เงินบาทเช้าวันนี้ (1 มีนาคม) ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.42 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับช่วงปิดตลาดปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 30.35 บาทต่อดอลลาร์
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทในวันนี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.35-30.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยสัปดาห์นี้มีประเด็นที่ต้องติดตาม คือตัวเลขการจ้างงานและการผ่านงบประมาณการคลังในสหรัฐฯ
ในระหว่างสัปดาห์ต้องจับตาไปที่การให้ความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ หลายท่านต่อการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ในช่วงนี้ ตามมาด้วยการประกาศตัวเลขตลาดแรงงาน ซึ่งเชื่อว่าการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) จะขยายตัว 1.68 แสนตำแหน่ง และการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) จะเพิ่มขึ้น 1.65 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 6.3% ในเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับในฝั่งเอเชียจะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน (China Manufacturing และ Non-manufacturing PMI) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 52.0 จุด ตามลำดับ ซึ่ง PMI ที่ระดับดังกล่าว ถือว่าลดลงจากช่วงเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีประเด็นการล็อกดาวน์เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ดีถือว่าเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวดีอยู่
ด้านตลาดเงิน ประเด็นหลักที่ต้องจับตาคือความเห็นของเฟดต่อบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้นเร็ว พร้อมกับนโยบายการคลังที่มีโอกาสผ่านสภาค่อนข้างสูง เชื่อว่าโดยรวมจะทำให้ตลาดผ่อนคลายขึ้นและดอลลาร์อ่อนค่ากลับ ส่วนในฝั่งยุโรปต้องจับตาไปที่การผ่อนคลายมาตราการล็อกดาวน์ในหลายประเทศที่เชื่อว่า น่าจะหนุนให้เงินยูโรแข็งค่าได้ต่อ เช่นเดียวกับเงินเยนที่คาดว่าจะทรงตัวถึงแข็งค่า หลังล่าสุดกลับมาเกินดุลการค้าต่อเนื่อง
กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.30-91.30 จุด ระดับปัจจุบัน 90.92 จุด
ฝั่งเงินบาทอ่อนค่าแรงในช่วงที่ผ่านมาเพราะถูกกดดันจากเรื่องความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวขึ้นเร็ว และราคาทองคำที่ปรับตัวลงสวนกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เรามองการเคลื่อนไหวล่าสุดเกิดจากการเก็งกำไรเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานไทยยังคงเกินดุลการค้า และตัวเลขทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง จึงเชื่อว่าถ้าดอลลาร์หยุดแข็งค่าจะเห็นเงินบาทฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เราปรับประมาณการณ์เงินบาทสิ้นไตรมาสที่หนึ่งมาที่ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเชื่อว่าเป็นระดับที่ผู้เล่นหลักในตลาดมองว่าเหมาะสม
กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.20-30.70 บาทต่อดอลลาร์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์