×

ไทยลีกเตรียมแยกตัว? ย้อนรอยการแยกตัวพรีเมียร์ลีก จุดเปลี่ยนวงการฟุตบอลอังกฤษ

28.06.2023
  • LOADING...
พรีเมียร์ลีก แยกตัว

การประชุมร่วมระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับสโมสรฟุตบอล เพื่อหารือในเรื่องของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลลีก ประจำฤดูกาล 2023/24 จบลงด้วยเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่

 

อนาคตของวงการฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้?

 

คำถามนี้เกิดจากการที่มีการเปิดเผยว่า ในข้อเสนอที่ได้รับมีบริษัทยื่นประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยแบบครบวงจรในมูลค่าเพียงแค่ 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งเอาไว้

 

ตัวเลขนี้น้อยกว่ามูลค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยที่เคยพุ่งไปถึงระดับ ‘พันล้าน’ มาก และส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อบรรดาทีมที่เข้าร่วมการประชุม และต่อทีมในระดับลีกรองลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

สิ่งที่มีการหารือกันในที่ประชุมคือการปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดย 16 ทีมในไทยลีกจะขอแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่ เพื่อดูแลสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง คล้ายกับที่พรีเมียร์ลีกเคยทำเมื่อปี 1992

 

แต่จริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในการแยกตัวของสโมสรฟุตบอลเพื่อก่อตั้งพรีเมียร์ลีกเมื่อ 31 ปีที่แล้วกันแน่? และมีอะไรที่ฟุตบอลไทยควรจะถอดบทเรียนจากเรื่องนี้บ้าง?

 

การแยกตัวของบรรดาสโมสรในพรีเมียร์ลีกนั้นต้องย้อนกลับไปถึงช่วงยุคทศวรรษที่ 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เปรียบได้เหมือน ‘ยุคมืด’ ของวงการฟุตบอลอังกฤษ 

 

 

ปัญหาฮูลิแกนหรืออันธพาลลูกหนังที่ก่อปัญหาไปทั่ว คือมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนวงการฟุตบอลเมืองผู้ดีอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันแค่ 4 ปี

 

  1. เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามวัลลีย์พาเหรดของทีมแบรดฟอร์ด ที่เกิดเพลิงไหม้จนทำให้มีแฟนบอลเสียชีวิตมากถึง 56 คน เมื่อปี 1985

 

  1. เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามเฮย์เซลสเตเดียม ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยูโรเปียนคัพระหว่างลิเวอร์พูลและยูเวนตุส ที่มีแฟนบอลเสียชีวิต 39 คน

 

  1. เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ที่แฟนบอลลิเวอร์พูลเสียชีวิตรวม 97 คนในปัจจุบัน

 

ในขณะเดียวกันฟากของสโมสรฟุตบอลเองก็เริ่มมีปัญหา เมื่อสโมสรฟุตบอลในระดับชั้นนำของประเทศมีการรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นจากทีมในระดับลีกรอง 

 

โดยในปี 1986 มีการตกลงที่สโมสรในระดับลีกสูงสุด หรือดิวิชัน 1 จะได้เงินส่วนแบ่ง 50 เปอร์เซ็นต์จากเงินรายได้ทั้งหมด และส่วนที่เหลือฟุตบอลลีก ในฐานะองค์กรผู้มีหน้าที่กำกับดูแลจัดการแข่งขันลีกฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ จะจัดสรรให้แก่ลีกในระดับรองลงไปคือ ดิวิชัน 2, 3 และ 4

 

อย่างไรก็ดี เงินส่วนแบ่งดังกล่าวแม้จะมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอสำหรับสโมสรในระดับชั้นนำที่มีความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นทีมระดับแม่เหล็ก แต่กลับต้องเกลี่ยส่วนแบ่งให้ทีมอื่นๆ มากเกินไป 

 

ความคิดดังกล่าวถือเป็นหนึ่งใน ‘สารตั้งต้น’ ที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลอังกฤษครั้งใหญ่ในระดับที่เรียกว่าเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ ด้วยการแยกตัวออกไปก่อตั้งลีกใหม่ ซึ่งในขณะนั้นเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘ซูเปอร์ลีก’ (คุ้นไหม?)

 

การตั้งลีกใหม่นั้นมีเป้าหมายหลักเพื่อจัดการดูแลสิทธิประโยชน์กันเองในบรรดาลีกระดับสูงสุดที่ต้องการสัดส่วนของผลประโยชน์ที่มากขึ้น

 

สำหรับทีม ‘กบฏ’ ชุดแรกที่เป็นผู้นำขบวนการ คือ 5 สโมสรใหญ่ที่เรียกกันในเวลานั้นว่า ‘Big Five’ ซึ่งประกอบไปด้วย อาร์เซนอล, เอฟเวอร์ตัน, ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ได้มีการเจรจากับทาง เกร็ก ไดค์ ในฐานะผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ London Weekend Television (LWT) 

 

พรีเมียร์ลีก แยกตัว

 

ในจุดเริ่มต้นนั้น Big Five ต้องการจะขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของ 5 สโมสรนี้ให้กับ ITV โดยตรง แต่หลังจากที่มีการเจรจากันต่อเนื่อง ได้นำไปสู่แนวทางใหม่ในการก่อตั้งลีกใหม่ โดยหลังจบฤดูกาล 1990/91 ทุกสโมสรทั้ง 22 ทีมได้รับเอกสารในการก่อตั้งลีกใหม่ที่ใช้ชื่อว่า ‘เอฟเอ พรีเมียร์ลีก’ (FA Premier Leauge) 

 

โดยจุดสำคัญคือการที่สมาคมฟุตบอล (FA) ให้การสนับสนุนด้วย และจะมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของพรีเมียร์ลีก แต่มีเสียงที่ใหญ่กว่าสโมสรที่เป็นสมาชิก (หรือผู้ถือหุ้นในฤดูกาลนั้น) และยังมีอีก 2 คนที่มีส่วนสำคัญมากคือ เดวิด ดีน รองประธานสโมสรอาร์เซนอลในเวลานั้น ที่เป็นผู้ผลักดันอยู่เงียบๆ และ ริค แพร์รี ซึ่งถูกจ้างมาเพื่อเป็นซีอีโอของพรีเมียร์ลีก ที่มีส่วนในการทำให้ BSkyB เป็นผู้ที่คว้าชัยชนะได้แบบสุดดราม่า

 

เพียงแต่ผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดไปกลับไม่ใช่ ITV ซึ่งเป็นฟรีทีวี แต่เป็น BSKyB ซึ่งเป็นธุรกิจเพย์ทีวี หรือโทรทัศน์ระบบตอบรับสมาชิก ของเจ้าพ่อวงการสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซึ่งขณะนั้นประสบปัญหาหนี้สินมหาศาล แต่มองเห็นโอกาสที่จะกอบกู้บริษัทได้ผ่านเกมกีฬา ทำให้เข้าร่วมในการประมูลด้วย และคว้าชัยชนะได้แบบสุดดราม่าระดับตำนานของวงการฟุตบอลอังกฤษในเวลานั้น

 

เรื่องที่เล่ากันคือ ในวันสุดท้ายก่อนเคาะหาผู้ชนะลิขสิทธิ์ ซึ่งตอนนั้นบนโต๊ะมีแค่ข้อเสนอจาก Sky เจ้าเดียว แต่ปรากฏว่า ITV นำโดย เทรเวอร์ อีสต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมือขวาของช่องรองจากไดค์ ได้เดินทางมายังโรงแรมรอยัลแลงคาสเตอร์ พร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่งที่หนีบมาด้วย 

 

ข้อเสนอจาก ITV ในเวลานั้นคือการจ่ายเงิน 262 ล้านปอนด์สำหรับการถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกเป็นเวลา 5 ปี โดยจะถ่ายทอดสดฤดูกาลละ 30 นัด ซึ่งทางอีสต์เชื่อว่าข้อเสนอนี้ดีพอ และจะทำให้พวกเขาได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน

 

ปรากฏว่าแพร์รีซึ่งได้ยินเรื่องดังกล่าวและโทรหา แซม คริสโฮล์ม อดีตผู้บริหารของ Sky เพื่อให้โทรบอก รูเพิร์ต เมอร์ด็อก ซึ่งขณะนั้นเดินทางไปที่นิวยอร์กและกำลังหลับอยู่ ให้รีบกลับมาพร้อมกับข้อเสนอใหม่ที่ต้องมากกว่าทาง ITV

 

ริค แพร์รี

ริค แพร์รี

 

แต่แพร์รีไม่ได้เป็นคนเดียวที่รีบ อีกคนคือ อลัน ชูการ์ ที่เพิ่งเข้ามาซื้อทีมสเปอร์สในเวลานั้น ซึ่งบริษัทของเขารับผลิตจานดาวเทียมให้กับ BSkyB ด้วย เมื่อทราบข้อเสนอจาก ITV ก็รีบลงมาหาคริสโฮล์มที่ล็อบบี้ของโรงแรมก่อนจะบอกให้รีบจัดการ ซึ่งคริสโฮล์มก็ตะโกนใส่โทรศัพท์ว่า “ยื่นข้อเสนอใหม่ถล่มพวกมันให้ราบ!”

 

แพร์รียังจำเหตุการณ์ในตอนนั้นได้ และเล่าว่า ไดค์ในฐานะบอสของ ITV ได้ยินเข้าก็ถามว่า “นั่นคุยกับใครน่ะ” ก่อนที่คริสโฮล์มจะตอบว่า “คุยกับภรรยาผมอยู่!” แล้วรีบตัดบทวางสาย

 

การโทรศัพท์ของคริสโฮล์มนำไปสู่การยื่นข้อเสนอใหม่อีกครั้งของ BSkyB ซึ่งการันตีจ่ายมากกว่า 42 ล้านปอนด์ในสัญญาระยะเวลา 5 ปี และถ่ายทอดสดจำนวนเกมมากกว่าเป็นเท่าตัวถึง 60 นัด อีกทั้งยังการันตีการกลับมาของรายการยอดฮิต Match of the Day ที่จะออกอากาศทาง BBC 

 

ข้อเสนอนี้ได้รับการโหวตเห็นชอบจำนวน 14 ต่อ 6 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ซึ่งตามระเบียบการของพรีเมียร์ลีกถือว่าชอบด้วยกฎ และทำให้ BSkyB คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกสมัยแรกไปครอง ก่อนจะผูกขาดยาวมาอีกหลายปีกว่าที่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเลิกการผูกขาด โดยต้องมีเจ้าของลิขสิทธิ์มากกว่า 1 คนขึ้นไป

 

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในฤดูกาล 1992/93 โดยวันแรกอย่างเป็นทางการ ริชาร์ด คีย์ส เป็นพิธีกรดำเนินรายการในคู่น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ พบกับลิเวอร์พูล วันที่ 16 สิงหาคม 1992

 

และนี่คือประวัติศาสตร์แบบย่นย่อของการแยกตัวของบรรดาสโมสรฟุตบอลในลีกสูงสุดของอังกฤษ มาก่อตั้งลีกใหม่ที่ชื่อว่าพรีเมียร์ลีก 

 

สิ่งที่จะแตกต่างจากลีกของไทยคือ ในครั้งนั้นสโมสรฟุตบอลแยกตัวออกมาจากองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลอาชีพอย่างฟุตบอลลีก ซึ่งเป็นอิสระจากฟุตบอลอังกฤษ แต่ทำงานร่วมกัน โดยสมาคมฟุตบอลเป็นผู้ที่ดูแล ‘ภาพใหญ่’ ในการพัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศและดูแลทีมชาติเป็นหลักเท่านั้น

 

ขณะที่ของไทยจะเป็นการแยกตัวจากสมาคมฟุตบอลแทน

 

แน่นอนว่ายังมีคำถามที่สำคัญตามมาอีกมากว่า จะกำกับดูแลกันอย่างไร ใครเป็นเจ้าภาพ ทำงานร่วมกับสมาคมฟุตบอลอย่างไร จะดูแลลีกในระดับรองลงไปซึ่งถือเป็น ‘ฐานราก’ อย่างไร และจะดูแลกันอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่? (ที่อังกฤษทุกสโมสรมี 1 เสียงเท่ากัน)

 

ยังไม่พูดถึงเรื่องของผลประโยชน์และภาระผูกพันระหว่างผู้ที่มีหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์เดิมอย่าง Plan B ด้วย

เรื่องทั้งหมดคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมวันที่ 3 กรกฎาคมที่จะถึงนี้

ไม่ว่าการประชุมจะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ‘วงการฟุตบอลไทยจะไม่เหมือนเดิม’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising