จริงๆ แล้วเทคนิคที่เรียกว่าการ ‘แรป’ มีต้นกำเนิดยาวนานนับพันปี จากประเพณีโบราณของชาวแอฟริกันที่เรียกว่า Griots โดยกลุ่มศิลปิน นักร้อง และกวีเหล่านี้จะใช้ชีวิตเดินทางไปตามหมู่บ้านและสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่าขานเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยการใช้ภาษาสละสลวย มีคำคล้องจอง ผสานกับจังหวะจะโคนของเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาประกอบ
แต่ถ้าจะพูดถึงต้นกำเนิดเพลง ‘แรป’ และดนตรี ‘ฮิปฮอป’ ที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ต้องย้อนไปที่ย่าน Bronx นิวยอร์ก ในปี 1973 ที่ DJ Kool Herc เริ่มต้นให้กำเนิดแนวเพลงนี้ขึ้นมา
DJ Kool Herc เป็นลูกครึ่งอเมริกันจาเมกา มีชื่อจริงว่า คลิฟฟ์ แคมป์เบลล์ เขาเติบโตที่จาเมกา และซึมซับวัฒนธรรมดนตรี การปาร์ตี้ของเพื่อนบ้านที่เรียกว่าแดนซ์ฮอลล์มาตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งเขาต้องย้ายมาอยู่ที่ย่าน Bronx ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาตอนอายุ 12 ปี ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเขา
ถ้าพูดกันตามตรง สภาพความเป็นอยู่ในย่าน Bronx คงไม่ใช่ภาพที่น่าอภิรมย์สำหรับเด็กอายุ 12 ปีเท่าไรนัก เพราะเป็นแหล่งรวมของคนผิวสี ชนชั้นแรงงาน คนชายขอบ หรือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน ก็จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีสิทธิ์มีเสียงใดๆ ในสังคมขึ้นมาทันที เมื่อพาตัวเองเข้ามาอยู่ในย่านนี้
แต่ก็เพราะสภาพแวดล้อมแบบนี้เอง ที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นดนตรีแนวใหม่ ที่จะเปลี่ยนการฟังเพลงของคนทั้งโลกไปตลอดกาล
ด้วยความรักในเสียงดนตรีของ คลิฟฟ์ แคมป์เบลล์ ล้วนๆ ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีฐานะดีเท่าไร แต่ก็พยายามรบเร้าจนพ่อยอมซื้อแผ่นเสียงอัลบั้ม Sex Machine ของเจมส์ บราวน์ ให้จนได้ และด้วยความคลั่งไคล้ในเพลงฟังก์เป็นทุนเดิม ยิ่งฟังเพลงในอัลบั้มนี้มากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งอยากแบ่งปันความรู้สึกให้กับเพื่อนๆ มากขึ้นเท่านั้น วันหนึ่งเสียงเพลงจังหวะสนุกๆ ที่ขับร้องโดย เจมส์ บราวน์ ก็ดังขึ้นในห้องเล็กๆ ณ 1520 Sedgwick Avenue ในวันนั้นมีคนฟังแค่น้องสาวและเพื่อนของเขาไม่กี่คน แต่ตำนานกำลังจะเริ่มต้น ณ ที่แห่งนี้
ในเวลานั้นหากต้องการฟังดนตรีดีๆ สนุกสนาน ทุกคนต้องแต่งตัวดีๆ มีสไตล์เข้าไปในผับหรือบาร์ที่เก็บค่าเข้าและเครื่องดื่มราคาแพงเกินกว่าผู้มีรายได้น้อยจะจ่ายไหว และเปิดแต่เพลงดิสโก้ที่กำลังเป็นที่นิยมเท่านั้น
กระทั่ง คริฟฟ์ แคมป์เบลล์ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น DJ Kool Herc ประกาศจัดปาร์ตี้ Back to School Jam ขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 1973 ณ 1520 Sedgwick Avenue ที่เคยเปิดรับแค่เพื่อนสนิท ตอนนี้เขาพร้อมแล้วที่จะให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในโลกแห่งเสียงเพลงที่มีตัวเขาเป็นผู้นำพา โดยเก็บค่าเข้าเพียงแค่ 50 เซนต์สำหรับผู้ชาย และ 25 เซนต์สำหรับผู้หญิงเพียงเท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมากถ้าเทียบกับค่าเข้าผับบาร์ทั่วไปในเวลานั้น
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ DJ Kool Herc แตกต่างจากทุกคนในตอนนั้น คือเทคนิคที่เรียกว่า The Break จากการที่เขาศึกษาพฤติกรรมของเพื่อนๆ ในงานปาร์ตี้ จนรู้ว่าช่วงเวลาที่ทุกคนจะสนุกและเต้นกันอย่างเต็มที่ที่สุดคือท่อนที่มีการโซโล่เพอร์คัสชันแบบหนักๆ ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มดรอปลงไปตามจังหวะเพลง สิ่งที่เขาทำก็คือ ทำเครื่องเทิร์นเทเบิล 2 ตัว มาใช้เปิดท่อนที่ต้องการสลับกัน เพื่อยืดเวลาท่อนโซโล่ที่ทุกคนกำลังสนุกออกไปให้นานที่สุด และนับว่าเป็นการใช้เครื่องเทิร์นเทเบิลในการ ‘มิกซ์’ เพลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ความสำเร็จในครั้งนั้นทำให้ชื่อเสียงงานปาร์ตี้ของเขาค่อยๆ ขยายออกไปเรื่อยๆ ในฐานะดนตรีทางเลือกสำหรับคนที่เบื่อเพลงดิสโก้กระแสหลัก หรือไม่มีเงินจ่ายค่าเข้าราคาแพง 1520 Sedgwick Avenue พร้อมต้อนรับทุกคน
Coke La Rock และ DJ Kool Herc
Photo: www.hot1039fm.com
และเมื่อจัดงานบ่อยครั้งขึ้น นอกจาก DJ ฮิปฮอปคนแรกจะถือกำเนิดขึ้น Emcee หรือแรปเปอร์คนแรกก็ถือกำเนิดขึ้นจากที่นี่เช่นเดียวกัน คนนั้นคือเพื่อนสนิทของ DJ Kool Herc ที่ชื่อว่า Coke La Rock
ในตอนแรก Coke La Rock รับหน้าที่เป็นเหมือนโฆษกหรือพิธีกรที่ทำหน้าที่ประกาศแนะนำตัว DJ Kool Herc ก่อนเริ่มปาร์ตี้ แต่ด้วยนิสัยเป็นคนอารมณ์ดี ชอบความสนุก เจ้าบทเจ้ากลอน เขามักจะใช้คำและจังหวะแปลกๆ ออกมาเอ็นเตอร์เทนคนดูอยู่เสมอ และยิ่งมาอยู่กับเจ้าแห่งปาร์ตี้อย่าง Kool Herc ที่มักจะจัดแอร์ไทม์ให้ Coke La Rock ได้โชว์อยู่เสมอ ยิ่งพูดมากก็ยิ่งคล่องมากขึ้น และจากพิธีกรก็กลายเป็น ‘แรปเปอร์’ มาตั้งแต่ตอนนั้น
นอกจากนี้ DJ Kool Herc ยังได้ให้กำเนิดวัฒนธรรม B-Boy และ B-Girl ขึ้นมา ด้วยการรวมสมัครพรรคพวกที่ชอบเต้น มาเป็นส่วนหนึ่งในโชว์ของเขาเวลาปาร์ตี้ ซึ่งจากการเต้นตามจังหวะธรรมดา ได้ถูกพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมการเต้น Breakdance ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
แต่หลังจากนั้นไม่นานปาร์ตี้ของ DJ Kool Herc ก็เริ่มมีปัญหา เพราะเมื่อมีคนมากขึ้น ความรุนแรงก็เกิดขึ้นตามไปด้วย มีเหตุทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นเป็นประจำ บางครั้งก็มีคนจุดไฟเผางานปาร์ตี้ ซ้ำร้ายที่สุดคือ DJ Kool Herc ถูกแทงกลางงานปาร์ตี้ของตัวเอง ในตอนนั้นที่ดนตรีฮิปฮอปเริ่มตีกลับจากความรุ่งเรือง การเป็นปาร์ตี้ที่ไม่ซึ่งความปลอดภัย DJ Kool Herc ต้องกลับไปพักรักษาตัวและทำงานที่ร้านขายแผ่นเสียง และยังกลับมาทำงานเกี่ยวกับดนตรีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของเขาอีกแล้ว
หลังจากนั้นไม้ผลัดต่อไปของวงการฮิปฮอปได้ถูกส่งต่อให้กับ แลนซ์ เทเลอร์ a.k.a. DJ Afrika Bambaataa ที่เป็นถึงระดับหัวหน้าในแก๊ง Black Spade ที่คุมย่าน Bronx ในตอนนั้น โชคดีที่เทเลอร์เป็นอันธพาลสายขาว (คล้ายๆ กับแดง ไบเลย์ ใน 2499 อันธพาลครองเมือง) คือเขาไม่ใช่คนที่ชอบต่อยตีกับคนอื่นอย่างไร้เหตุผล แต่ได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากแม่ที่เป็นนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน แถมยังรักเสียงเพลงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะดนตรีฮิปฮอปที่ได้รับอิทธิมาจาก DJ Kool Herc เขาเลยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่เขาอยู่ด้วยดนตรีขึ้นมา
แทนที่จะใช้อำนาจในแก๊งเพื่อระรานคนอื่น แต่ แลนซ์ เทเลอร์ เลือกที่จะตั้งกลุ่ม Zulu Nation (ได้แรงบันดาลใจจากหนังเรื่อง Zulu ที่เขาชอบมาก) ดึงตัวลูกน้องในแก๊งรวมถึงวัยรุ่นหัวรุนแรงมาจัดปาร์ตี้ฮิปฮอปร่วมกัน ในช่วงเวลานั้นเองที่ดนตรีฮิปฮอปกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และคนรู้สึกปลอดภัยกับงานปาร์ตี้มากขึ้นเมื่อมีชื่อ DJ Afrika Bambaataa เป็นศูนย์กลาง กระทั่งในวัย 61 ปี เขาก็ยังได้รับความเคารพจากผู้คนในย่าน Bronx มาจนถึงปัจจุบัน
ตอนนั้นจากคนที่มาร่วมงานปาร์ตี้หลายคนก็เริ่มออกไปสร้างสังคมฮิปฮอปของตัวเอง บางคนผันตัวเองเป็นแรปเปอร์ เริ่มมีการจัดแบทเทิลขึ้นตามสถานที่ต่างๆ มีการทำเพลง ออกซิงเกิลออกมาบ้าง แต่น่าเสียดายที่ระยะเวลา 5-6 ปี ในช่วงนั้นไม่มีเพลงฮิปฮอปเพลงไหนได้ปั๊มแผ่นเสียงออกขายหรือเปิดในคลื่นวิทยุ จะหาฟังได้ก็เฉพาะในงาน Block Party เฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะยังไม่มีนายทุนคนไหนเชื่อว่าดนตรีแนวนี้จะประสบความสำเร็จ
กระทั่งปี 1979 ก็มีเพลงฮิปฮอปเพลงแรกที่ก้าวสู่เมนสตรีมได้สำเร็จ คือเพลง King Tim III ของ The Fatback Band ที่ตอนแรกก็ถูกวางไว้เป็นเพลงหน้า B ที่ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าเพลงนี้ดังเป็นพลุแตก จนสามารถติดท็อป 30 ในอาร์แอนด์บีชาร์ตได้สำเร็จ
เพลง King Tim III ของ The Fatback Band
แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็มีเพลง Rapper’s Delight ที่มีความยาวถึง 14.45 นาที ของ The Sugarhill Gang กลุ่มแรปเปอร์จากนิวเจอร์ซีย์ที่ได้อิทธิพลมาจากงานปาร์ตี้ย่าน Bronx ที่พอปล่อยออกมาก็ทำลายทุกสถิติที่ King Tim III ทำเอาไว้อย่างราบคาบ สามารถติดอันดับที่ 36 ของ Billboard Hot 100 ในปี 1980 ได้รับคัดเลือกให้เป็นอันดับที่ 251 ในลิสต์ 500 เพลงที่ดีที่สุดตลอดกาลของนิตยสาร Rolling Stone และสามารถขายได้มากถึง 2 ล้านก๊อบปี้ ซึ่งถือว่าเยอะมากในยุคนั้น
เพลง Rapper’s Delight ของ The Sugarhill Gang
หลังจากนั้นศิลปินฮิปฮอปและแรปเปอร์คนอื่นๆ ที่เคยทำเพลงเอาไว้แต่ไม่ได้เอาออกมาขายก็เริ่มทำซิงเกิลแบบจริงจัง ปั๊มแผ่นขาย พร้อมๆ กับคนฟังที่เปิดรับดนตรีฮิปฮอปมากขึ้น จนเราเริ่มได้ยินชื่อ Grandmaster Flash, Run D.M.C, NWA, Tupac and Biggy, Eminem รวมทั้งศิลปินฝั่งไทยอย่าง TKO, โจอี้ บอย, Thaitanium, ดาจิม ฯลฯ รวมทั้งแรปเปอร์หน้าใหม่จำนวนมาก ที่ล้วนแล้วแต่รับและส่งแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนวงการฮิปฮอปแบบรุ่นสู่รุ่น เพื่อพัฒนาวงการนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป
Cover Photo: www.bbc.com
อ้างอิง: