปดาห์นี้มีวิชาอะไรที่เราเอาไปใช้ได้จากรายการ
ติดตามดูรายการ The Face Thailand Season 4 All Stars EP.8 ย้อนหลังได้ที่ tv.line.me/v/2999857
* บทความมีการสปอยล์เนื้อหาของรายการ
หางานให้ตัวเองทำโดยไม่ต้องรอให้หัวหน้าสั่ง
ในระหว่างการแข่งแคมเปญ ผู้เข้าแข่งขันผู้หญิงจะมีหน้าที่โหนลูกพรุน ในขณะที่ผู้ชายมีหน้าที่แค่ถ่ายวิดีโอตอนจบแป๊บเดียวเท่านั้น ใช้ความสามารถน้อยกว่า ความท้าทายต่างกันมาก และดูเหมือนเกมการแข่งขันในสัปดาห์นี้จะเทน้ำหนักความน่าสนใจไปที่ผู้หญิงมากกว่า และให้ผู้ชายเป็นเพียงตัวประกอบ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าประทับใจในการแข่งขันคือ ในระหว่างเพื่อนผู้หญิงกำลังถ่ายวิดีโอโหนลูกพรุนอยู่ อติล่ากับโจเซฟซึ่งจริงๆ ไม่ได้มีหน้าที่อะไรแต่กลับสร้างหน้าที่ขึ้นมาให้กับตัวเอง อติล่าคอยช่วยดันลูกบอลให้เพื่อนแทนทีมงาน ส่วนโจเซฟช่วยวิ่งหาทิชชู่ตอนที่สกายดื่มพรุนสกัดแล้วเลอะปากและคอยดูว่าเพื่อนต้องการอะไรไหม
เรื่องนี้คล้ายกับชีวิตจริงในการทำงาน บางคนอาจจะรอให้หัวหน้าสั่งถึงจะทำงาน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง หรือจะทำงานก็ต่อเมื่อหัวหน้าสั่งเท่านั้น อะไรที่ไม่ได้สั่งหรือเกิน Job Description จะไม่ทำ เพราะไม่ใช่หน้าที่ หรือในบางสถานการณ์ บางคนอาจจะรู้สึกเคว้งมาก เพราะหัวหน้าไม่ยอมบอกสักทีว่าจะให้ทำอะไร หัวหน้าบางคนยุ่งมาก หรืออาจจะห่างกับลูกน้องมากจนไม่ได้มาลงรายละเอียดใดๆ กับลูกน้อง ลูกน้องก็อาจจะรู้สึกเบื่อกับการหายใจให้หมดวันไปทีละวัน
การทำตามคำสั่งอาจจะดีแบบหนึ่ง บางคนถนัดจะเป็นคนทำตามคำสั่งอย่างแท้จริง คือบอกมาเถอะว่าอยากให้ทำอะไร ทำได้หมด ตั้งใจทำด้วย แต่อาจจะไม่สามารถคิดได้เองว่าต้องทำอะไร มีลูกน้องแบบนี้ต้องมีคำสั่งที่ชัดเจนมากว่าต้องทำอะไร 1-2-3-4-5 ถ้าไม่บอกอาจจะคิดเองไม่ได้ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งคือ เราสามารถค่อยๆ ฝึกเขาได้ครับ เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะไม่มีความมั่นใจเลยต้องการคนมาบอกว่าเขาต้องทำอะไร แต่ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่าเขาทำได้ หรือฝึกจนเขาคุ้นเคยกับสิ่งที่เราบอกแล้ว เขาจะมีความมั่นใจมากขึ้น เราอาจจะค่อยๆ ให้พื้นที่เขาในการคิดเองทีละน้อยก็ได้ครับ ไม่จำเป็นต้องโยนให้เขาคิดใหม่ทั้งหมด เพราะบางคนอาจจะไม่ถนัดคิดขึ้นมาใหม่จริงๆ เราแค่ต้อง Put the right man on the right job
ขณะเดียวกันต่อให้เรามี the right man เราก็ต้องพัฒนาเขาอยู่ดี วันนี้เขาเป็นมนุษย์แบบทำตามคำสั่งอยู่ เราก็ต้องสั่งเขาให้ละเอียด ฝึกจนเขาเชี่ยวชาญแล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้างจนเราไม่ต้องบอก พอเขามีความมั่นใจมากขึ้น ทำงานอยู่มือมากขึ้น และเราทำให้เขาสัมผัสได้ว่าความคิดของเขามีความหมาย เขาก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น และพัฒนาจากการทำงานตามคำสั่งมาเป็นการเริ่มให้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการทำงานได้ และอาจจะริเริ่มอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้ก็ได้นะครับ
ขณะเดียวกันบางคนอาจจะยึดมั่นกับ Job Description อย่างเดียว คือถ้าให้ทำงานเกินกว่านี้จะไม่ทำเพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ตกลงกัน ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะตกลงจ้างงานกันมาบนหน้าที่เท่านี้ 1-2-3 ด้วยค่าจ้างเท่านี้ ก็จะทำตามที่ตกลงไว้เท่านั้น แต่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ ถูกต้องแล้วที่เราต้องทำงานตาม Job Description ไม่ให้พร่อง อะไรเป็นแกนหลักที่เราต้องทำก็ต้องรับผิดชอบ ประเด็นคือถ้าเราทำทุกอย่างได้ตาม Job Description เราก็จะเป็นพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง แต่เมื่อไรก็ตามที่เรามีคุณค่าบางอย่างที่เกินกว่า Job Description กำหนดไว้ เมื่อนั้นแหละครับเราจะมีคุณค่าในที่ทำงาน เพราะถ้าจะเอาแค่คนที่ทำงานตาม Job Description ได้ก็คงจะเป็นใครก็ได้ มีเยอะแยะ แต่คนที่จะทำได้มากกว่า Job Description หรือมากกว่าสิ่งที่บริษัทคาดหวังไว้นี่แหละครับคือคนที่จะพัฒนาขึ้นไปอีก เป็นคนแบบที่บริษัทจะมองว่าคนนี้ไม่ธรรมดา เขาเป็นมากกว่า Job Description ที่ให้ไว้ เขามีคุณค่าอื่นๆ ที่ใส่ลงมาใน Job Description มากกว่านั้น
ให้มองว่าทำเกินกว่าหน้าที่เป็นความท้าทาย เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ พอเราทำได้และทำให้บริษัทเห็นว่าเรามีคุณค่ามาก เมื่อนั้นการเติบโตก็จะตามมาครับ ทำให้บริษัทเห็นผลงานก่อนน่าจะทำให้เรามีเครดิตที่ดี มากกว่าเดินไปบอกบริษัทเรียกร้องการเติบโตแต่ยังไม่มีผลงานให้เห็น ทั้งนี้จะทำเกิน Job Description ได้เราต้องประเมินความสามารถด้วยนะครับ เพราะเรายังต้องรักษาสิ่งที่อยู่ใน Job Description ไว้ไม่ให้พร่องเหมือนกัน แต่อะไรที่เกินมา ถ้าเราทำได้ นี่แหละครับเป็นโบนัสของชีวิต ทำ Job Description ให้ดี แล้วค่อยๆ เพิ่มคุณค่าใหม่ๆ ลงไป ท้าทายตัวเองด้วยความรับผิดชอบใหม่ๆ บางทีเราจะพบว่าตัวเองมีความสามารถมากกว่า Job Description ที่มีมาอีกครับ
เช่นเดียวกัน ถ้าหัวหน้าไม่ยอมสั่งเสียทีว่าอยากให้เราทำอะไร เป็นไปได้ไหมครับว่าเรานี่แหละที่จะเป็นคนบอกหัวหน้าเองว่าเราอยากทำอะไร มีวิธีคิดแบบนี้ครับว่า ถ้าบริษัทรู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร ต้องแก้ไขอะไร เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องจ้างเรามา เพราะบริษัทคงจัดการไปเรียบร้อยแล้ว บางทีสิ่งที่บริษัทอยากได้คือคนที่มาบอกว่าบริษัทต้องทำอะไร มีอะไรบ้างที่ต้องแก้ไข บอกในสิ่งที่บริษัทมองไม่เห็น ในมุมนี้ พนักงานทุกคนซึ่งสัมผัสกับงานโดยตรงอยู่แล้วจะไม่เพียงทำตามคำสั่ง แต่จะมองหาวิธีการทำงานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ คอยสอดส่องว่ามีปัญหาอะไรที่เราต้องช่วยกันแก้ หรือมีไอเดียใหม่ๆ มาเสนอ ทำแบบนี้แล้วเราจะมีคุณค่า คนเรามีความสามารถอยู่ในตัว อย่าปล่อยให้ตัวเองมาทำงานแบบไม่มีคุณค่าหรือแค่นั่งหายใจให้หมดไปเป็นวัน ถ้าหัวหน้าไม่บอกว่าเราต้องทำอะไร เรานี่แหละครับเป็นฝ่ายที่ต้องไปบอกหัวหน้าว่า นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำให้บริษัท เพราะผมเชื่อว่าทำแล้วมันจะดี หัวหน้าเองก็จะเห็นแล้วว่าลูกน้องกระตือรือร้นอยากทำงาน เห็นความสามารถของลูกน้องที่ริเริ่มงานขึ้นมาใหม่โดยไม่ต้องรอคำสั่งอย่างเดียว
มีลูกน้องแบบนี้หัวหน้ารักตายเลยครับ!
รอคำสั่งอย่างเดียวไม่ผิดครับ แต่ถ้าเมื่อไรเราไม่มีผลงาน เราไม่มีคุณค่า เราจะอยู่ในจุดที่เป็นอันตรายมาก เพราะแปลว่าไม่มีเราตรงนี้ก็ได้ เราไม่จำเป็นต่อองค์กรนี้ พนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหรือลูกน้องก็ต้องทำตัวเองให้มีคุณค่า ยิ่งสามารถมีคุณค่ามากกว่าสิ่งที่องค์กรคาดหวัง และเป็นฝ่ายช่วยให้บริษัทเห็นว่าต้องทำอะไรบ้างถึงจะพัฒนา เมื่อนั้นพนักงานก็จะเก่งขึ้น เติบโตขึ้น บริษัทเองก็ก้าวหน้าไปด้วย ทุกคนชนะหมดครับ
อ่านจบแล้วเดินไปบอกหัวหน้ากันครับว่าอยากทำงาน
หัวหน้าก็ผิดได้ และต้องรู้สึกผิดให้เป็น
เมนเทอร์บีรู้สึกเสียใจที่เป็นเมนเทอร์มา 3 ปีแต่เป็นครั้งแรกที่ตัวเองจัดการบริหารเวลาในการแข่งขันไม่ได้ มีเวลาเพียง 5 นาที แต่เวลาเกินครึ่งหมดไปกับการที่ยังไม่ได้ถ่ายเลย พอเวลาเหลือนิดเดียวทุกคนก็ลน เมนเทอร์บีเลยรู้สึกผิดว่าตัวเองทำหน้าที่เมนเทอร์ได้ไม่ดี เลยยอมรับผิดและขอโทษลูกทีมทุกคน
จะเห็นได้ว่าต่อให้เป็นเมนเทอร์มากี่ปี ผ่านการแข่งขันมากี่ครั้งก็ตาม แต่เมนเทอร์ก็ผิดพลาดได้ การทำงานก็เป็นแบบนี้ครับ ทุกคนผิดพลาดได้หมดแม้กระทั่งคนเป็นหัวหน้า และเมื่อทำผิดหัวหน้าก็ต้องขอโทษลูกน้องได้ ผมเชื่อว่าหัวหน้าที่ยอมรับผิดเป็นและขอโทษลูกน้องได้เป็นหัวหน้าที่ดีนะครับ ในทางหนึ่งหัวหน้าแบบนี้ก็กำลังสอนลูกน้องอยู่ว่าคนเราผิดพลาดกันได้ แต่ผิดแล้วต้องขอโทษเป็น วันข้างหน้าที่ลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าก็จะรู้ว่า ถ้าทำผิดกับลูกน้องก็ต้องขอโทษลูกน้อง เพราะมีแบบอย่างมาก่อน อย่าติดกับอีโก้ว่าเราเป็นหัวหน้า เราผิดไม่ได้ เราขอโทษไม่ได้ หรือถ้าเราผิดแล้วลูกน้องจะคิดว่าเราโง่ไหม ลูกน้องจะคิดว่าเราไม่เก่งไหม เลิกคิดครับ เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ผิดพลาดได้ แต่ผิดพลาดแล้วต้องเรียนรู้และแก้ไข
เราเป็นหัวหน้าเราไม่ได้สอนแค่ความแข็งแกร่ง แต่เราสอนความอ่อนโยน สอนความอ่อนน้อม สอนการไม่มีอีโก้ ให้ลูกน้องเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมาจากเวลาที่หัวหน้าพูดคำว่าขอโทษออกมาจากใจเป็นนี่แหละครับ บางทีการล้มของเราอาจจะเป็นประโยชน์กับลูกน้องก็ได้นะครับ ล้มให้ดูว่าอย่าล้มตามพี่แบบนี้ น้องได้เรียนรู้ทางลัดจากความผิดพลาดของพี่ไปด้วย ล้มทั้งทีต้องล้มให้เป็นประโยชน์สูงสุดครับ ได้ประโยชน์ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
เป็นหัวหน้ามันไม่ง่ายเลย ใครไม่เป็นหัวหน้าคงไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าเราฝึกกันได้ ผิดพลาดก็ขอโทษ แก้ไข และเรียนรู้ไปด้วยกัน
สัปดาห์หน้ามีกติกาใหม่เพิ่มเติมคือ เมนเทอร์ที่ชนะมีสิทธิ์ตัดลูกทีมทีมอื่นได้ถึง 2 คน จะทำให้เกมสนุกขึ้นแค่ไหน และเราจะได้เรียนรู้อะไรจาก The Face Thailand Season 4 All Stars ที่เอาไปใช้กับการทำงานของเราได้อีก ติดตามได้ที่ THE STANDARD กับท้อฟฟี่ แบรดชอว์ครับ