×

ความแห้งแล้ง หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เมืองพระนครของกัมพูชาล่มสลาย

11.04.2023
  • LOADING...
เมืองพระนคร กัมพูชา

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • มองย้อนกลับไปในอดีต เมืองพระนคร หรือที่คนในสมัยอยุธยาเรียกว่า ‘นครหลวง’ อดีตเมืองหลวงของกัมพูชาในสมัยโบราณ เคยได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งอย่างรุนแรง จนถึงขั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมืองแห่งนี้เสื่อมอำนาจลงและนำไปสู่การย้ายเมืองหลวงในที่สุด โดยข้อมูลดังกล่าวนี้ได้มาจากการศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณจากวงปีต้นไม้

ไม่ใช่มีเพียงสงครามที่เป็นปัจจัยทำให้อาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งล่มสลาย แต่ภัยธรรมชาติก็เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ในช่วง 2-3 ปีมานี้กระแสของการศึกษาโบราณคดีเริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาร่วมสมัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เนื่องจากความร้อนของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ในภาวะเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีตามแนวชายฝั่งจะถูกน้ำท่วม หรือบางแห่งเกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นจากความร้อน รวมไปถึงความผันผวนของภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น 

 

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต เมืองพระนคร หรือที่คนในสมัยอยุธยาเรียกว่า ‘นครหลวง’ อดีตเมืองหลวงของกัมพูชาในสมัยโบราณก็เคยได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งอย่างรุนแรง จนถึงขั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมืองแห่งนี้เสื่อมอำนาจลงและนำไปสู่การย้ายเมืองหลวงในที่สุด ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้มาจากการศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณจากวงปีต้นไม้ 

 

วงปีต้นไม้ก็เหมือนกับร่างกายของมนุษย์ ปีไหนน้ำมากวงปีก็ใหญ่ ปีไหนน้ำน้อยวงปีก็แคบ ด้วยหลักการนี้จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาภูมิอากาศสมัยโบราณจากต้นไม้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้นไม้ทุกชนิดจะสามารถนำมาศึกษาวงปีต้นไม้ได้ มีเพียงบางชนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นที่ต้นไม้สร้างวงปี 1 วงต่อ 1 ปี ได้แก่ ต้นสัก ต้นสน (สนภูเขา) และมีไม้อีก 2-3 ชนิดที่พอจะทำได้ การเกิดขึ้นของวงปีไม้ (Annual ring) ของต้นไม้ทั้งสองชนิดข้างต้นนี้กำหนดโดยพันธุกรรม (Genetics) ต่างจากต้นไม้หลายๆ ชนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตอบสนองตามการตกของฝน  

นักวงปีต้นไม้จะเจาะไม้ด้วยสว่าน จากนั้นใช้เครื่องนับขนาดและจำนวนของวงปี แล้วก็จะนำวงปีไม้ในปัจจุบันค่อยๆ ต่อกันเข้ากันกับชิ้นไม้เก่าเท่าที่สามารถหาได้ ก็จะทำให้สามารถสร้างเส้นภูมิอากาศสมัยโบราณขึ้นมาได้ วิธีการแบบนี้เรียกว่า Dendroclimatology แต่เมื่อเอามาประยุกต์ใช้กับงานโบราณคดีก็จะเรียกว่า Dendroarchaeology ซึ่งมีเป้าหมายที่พ่วงเข้ามาด้วยก็คือ ต้องการรู้อายุของโบราณสถานหรือโบราณวัตถุจากชิ้นไม้นั้นๆ ครั้งหนึ่งผู้เขียนเองก็เคยเรียนทางด้านวงปีไม้ในงานโบราณคดีเช่นกัน

 

ภาพแสดงวิธีการศึกษาวงปีไม้จากไม้มีชีวิตในปัจจุบันย้อนกลับไปยังไม้ที่ใช้ในโบราณสถาน
ภาพ: https://coloradoencyclopedia.org/article/tree-ring-dating-0

 

การศึกษาวงปีต้นไม้นี้เติบโตมากในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียตะวันออก เพราะเป็นเขตที่มีภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งบังคับให้ต้นไม้มีวงปีเพียง 1 วงต่อ 1 ปี ในทางตรงกันข้าม การศึกษาวงปีไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีตัวเลือกของชนิดไม้น้อยมาก และก็ไม่ง่าย เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของตัวอย่างไม้ เนื่องจากในเขตนี้มีภูมิอากาศร้อนชื้น ทำให้ไม้ย่อยสลายอย่างรวดเร็ว และยังมีปลวกกับแมลงอื่นๆ ที่กัดกินเนื้อไม้ นอกจากนี้แล้วในบ้านเรามักไม่ค่อยเก็บไม้เก่าที่เหลือจากการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเอาไว้ด้วยหลายๆ เหตุผล ทำให้ยากที่จะหาตัวอย่างไม้มาศึกษาได้ 

 

เท่าที่ทราบ วงปีไม้สักที่เก่าที่สุดที่สามารถต่อกันได้จากไม้ปัจจุบันย้อนกลับไปได้นั้นมีอายุ 450 ปีเท่านั้น หรือก็คือราวๆ สมัยอยุธยา พ.ศ. 2100 จากนั้นก็กระโดดไปเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย คือระหว่าง พ.ศ. 640-940 โดยเป็นอายุจากตัวอย่างไม้จากโลงผีแมนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

 

แต่นับเป็นความโชคดีของ ดร.เบรนดัน บัคเลย์ (Brendan M. Buckley) นักวงปีต้นไม้แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ศึกษาวงปีไม้จากต้นสน (Conifer) ในเขตเมืองดาลัต ประเทศเวียดนาม สายพันธุ์ Fokienia hodginsii หรือบางท้องที่เรียกว่า ต้นสนฝูเจี้ยน ซึ่งมีจำนวนวงปีมากถึง 700 กว่าปี ผลจากการวิเคราะห์วงปีทำให้พบว่าบริเวณดังกล่าวนี้เคยเกิดความแห้งแล้งขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1362-1392 (พ.ศ. 1905-1935) และอีกช่วงหนึ่งคือระหว่าง ค.ศ. 1415-1440 (พ.ศ. 1958-1983) 

 

แม้ว่าไม้ที่ศึกษานี้จะไม่ได้มาจากโบราณสถานในเมืองพระนคร แต่ผลการวิเคราะห์จากวงปีไม้ที่เวียดนามนี้พบว่ามีความสอดคล้องกับผลการศึกษาภูมิอากาศโบราณจากชั้นปะการัง (Coral reef) และชั้นหินปูนของหินงอกและหินย้อย ซึ่งเป็นข้อมูล ดังนั้นจึงทำให้มีความน่าเชื่อถือของข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในระดับภูมิภาคมากขึ้น (Stone 2009) โดยความแห้งแล้งที่กินระยะเวลายาวนานนี้เองที่ได้สร้างปัญหาอย่างใหญ่หลวงให้กับเมืองพระนคร

 

กราฟเส้นแสดงภูมิอากาศโบราณในช่วง ค.ศ. 1250-1500 เส้นสีแดงเป็นข้อมูลจากชั้นหินปูนของหินงอกหินย้อยในถ้ำแดนดัก ประเทศอินเดีย เส้นสีน้ำเงินเป็นข้อมูลจากวงปีไม้ที่ได้จากเวียดนาม เส้นสีเขียวเป็นข้อมูลจากชั้นหินปูนของหินงอกหินย้อยที่ถ้ำหวันเซียง ประเทศจีน พบว่าทั้งสามเส้นสะท้อนการขึ้น-ลงของสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกัน
ภาพ: https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.0910827107

 

มีหลายแนวคิดหลายทฤษฎีที่อธิบายสาเหตุที่เมืองนครล่มสลาย เมื่อหลายสิบปีมาแล้วเชื่อกันว่าอาณาจักรกัมพูชาโบราณเสื่อมอำนาจลงเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตราว พ.ศ. 1761 หลังจากนั้นได้เกิดสงครามขึ้น และในท้ายที่สุดเมื่อสมเด็จเจ้าสามพระยา กษัตริย์อยุธยาได้ยกกองทัพมาตีใน พ.ศ. 1962 ส่งผลให้กษัตริย์กัมพูชาจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงลงทางใต้ในที่สุด แนวคิดนี้เป็นแนวคิดเก่า แต่พวกนักชาตินิยมกัมพูชามักนำมาใช้ ถึงอย่างนั้นการสวรรคตของพระองค์ก็ทำให้อำนาจในเชิงบารมีที่ผูกพันกับกษัตริย์หมดลง ดังเห็นจากนครรัฐหลายแห่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่างส่งบรรณาการไปจีนอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา

 

วัดราชบูรณะ สร้างโดยสมเด็จเจ้าสามพระยาเพื่ออุทิศให้กับพระราชบิดา

 

