×

ปิดฉากมหากาพย์ Hyperloop ท่อแห่งความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงของ อีลอน มัสก์

19.01.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘นี่คือการเดินทางโหมดที่ 5’ คือสิ่งที่ อีลอน มัสก์ ในฐานะซีอีโอของ Tesla และ SpaceX กล่าวถึงทฤษฎีการเดินทางด้วยแคปซูล (Pod) ที่ทำจากอะลูมิเนียมผ่านอุโมงค์สุญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ของมนุษยชาตินอกเหนือไปจากรถยนต์ เรือ รถไฟ และเครื่องบิน เขาเรียกการเดินทางในรูปแบบใหม่นี้ว่า ‘Hyperloop’
  • จากเอกสาร Alpha Paper ที่เปิดให้ใครนำไปสานต่อก็ได้เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีนี้เร็วที่สุด ก็ได้กำเนิดบริษัท Hyperloop Technologies ขึ้นในปี 2014 หรือหนึ่งปีหลังจากที่มัสก์ได้เผยแพร่แนวคิดของเขาออกมาสู่โลก โดยมี ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของสายการบิน Virgin อยู่เบื้องหลัง
  • การทดสอบการใช้งานครั้งแรก (และครั้งเดียว) โดยที่มีมนุษย์โดยสารไปด้วยจริงเกิดขึ้นในปี 2020 ซึ่งถือเป็นการทดสอบที่ถูกจับตามองและอยู่บนความคาดหวังสูงมาก เพราะเรื่องราวของ Hyperloop เป็นเรื่องที่เป็นเหมือนความฝัน

หนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการคาดหวังจากผู้คนทั่วโลกมากที่สุดคือ ‘Hyperloop’ ที่แม้จะไม่ถึงขั้นเดินทางไปที่ไหนก็ได้ภายในพริบตาเหมือนประตูสุดเทพของโดราเอมอน แต่ก็เป็นการเดินทางสุดล้ำที่เหมือนหลุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟ


ปัญหาก็คือนับตั้งแต่ที่กระแสถูกจุดขึ้นมาเมื่อปี 2013 จากเอกสารอันโด่งดังของ อีลอน มัสก์ ที่มีชื่อว่า ‘Alpha Paper’ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยมีการสร้างท่อเดินทางความเร็วสูงที่ใช้งานในเชิงพาณิชย์ขึ้นมาได้จริงๆ

 

และนั่นนำไปสู่จุดจบของความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ เพราะบริษัท Hyperloop One ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ปิดฉากตัวเองลงอย่างเป็นทางการแล้ว

 

ว่าแต่เกิดอะไรขึ้น ทำไม Hyperloop จึงไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นจริงได้ และมันจะมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดขึ้นจริงได้อีกไหมในอนาคต?

 

Alpha Paper ทฤษฎีสีชมพู

 

‘นี่คือการเดินทางโหมดที่ 5’ คือสิ่งที่ อีลอน มัสก์ ในฐานะซีอีโอของ Tesla และ SpaceX กล่าวถึงทฤษฎีการเดินทางด้วยแคปซูล (Pod) ที่ทำจากอะลูมิเนียมผ่านอุโมงค์สุญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ของมนุษยชาตินอกเหนือไปจากรถยนต์ เรือ รถไฟ และเครื่องบิน

 

 

มัสก์เรียกการเดินทางในรูปแบบใหม่นี้ว่า ‘Hyperloop’

 

ตามเอกสาร Alpha Paper ที่มีการเปิดเผยในปี 2013 บอกว่าการสร้าง Hyperloop ที่ใช้โดยสารคนได้จริงคาดว่าจะใช้เงินเริ่มต้นราว 6 พันล้านดอลลาร์ (2 แสนล้านบาท) สำหรับการเดินทางด้วยแคปซูล หรือหากต้องการแคปซูลขนาดที่ใหญ่ขึ้นหรือใช้รถยนต์เดินทางได้ต้องใช้งบในการก่อสร้างเริ่มต้นราว 7.5 พันล้านดอลลาร์ (2.5 แสนล้านบาท)

 

มหาเศรษฐีผู้เป็นเหมือนโดราเอมอนของยุคสมัยนี้ยังบอกว่าโครงการนี้น่าจะสำเร็จได้ภายในระยะเวลา 3-4 ปี หากมีผู้นำโครงการที่เก่งและเหมาะสม หรือหากเป็นตัวของเขาเอง โดยมองว่าเป็นภารกิจหลักแล้วอาจจะเสร็จสิ้นภายในเวลา 1-2 ปีเลยทีเดียว

 

“เราจะเดินทางจากลอสแอนเจลิสไปซานฟรานซิสโกภายในเวลา 30 นาที” คือการยกตัวอย่างให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการเดินทางในระบบใหม่นี้ ที่สามารถเดินทางด้วยความเร็วสูงสุดถึง 760 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

โดยที่หากทำได้สำเร็จจริง จะเป็นการปฏิวัติการเดินทางของมนุษย์ไปสู่โลกแห่งอนาคตที่ทุกคนสามารถเดินทางระหว่างเมืองได้อย่างรวดเร็ว เพราะความเร็วของ Hyperloop นั้นเร็วกว่าเครื่องบินพาณิชย์ถึง 2 เท่า และเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงถึง 4 เท่า

 

ความฝันมาเต็มเลยทีนี้

 

กำเนิด Hyperloop One

 

จากเอกสาร Alpha Paper ที่เปิดให้ใครนำไปสานต่อก็ได้เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีนี้เร็วที่สุด ก็ได้กำเนิดบริษัท Hyperloop Technologies ขึ้นในปี 2014 หรือหนึ่งปีหลังจากที่มัสก์ได้เผยแพร่แนวคิดของเขาออกมาสู่โลก โดยมี ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของสายการบิน Virgin อยู่เบื้องหลัง

 

 

ด้วยแนวคิดที่ล้ำสมัยทำให้ Hyperloop Technologies ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมและลงทุนกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้ และสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ต่อเนื่อง

 

มีการประเมินว่า Hyperloop Technologies ซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่ออีกหลายครั้งเป็น Hyperloop One ก่อนจะเป็น Virgin Hyperloop One สามารถระดมทุนได้มากถึงกว่า 450 ล้านดอลลาร์ ผ่านการร่วมทุนและการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ

 

เรียกว่าในบรรดาบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการโดยสาร Hyperloop นั้น Hyperloop One ถือว่าเป็นรายใหญ่ในวงการเลยทีเดียว

 

แนวคิดก็ดี แบ็กอัพก็ดี เงินลงทุนก็มี ทุกอย่างมันน่าจะไปได้สวยใช่ไหม?

 

การทดสอบที่ล้มเหลว

 

จากเงินลงทุนมากมายมหาศาล Hyperloop One ได้พัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องจนมาถึงขั้นเริ่มทำการสร้างอุโมงค์ทดลองขึ้นเป็นครั้งแรกที่รัฐเนวาดา ซึ่งผู้บริหารของบริษัทได้บอกว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2020


การทดสอบการใช้งานครั้งแรก (และครั้งเดียว) โดยที่มีมนุษย์โดยสารไปด้วยจริงเกิดขึ้นในปี 2020 ซึ่งถือเป็นการทดสอบที่ถูกจับตามองและอยู่บนความคาดหวังสูงมาก เพราะเรื่องราวของ Hyperloop เป็นเรื่องที่เป็นเหมือนความฝัน

 

ปัญหาคือในการทดสอบครั้งนั้นแคปซูลโดยสารสามารถเดินทางได้ด้วยความเร็วเพียงแค่ 100 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งห่างไกลจากตัวเลขที่มีการขายฝันเอาไว้ถึง 7 เท่า

 

ความล้มเหลวจากการทดสอบในครั้งนั้นทำให้ Hyperloop ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ไม่มีวันเป็นไปได้ หรือต่อให้มีโอกาสจะทำได้ก็จะต้องใช้เงินลงทุนในการค้นคว้าวิจัยมากมายมหาศาลจนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่ดี

 

จากความล้มเหลวครั้งนั้นทำให้ผู้บริหารของ Hyperloop One ตัดสินใจขยายเส้นตายของโครงการออกไปเป็นปี 2021

 

 

แต่การทดสอบครั้งที่ 2 ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย พร้อมกับการทยอยลาออกของผู้บริหารระดับสูงและผู้ร่วมก่อตั้ง ที่แม้แต่ Virgin ก็ถอนชื่อออกจากบริษัท (จาก Virgin Hyperloop One จึงเหลือแค่ Hyperloop One ในปัจจุบัน) โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะแนวทางของ Hyperloop One เปลี่ยนจากการให้คนโดยสารเป็นการขนส่งสินค้าแทน

 

ไม่นับข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศของผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง โบรแกน แบมโบรแกน และ เชอร์วิน พิเชวาร์ ที่ทำให้บริษัทต้องต่อสู้คดีจนเสื่อมเสียชื่อเสียง ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของบริษัทดีขึ้นแม้แต่น้อย และบริษัทเองก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักถึงขั้นที่แบรนสันต้องช่วยหาเงินจากนักลงทุนมาให้อีก 50 ล้านดอลลาร์

 

เพราะความฝันคือความฝัน

 

ถึงแม้จะมีความเชื่อว่าทุกเรื่องดีๆ เกิดขึ้นได้เพราะความฝัน แต่ในโลกของความเป็นจริงมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป


ภายหลังจากความล้มเหลวในการทดสอบ การประสบปัญหาทางการเงิน สิ่งที่ฆ่าความฝันเรื่อง Hyperloop ให้ตายสนิทคือการที่ Hyperloop One ไม่ชนะการประมูลงานเลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้

 

สัปดาห์ที่แล้วมีการประกาศว่า Hyperloop One ตัดสินใจที่จะปลดพนักงานทั้งหมด และขายทรัพย์สินของบริษัท โดยคาดว่าจะปิดตัวลงอย่างถาวรภายในสิ้นปีนี้ ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจดทะเบียนไว้จะโอนถ่ายไปยัง Dubai World ผู้ลงทุนรายใหญ่ของพวกเขา

 

แล้วระบบรางทดสอบที่เนวาดานั้นใครใคร่จะซื้อไปเป็นสมบัติส่วนตัวก็สามารถซื้อได้ในราคาที่เหมือนได้เปล่า

 

นี่เป็นเหมือนการตอกตะปูปิดฝาโลงความฝันของมนุษยชาติเกี่ยวกับการเดินทางในโหมดที่ 5 ไปโดยปริยาย เพราะในปัจจุบันไม่มีระบบ Hyperloop เต็มรูปแบบเหลืออีกแล้วบนโลกใบนี้ แม้กระทั่งอุโมงค์ทดสอบของมัสก์ในรัฐแคลิฟอร์เนียเองก็ยกเลิกไปแล้ว

 

The Boring Company ของเขายังคงขุดอุโมงค์ใต้ผืนดินของลาสเวกัสอยู่ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ Hyperloop แต่เป็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของเขาแทน ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคตเราจะได้เห็น Hyperloop กลับมาอีกครั้งหรือไม่ เพราะในอนาคตโลกอาจมีเทคโนโลยีที่ดีพอสำหรับการเดินทางในรูปแบบนี้ หรือเราอาจจะคิดค้นอะไรใหม่ๆ ที่เจ๋งไปกว่านี้ไปเลย เช่น เครื่องเคลื่อนย้ายมวลสารที่จะทำให้เราวาร์ปไปไหนก็ได้เหมือนในภาพยนตร์ไซไฟ

 

แต่อย่างน้อยตอนนี้ถึงเวลาตื่นและพบกับความจริงว่า Hyperloop เป็นได้แค่ความฝันที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

 

ภาพ: Courtesy of Hyperloop One

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising