×

‘The Auld Enemy’ 149 ปีแห่งความชิงชังระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์

18.06.2021
  • LOADING...
The Auld Enemy

HIGHLIGHTS

  • การพบกันของอังกฤษและสกอตแลนด์มีชื่อเรียกว่า ‘The Auld Enemy’ หรือคู่ปรับเก่าที่รบพุ่งในเกมลูกหนังกันมาตั้งแต่ปี 1872 เลยทีเดียว
  • ตลอดช่วงเวลาที่เป็นคู่แข่งกัน 149 ปีที่ผ่านมา พวกเขาลงสนามกันมาแล้วมากถึง 114 นัด และมีมากมายหลายครั้งที่เป็นเกมในความทรงจำของผู้คน
  • ความนิยมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่เพิ่มมากขึ้นราวกับติดจรวด ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษทิ้งห่างวงการฟุตสกอตแลนด์ไปเรื่อยๆ และทำให้ความเข้มข้นของ The Auld Enemy ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • การพบกันครั้งที่ 115 คือเกมสำคัญที่จะส่งผลต่อโอกาสในการเข้ารอบ โดยเฉพาะกับสกอตแลนด์ที่พลาดแพ้มาในเกมแรก พวกเขาไม่สามารถจะพลาดได้อีก

ในเกมฟุตบอลนั้น หนึ่งในเรื่องราวที่มีเสน่ห์มากที่สุดคือเรื่องราวของความเป็นคู่ปรับ (Rivalry) ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำให้เกมกีฬาสนุกตื่นเต้นและมีความหมายมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับคนที่ติดตามฟุตบอลมานาน เราต่างรู้จักสงครามลูกหนังมากมายหลายหลากระดับ สงครามลูกหนังที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือเกมระหว่างลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับเกม ‘เอลกลาซิโก’ ระหว่างเรอัล มาดริดกับบาร์เซโลนา

 

รองลงมาจะเป็นเกมของคู่แข่งระหว่างเมืองหรือที่เรียกว่า ‘ดาร์บีแมตช์’ เช่น นอร์ทลอนดอน ดาร์บี (อาร์เซนอล-สเปอร์ส), เมอร์ซีย์ไซด์ ดาร์บี (เอฟเวอร์ตัน-ลิเวอร์พูล) หรือแมนเชสเตอร์ ดาร์บี (แมนเชสเตอร์ ซิตี้-แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)

 

คนที่ติดตามลึกไปอีกจะรู้จักเกม ‘ซูเปอร์กลาซิโก’ ระหว่างริเวอร์เพลทและโบคา จูเนียร์สในอาร์เจนตินา, ‘ดิ โอลด์เฟิร์ม ดาร์บี’ ระหว่าง 2 สโมสรแห่งเมืองกลาสโกว์ เซลติกและเรนเจอร์ส หรือเกมดาร์บีแห่งเบลเกรด ระหว่างปาร์ติซานและเรดสตาร์

 

อย่างไรก็ดี เกมของคู่ปรับที่มีประวัติศาสตร์ความชิงชังยาวนานที่สุดนั้น คือเกมระหว่างทีมชาติอังกฤษและทีมชาติสกอตแลนด์ครับ

 

The Auld Enemy

 

การพบกันของคู่นี้มีชื่อเรียกว่า ‘The Auld Enemy’ หรือคู่ปรับเก่าที่รบพุ่งในเกมลูกหนังกันมาตั้งแต่ปี 1872 เลยทีเดียว

 

ที่มาที่ไปของการพบกัน ‘ครั้งแรก’ อย่างเป็นทางการนั้น จริงๆ แล้วก่อนหน้านั้นมีการพบกันของตัวแทนสองทีมชาติมาแล้วถึง 5 ครั้งครับ เพียงแต่มันเป็นการเล่นกันที่ลอนดอน และคนที่เล่นใน ‘ทีมชาติสกอตแลนด์’  นั้นก็หาใช่คนสกอตติชจริงๆ ไม่

 

เพื่อให้หายคาใจก็เลยเกิดการท้าทายกันขึ้น และนำไปสู่การแข่งขันระหว่างทีมชาติอังกฤษกับทีมชาติสกอตแลนด์ (ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นทีมชาติอยู่ดี แต่เป็นทีมสโมสรที่มารับบทให้) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 1872

 

เกมนั้นจบลงด้วยการเสมอกันไป 0-0 และได้รับการบันทึกว่านี่คือการแข่งขันฟุตบอลทีมชาตินัดแรกในประวัติศาสตร์ครับ (สามารถอ่านเรื่องของเกมนี้อย่างละเอียดได้ในบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อ 2 ปีก่อนนะครับ thestandard.co/national-football)

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อังกฤษและสกอตแลนด์ก็เป็นชาติคู่ปรับ ที่แม้จะไม่ได้เกลียดชังกันชนิดอยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่หากมีโอกาสจะต้องพบกันเมื่อใด มันคือเกมที่จะไม่มีใครยอมใครทั้งสิ้น

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกีฬาเป็นเรื่องของการแข่งขัน แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องแรงผลักดันทางการเมือง สภาพสังคม และเศรษฐกิจ เพราะสกอตแลนด์นั้นเป็นชาติที่ถูกผนวกรวมอยู่ในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) แน่นอนว่าพวกเขามีความรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ

 

จะว่าไป ยามที่มีเกมระหว่างสองทีมนี้พบกัน ทีมที่ดูจะรู้สึกและคึกคักมากกว่าเสมอคือสกอตแลนด์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าพวกเขาจะขอ ‘เตะก้น’ อังกฤษให้สาแก่ใจสักหน่อย ซึ่งหากทำได้เมื่อใด ค่าดัชนีความสุขของคนทั้งชาติจะพุ่งสูงปรี๊ดทันทีครับ

 

เรื่องนี้ อัลลี แม็คคอยสต์ อดีตศูนย์หน้าดาวดังของทีมชาติสกอตแลนด์และทีมกลาสโกว์ เรนเจอร์ส เปิดเผยกับ Daily Telegraph ผ่านบทความของเขาที่เล่าเรื่องของเกม ‘จำลอง’ ระหว่างทีมชาติสกอตแลนด์และทีมชาติอังกฤษในระหว่างการซ้อมของทีมเรนเจอร์ส

 

โดยทุกวันศุกร์นั้น ปกติแล้วแต่ละสโมสรจะซ้อมกันเบาๆ เพื่อถนอมร่างกายเอาไว้สำหรับการลงสนามในบ่ายวันเสาร์ แต่มันไม่ใช่สำหรับเรนเจอร์ส เพราะทุกบ่ายวันศุกร์คือช่วงเวลาของความมันสะใจ เมื่อจะมีการแบ่งทีมกันระหว่างนักเตะสกอตแลนด์กับนักเตะอังกฤษ (ที่เขาเรียกว่าคน South of the border) และทุกคนจะเล่นใส่กันแบบเต็มๆ ไม่มียั้ง

 

เสียบเป็นเสียบ เตะเป็นเตะ เลือดตกยางออก ระเบิดอารมณ์ใส่กันเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรจะเป็นเรื่องปกติ

 

สุดท้ายต้องลำบากผู้จัดการทีมอย่าง วอลเตอร์ สมิธ ที่ต้องมาเป่านกหวีดไล่นักเตะให้หยุดเล่นและออกจากสนามซ้อมเสีย

 

นั่นคือภาพสะท้อนความร้อนแรงทางความรู้สึกของการพบกันคู่นี้ครับ

 

หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของความเป็นคู่แข่ง 149 ปีที่ผ่านมา พวกเขาลงสนามกันมาแล้วมากถึง 114 นัด และมีหลายครั้งที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน

 

ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการเอาชนะคู่ปรับอย่างสะใจสุดๆ นั่นเองครับ เช่น การพบกันในวันที่ 5 เมษายน 1879 หรือ 7 ปีหลังการพบกันครั้งแรก อังกฤษสามารถพลิกสถานการณ์จากการตามหลัง 1-4 ในช่วงพักครึ่ง กลับมาเอาชนะได้ 5-4 (ทั้งสองทีมถูกปฏิเสธประตูทีมละ 2 ครั้งจากลูกล้ำหน้าซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว)

 

ในวันที่ 31 มีนาคม 1928 สกอตแลนด์สร้างตำนาน ‘The Wembley Wizards’ หรือเหล่าพ่อมดแห่งเวมบลีย์ เมื่อโชว์ฟอร์มระดับพระกาฬบุกมาถล่มอังกฤษได้อย่างขาดลอยถึง 5-1 ถึงเวมบลีย์!

 

จากนั้นอังกฤษมีช่วงเวลาที่ดีเมื่อถล่มสกอตแลนด์ขาดลอยถึง 7-2 ในปี 1955 และอีกครั้ง 9-3 ในปี 1961 ในยุครุ่งเรืองของพวกเขา ก่อนที่จะไปคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ในปี 1966 ในแผ่นดินเกิดของตัวเอง

 

แต่ในอีก 1 ปีให้หลัง สกอตแลนด์กลับบุกมาเอาชนะอังกฤษได้ 3-2 และทำให้เหล่า ‘ตาร์ตัน อาร์มี’ (ชื่อเรียกของแฟนบอลทีมสกอตแลนด์) เรียกขานทีมชาติของตัวเองว่า ‘World Champions’ ตัวจริง

 

The Auld Enemy

เหล่า ‘ตาร์ตัน อาร์มี’ บุกลงมาฉลองชัยในสนามเวมบลีย์ถึงขั้นทำ ‘คานหัก’ 

 

อีกครั้งที่สกอตแลนด์ได้สะใจกันอย่างสุดๆ เกิดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน 1977 โดยหลังจากที่โดนถล่มมาในการเยือนเวมบลีย์ 5-1 ในคราวก่อน พวกเขาหมายมั่นปั้นมืออย่างมากว่าจะล้างตาให้ได้ และก็สามารถทำได้สำเร็จจริงๆ

 

ความสะใจนั้นทำให้แฟนบอลสกอตแลนด์พากันกรูลงไปในสนามเวมบลีย์ มีแฟนบอลที่ปีนขึ้นไปบนคานประตู ก่อนที่สุดท้ายคานจะหักลงมา กลายเป็นภาพความทรงจำของชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของชาวแดนเหนือไป

 

ในยุคหลังนั้น เกมที่อยู่ในความทรงจำมากที่สุดคือการพบกันในศึกยูโร 1996 ที่อังกฤษสามารถเอาชนะสกอตแลนด์ได้ 2-0 จากประตูของ อลัน เชียเรอร์ และสุดยอดประตูที่ยังเป็นที่พูดถึงในทุกวันนี้ (และเป็นแรงบันดาลใจให้ ฟิล โฟเดน ทำสีผมใหม่) ของ พอล แกสคอยน์ ที่โชว์พรสวรรค์กระดกบอลข้ามศีรษะ โคลิน เฮนดรี ก่อนที่จะเอาบอลลงแล้วยิงผ่าน แอนดี โกแรม เข้าไปอย่างสุดสะใจ

 

ผมเองทันดูการถ่ายทอดสดคู่นี้ และยังจดจำบรรยากาศทั้งก่อนและหลังเกมได้ค่อนข้างดีครับ เป็นความทรงจำสีจางๆ ที่มีความหมายอย่างมาก แม้จะไม่ได้เป็นแฟนบอลของทั้งสองชาติก็ตาม

 

แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความนิยมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกที่เพิ่มมากขึ้นราวกับติดจรวด ทำให้วงการฟุตบอลอังกฤษทิ้งห่างวงการฟุตสกอตแลนด์ไปเรื่อยๆ และทำให้ความเข้มข้นของ The Auld Enemy ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

การพบกันครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปี 2017 ในรายการฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่แฮมป์เดน พาร์ก โดยที่จบลงด้วยการเสมอกัน 2-2

 

อย่างไรก็ดี ถึงจะห่างๆ กันไปบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าเกมที่จะพบกันในช่วงดึกคืนนี้นั้นจะไม่มีความสำคัญครับ

 

ในเชิงความร้อนแรงและเพลิงแค้นไม่เท่าคนยุคก่อน แต่ในเชิงของการแข่งขันแล้ว นี่คือเกมสำคัญที่จะส่งผลต่อโอกาสในการเข้ารอบ โดยเฉพาะกับสกอตแลนด์ที่พลาดท่าต่อเช็กมาในเกมแรก พวกเขาไม่สามารถจะพลาดได้อีก

 

ถึงตัวผู้เล่นจะเป็นรองค่อนข้างมาก ชนิดที่มีบทวิเคราะห์ว่าสกอตแลนด์แทบไม่มีโอกาสเลยที่จะเป็นฝ่ายเอาชนะอังกฤษ ที่เต็มไปด้วยสตาร์มากมายอย่าง แฮร์รี เคน, ราฮีม สเตอร์ลิง หรือฟิล โฟเดน (รวมทั้ง แฮร์รี แม็กไกวร์ ที่กำลังจะกลับมา) แต่เชื่อได้ว่านักเตะตาร์ตันจะสู้ยิบตาอย่างแน่นอนครับ

 

เพราะนี่คือเกมของคู่ปรับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และหากเกิดพลิกชนะขึ้นมา ก็โม้ได้ยันลูกบวชเลยทีเดียว 🙂

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

FYI
  • ในเกมเมื่อปี 1928 ที่สกอตแลนด์บุกมาถล่มอังกฤษ 5-1 จนได้สมญา The Wembley Wizards นั้น คนที่เป็นผู้นำของเหล่าพ่อมดคือ จิมมี แม็คมัลเลน ที่หากจะเปรียบไปคือ ‘ดัมเบิลดอร์’ ของทีม
  • การพบกันของสองทีมในปี 1937 ที่แฮมป์เดน พาร์ก มีผู้ชมเข้ามาถึง 149,547 คน!
  • แต่ถึงจะเป็นคู่ที่เก่าแก่ที่สุด พวกเขาก็อยู่แค่อันดับ 3 ในทำเนียบทีมชาติที่พบกันบ่อยที่สุด โดยอันดับ 1 คือออสเตรีย-ฮังการี 137 ครั้ง อันดับ 2 คือเบลเยียม-เนเธอร์แลนด์ 127 ครั้ง
  • นักฟุตบอลที่ยิงมากที่สุดในศึกของคู่นี้คือ สตีฟ บลูมเมอร์ กองหน้าทีมชาติอังกฤษ ตำนานของทีมดาร์บี เคาน์ตี
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X