ปัจจัยถัดมาที่พิจารณากันมากคือ การเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมหายานและพราหมณ์มานับถือศาสนาพุทธเถรวาทในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 (กลางพุทธศตวรรษที่ 19) ดังเห็นได้จากจารึกที่ใช้ภาษาบาลี (จารึกหลักแรกที่ใช้ภาษาบาลีจารเมื่อ พ.ศ. 1852) ส่งผลให้ความคิด (Ideology) ของคนในสังคมเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย ต่างจากการบูชาเทพในลัทธิเทวราชาหรือพุทธมหายาน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ลดลง เจ้าเมืองตามหัวเมืองจึงเลิกส่งภาษีจากปราสาทให้กับกษัตริย์ที่เมืองพระนครอีก และสิ่งที่เห็นในแง่ของสิ่งก่อสร้างก็คือ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นนับจากช่วงเวลานี้มีขนาดเล็กลงและเปลี่ยนรูปแบบเป็นการสร้างวิหารขนาดเล็กและเจดีย์

 

ปัจจัยถัดมาพบว่าได้เกิดความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำในเมืองพระนคร ตัวอย่างเช่น บารายตะวันออก (ขนาด 3.6 กม. x 870 ม.) มีระดับลึกกว่าคลองส่งน้ำที่จะเข้าไปยังบาราย ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าไปในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลให้บารายแห้ง จึงไม่มีน้ำไปเลี้ยงชุมชนในช่วงหน้าแล้ง อีกกรณีคือมีการตัดแม่น้ำปวกให้ไหลตรงลงแม่น้ำเสียมเรียบ ทำให้แม่น้ำเสียมเรียบมีปริมาณสูงขึ้นและกัดเซาะริมตลิ่ง ซึ่งส่งผลให้น้ำไม่เข้าบารายเท่าที่ควร (Damme 2011) 

 

ประตูเมืองนครธม

 

ดังนั้นความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลาที่ได้จากการศึกษาวงปีไม้ของ ดร.เบรนดัน จึงช่วยไขปริศนาได้หลายประการ กล่าวคือ สังเกตว่าในช่วง ค.ศ. 1362-1392 (พ.ศ. 1905-1935) เป็นระยะเวลาที่เมืองอโยธยาค่อยๆ เพิ่มความสำคัญ และเกิดการรวมตัวกันของนครรัฐสองแห่งคือ ละโว้ และเซียน (Xian) ซึ่งเซียนเอกสารจีนนี้มีการสันนิษฐานกันไปต่างๆ บ้างว่าเป็นสุโขทัย บ้างว่าเป็นสุพรรณบุรี และบ้างว่าเป็นอโยธยา แต่ที่แน่ชัดคือกลุ่มนี้มีผู้นำเป็นกลุ่มตระกูลไทที่มีขุนหลวงพะงั่วกับพระเจ้าอู่ทอง (รามาธิบดี) เป็นผู้นำ จนกระทั่งเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น จะสังเกตว่าอยุธยามีอำนาจและความมั่งคั่งกว่าเมืองพระนครอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่เป็นเช่นนั้นได้คงเป็นเพราะเมืองพระนครนั้นประสบปัญหาจากภัยแห้งแล้งอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงเมืองพระนครเท่านั้น ในชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานของทางล้านนาก็บันทึกข้อมูลเช่นกันว่าทางสุโขทัยประสบภัยแล้ง

 

เช่นเดียวกันกับช่วงที่สอง ระหว่าง ค.ศ. 1415-1440 (พ.ศ. 1958-1983) เป็นช่วงเวลาที่สมเด็จเจ้าสามพระยายกกองทัพตีเมืองพระนครใน พ.ศ. 1962 นั้นก็เป็นช่วงที่เมืองพระนครประสบปัญหาความแห้งแล้ง ในเวลานั้นประชากรคงลดลงไปมากแล้ว ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป การค้าทางทะเลบริเวณปากแม่น้ำโขงทวีความสำคัญมากขึ้น นี่เองเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากเมืองพระนครลงไปยังเมืองละแวกและพนมเปญในที่สุด 

 

ภาพการรบทางทะเลที่ระเบียงคด ปราสาทบายน

 

การพิจารณาการเสื่อมอำนาจลงหรือการล่มสลายลงของอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งนั้นไม่อาจสามารถวิเคราะห์ได้จากปัจจัยเดียว แต่ปลายเหตุที่เห็นคือการล่มสลายลงของอาณาจักรใดอาณาหนึ่งนั้นเป็นผลรวมของเหตุการณ์ทั้งหลาย ภัยจากความแห้งแล้งเป็นปัจจัยหนึ่งในนั้นที่ช่วยทำให้ความเข้มแข็งของเมืองพระนครลดลง และถึงจุดตัดสินให้ต้องย้ายเมืองหลวงเมื่อเกิดสงคราม 

 

และต่อให้ไม่เกิดสงคราม ช้าเร็วเมืองหลวงแห่งนี้ก็ต้องย้ายเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมที่เลือกเฉพาะบางปัจจัยอย่างสงครามจึงไม่ใช่คำตอบต่อการเข้าใจอดีต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising