×

นัดแรกของทีมชาติอังกฤษ ต้นกำเนิด ‘เกมทีมชาติ’ ของโลก

14.11.2019
  • LOADING...
ฟุตบอลทีมชาติ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เกมการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติ ถูกบันทึกว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 1872 ราวๆ 147 ปีที่แล้ว โดยเป็นการพบกันระหว่างทีมชาติอังกฤษและสกอตแลนด์ ณ สนามเวสต์ ออฟ สกอตแลนด์ คริกเก็ต กราวด์ ในเมืองกลาสโกว์
  • นอกจากนี้เกมดังกล่าวยังถูกจารึกให้เป็นครั้งแรกที่มีการจ่ายค่าตั๋วเข้าชมคนละ 1 ชิลลิง (สกุลเงินเดิมของอังกฤษ) และมีการคาดกันว่ามีผู้ชมมากถึง 4,000 คน บ้างก็ว่ามีผู้ชม 2,500 คน

ค่ำนี้ทีมชาติไทยของเรากำลังจะลงสนามในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย โดยจะไปเยือนมาเลเซียที่สนามบูกิต จาลิล ซึ่งเป็นเกมสำคัญสำหรับโอกาสในการเข้ารอบต่อไปของทีม ‘ช้างศึก’

 

ในวันเดียวกันที่อังกฤษ พวกเขาก็มีเกมสำคัญรออยู่เช่นกันครับ ในศึกฟุตบอลยูโร 2020 รอบคัดเลือก ซึ่งจะต้องรับมือกับทีมชาติมอนเตเนโกร อาคันตุกะจากยุโรปตะวันออก 

 

เกมนี้ความหมายที่พิเศษสักหน่อย หรือความจริงเราควรจะบอกว่า มันเป็นเกมสำคัญในระดับนัดประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพราะนี่คือเกมนัดที่ 1,000 ของทีมชาติอังกฤษ

 

ในวาระนี้ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีเรื่องราวของทีม ‘สิงโตคำราม’ ตามหน้าสื่อในเมืองผู้ดีอย่างมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็นเกมในความทรงจำจาก 999 นัดที่ผ่านมา ฮีโร่ในอดีต ฮีโร่ที่ถูกลืม และอื่นๆ อีกมากมาย

 

อย่างไรก็ดี หนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุดที่ถูกหยิบมาเล่าใหม่อีกครั้งคือ เรื่องเกมนัดแรกของทีมชาติอังกฤษ

 

เกมที่กลายเป็นจุดกำเนิดของสิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งหากไม่มีเกมนั้นแล้ว วงการฟุตบอลทั่วโลกอาจจะไม่ได้มีหน้าตาแบบที่เห็นและเป็นอยู่เหมือนในปัจจุบันนี้ก็เป็นได้

 

เพราะอะไร? และมันเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น?

 

เรามาบิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปด้วยกันนะครับ 🙂

 

เข็มนาฬิกาย้อนเวลาเรากลับมาถึงในปี 1872 หรือเมื่อ…เอ่อ 147 ปีที่แล้ว (ผมบวกลบเลขไม่ค่อยเก่ง ขออภัยๆ)

 

วันนั้นผู้คนจำนวนมากในกรุงกลาสโกว์ต่างมุ่งเดินทางไปที่สนามแฮมิลตัน เครสเซนต์ ซึ่งเป็นคริกเก็ตของทีมเวสต์ ออฟ สกอตแลนด์ คริกเก็ต คลับ 

 

ทุกคนไปเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การชมการลงสนามของทีมชาติอังกฤษและทีมชาติสกอตแลนด์ในการเล่น ‘ฟุตบอล’ 

 

ในสมัยนั้นฟุตบอลเพิ่งอยู่ในระหว่างการตั้งไข่ ถึงจะมีการรวมตัวกันเล่นบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมสูงสุดเหมือนในอีกร้อยปีต่อมา และเกมการแข่งขันไม่ว่าจะในระดับสโมสรหรือทีมชาติก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จริงจังอะไรมากมายนัก

 

อังกฤษกับสกอตแลนด์เองก็ใช่จะไม่เคยดวลเพลงแข้งกันมาก่อนครับ พวกเขาพบกันมาก่อนหน้านี้ 5 ครั้งแล้ว แต่การพบกันทุกครั้งก่อนหน้านั้นเป็นการเล่นที่สนามดิ โอวัล ในกรุงลอนดอน และเกมก็ไม่ต่างอะไรจากการเตะเล่นกันเอง ผู้ที่เข้ามาชมเกือบทั้งหมดก็เป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เครือญาติ และเพื่อนๆ ของนักเตะเท่านั้น

 

ที่สำคัญคือ ตลอดการพบกัน 5 ครั้ง ระหว่างปี 1870 ถึงต้นปี 1872 สกอตแลนด์ไม่เคยเป็นฝ่ายชนะได้เลยสักครั้ง สถิติในเวลานั้นคือแพ้ 3 เสมอ 2 

 

ผลงานดังกล่าวทำให้เกิดการโต้เถียงกัน โดยฝั่งสกอตแลนด์ติดใจตรงที่ตลอดทั้ง 5 นัดที่ผ่านมา นักเตะที่ลงเล่นในนามทีมชาติของพวกเขานั้น ถึงจะเป็นนักฟุตบอลสายเลือดเบรพฮาร์ตก็จริง แต่ไม่ได้มีคนสกอตแลนด์จากแดนไฮแลนด์จริงๆ ลงมาแข่งที่ลอนดอนเลย 

 

ฟุตบอลทีมชาติ

 

ความจริงแล้วผู้เล่นทั้งสองทีมก็เป็นผู้เล่นที่อยู่ในแถบลอนดอนเท่านั้น ซึ่งมันไม่ควรจะเรียกว่าเป็นเกมทีมชาติได้

 

ชาร์ลส์ อัลค็อก เลขานุการสมาคมฟุตบอล (FA) ยอมรับในเรื่องนี้ และเห็นว่าควรจะมีการจัดการแข่งขันกันใหม่ จึงตัดสินใจส่งสารท้าดวล เป็นจดหมายเปิดผนึกไปถึงหนังสือพิมพ์ในกรุงเอดินเบอระและกลาสโกว์ ขอท้าดวลกับทีมที่เป็นของคนสกอตแลนด์จริงๆ ดูสักหน่อย โดยจะหาสนามแข่งทางชายแดนทางตอนเหนือของอังกฤษให้

 

สารนั้นทำเอาชาว ‘Scotchmen’ (ตามคำเรียกของอัลค็อก) เลือดร้อนขึ้นทันที ติดที่สมัยนั้นสกอตแลนด์ยังไม่มีสมาคมฟุตบอลของตัวเอง

 

แต่สุดท้ายสโมสรควีนสปาร์ก (Queen’s Park F.C. – ก่อตั้งเมื่อ 152 ปีที่แล้ว และยังคงดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน) ตอบรับคำท้า เพียงแต่ให้มาแข่งกันที่สกอตแลนด์ แทนที่จะเป็นเมืองชายขอบของอังกฤษ

 

นั่นคือจุดกำเนิดของ ‘เกมทีมชาติ’ นัดแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ โดยนัดหมายกันในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 1872

 

แน่นอนครับว่าเมื่อมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน (อย่างน้อยก็ในความรับรู้ของสาธารณชนทั่วไป) และมันเป็นเรื่องของชนสองชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อารมณ์และความรู้สึกร่วม ความไม่อยากแพ้ การไม่ยอมกัน และความรู้สึกต้องการจะเป็นผู้ชนะมันได้ถูกส่งต่อถึงผู้คน

 

ใครๆ ก็อยากจะดูเกมนี้ อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร สกอตแลนด์จะเอาชนะอังกฤษ พี่ใหญ่ผู้โอหังได้ไหม?

 

ความสนใจมากมายทำให้ผู้จัดการแข่งขันต้องเลือกหาสนามกีฬาที่พอจะรองรับผู้ชมที่สนใจอย่างมากมายได้ และสุดท้ายพวกเขาเลือกสังเวียนการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์นี้ที่สนามเวสต์ ออฟ สกอตแลนด์ คริกเก็ต กราวด์ ในเมืองกลาสโกว์ ซึ่งความจริงไม่ใช่สนามฟุตบอล แต่เป็นสนามคริกเก็ต เพียงแต่ในเวลานั้นไม่มีสนามใดจะสะดวกและพร้อมไปกว่านี้อีกแล้ว

 

เกมนี้ยังเป็นเกมฟุตบอลนัดแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถเก็บค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันได้ เพราะเดิมทีฟุตบอลเป็นกีฬาที่ทุกคนเชื่อว่าควรจะได้ดูกันฟรีๆ (ความจริงก็ไม่เฉพาะฟุตบอลแต่รวมถึงกีฬาทุกชนิด) แต่ด้วยความสนใจที่ล้นหลาม ทำให้ผู้จัดมองเห็นโอกาสจะหารายได้ และผู้คนก็พร้อมจ่ายด้วย

 

ค่าตั๋วเข้าชมเกมนัดนี้อยู่ที่คนละ 1 ชิลลิง (สกุลเงินเดิมของอังกฤษ) และวันนั้นมีการคาดกันว่ามีผู้ชมมากถึง 4,000 คน! (บ้างก็ว่า 2,500 คน) โดยในวันนั้นมีสุภาพสตรีมาชมเกมด้วยอย่างมากมาย ซึ่งสิ่งที่น่ารักคือ สุภาพสตรีเข้าชมฟรี! เพียงแต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีการจดบันทึกตัวเลขอย่างเป็นทางการไว้

 

ว่าแต่เกมในสนามเป็นอย่างไร?

 

อังกฤษ ซึ่งนำมาโดย ชาร์ลส์ อัลค็อก (ที่ไม่สามารถลงสนามได้ เพราะเจ็บพอดี) ใช้ผู้เล่นที่รวบรวมจาก 9 สโมสรทั่วอังกฤษ ขณะที่สกอตแลนด์ ผู้เล่นเกือบทั้งหมดมาจากทีมเดียวคือ ควีนสปาร์ก มีผู้เล่นทีมอื่นมาผสมแค่นิดหน่อย และทั้งสองทีมต่างก็ประสบปัญหาในการขาดผู้เล่นตัวเก่งที่ไม่สามารถแข่งได้ในนาทีสุดท้าย

 

ตามกำหนดเวลาแล้ว เกมควรจะเริ่มต้นเล่นในเวลา 14.00 น. แต่ก็ล่าช้าไป 20 นาที เพราะผู้ชมที่มาอย่างมากมาย

 

ฟุตบอลทีมชาติ

 

สกอตแลนด์ลงสนามในชุดสีน้ำเงิน ส่วนอังกฤษลงสนามในชุดสีขาวพร้อมตราสิงโต

 

เกมครึ่งแรกนักเตะไฮแลนด์เป็นฝ่ายที่ทำได้ดีกว่าครับ เหตุผลหลักคือ พวกเขามาจากทีมเดียวกันเกือบทั้งหมด แต่ในครึ่งหลังอังกฤษทำได้ดีขึ้นตามลำดับ และเกมนั้นก็สนุกไม่น้อยเลย แม้ว่าสภาพสนามจะเต็มไปด้วยโคลน เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนการแข่งขัน 3 วัน

 

ผู้ชมในสนามได้เห็นการเล่นแบบสู้ตายของนักเตะสกอตแลนด์ เช่นเดียวกับการได้เห็นทักษะที่แพรวพราวของผู้เล่นอังกฤษหลายคน โดยเฉพาะการเลี้ยงบอลที่น่าตื่นตาตื่นใจของ คัธเบิร์ต ออตตาเวย์ กัปตันทีม ‘สิงโตคำราม’ ในวันนั้น

 

ในเกม อังกฤษมีโอกาสยิงชนเสา 2 ครั้ง แต่สกอตแลนด์เกือบจะเป็นผู้ชนะในช่วงท้ายเกม เมื่อลูกยิงของ โรเบิร์ต เลกกี ถูกปัดข้ามเทป (สมัยนั้นประตูฟุตบอลยังไม่มีคาน และยังไม่มีตาข่ายด้วย) ออกไปนิดเดียว โดยที่ผู้ชมในสนามเฮกันใหญ่ เพราะเชื่อว่าลูกน่าจะเข้าไปแล้ว

 

เพียงแต่เมื่อไม่ได้ประตู สุดท้ายเกมก็จบลงด้วยการเสมอกันแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นด้วยสกอร์ 0-0

 

ถึงแม้ในทางเทคนิคแล้ว เกมนัดนี้จะไม่น่านับเป็นเกมทีมชาตินัดแรกได้ เพราะเวลานั้นสกอตแลนด์ยังไม่มีสมาคมฟุตบอลเป็นของตัวเอง (ก่อตั้งหลังเกมนี้ 4 เดือน) แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เรายอมรับเกมนัดนี้เป็นเกมทีมชาตินัดแรกของโลกครับ

 

โชคดีที่มันประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เสียงปรบมือกึกก้องของผู้ชมในสนามวันนั้นได้เป็นการจุดประกายให้เกมฟุตบอลได้ก้าวหน้าและเติบใหญ่ขึ้น จนเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

 

สิ่งที่น่าเสียดายมีเพียงแค่ไม่มีช่างภาพบันทึกภาพของเกมประวัติศาสตร์นี้เอาไว้ เพราะช่างภาพไม่ได้มาตามนัดหมาย เนื่องจากตกลงเรื่องการขายภาพไม่ได้…

 

แต่อย่างน้อยก็ยังมีบันทึกเรื่องราวของเกมทีมชาตินัดแรกของทีมชาติอังกฤษ (และของทีมชาติสกอตแลนด์) ที่เป็นต้นกำเนิดของเกมทีมชาติ และรายการฟุตบอลระดับชาติในเวลาต่อมาให้เราได้ศึกษาเรื่องราวของมันในอีก 147 ปีต่อมา

 

รายละเอียดของเกมการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปมากตามวัน เวลา และยุคสมัย

 

แต่หัวใจของฟุตบอลยังเหมือนเดิม

 

“ห้ามใช้มือทำประตู!”

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • สมัยนั้นฟุตบอลมีผู้เล่นแค่ 4 ตำแหน่งเท่านั้นครับ คือ แบ็ก, ฮาล์ฟแบ็ก, กองหน้า และผู้รักษาประตู
  • เทรนด์ในสมัยนั้นคือ เน้นกองหน้าเยอะๆ โดยทีมชาติสกอตแลนด์ใช้แบ็ก 2 ฮาล์ฟแบ็ก 2 และกองหน้าอีก 6 คน ส่วนอังกฤษใช้แบ็กและฮาล์ฟแบ็กแค่อย่างละคน ที่เหลือใส่กองหน้าล้วนๆ!
  • กัปตันทีมชาติสกอตแลนด์วันนั้น โรเบิร์ต การ์ดเนอร์ เล่นเป็นทั้งกองหน้าและผู้รักษาประตูในเกมเดียวกัน
  • ตามรายงานข่าวแล้ว สกอตแลนด์ทำให้ทุกคนประหลาดใจด้วยการเล่นแบบเน้นการผ่านบอล ซึ่งในสมัยนั้นไม่เคยมีใครเห็นการเล่นแบบนี้มาก่อน และในเวลาต่อมามีการยกย่องว่าพวกเขาเล่น Tiki-Taka เป็นทีมแรก
  • ในเกมแรกผู้เล่นทีมชาติสกอตแลนด์สวมผ้าคลุมศีรษะ (Cowl) ขณะที่ทีมชาติอังกฤษผู้เล่นใส่หมวก ซึ่งในเวลาต่อมามีการบัญญัติให้มอบหมวกแก่ผู้เล่นที่ติดทีมชาติทุกคน จนเป็นที่มาของ ‘หมวกทีมชาติ’ (International Caps)
  • สำหรับทีมชาติอังกฤษ 999 นัดที่ผ่านมา พวกเขาชนะ 568 นัด โดยเกมแรกที่พวกเขาชนะก็คือ การชนะสกอตแลนด์ในการพบกันเมื่อเดือนมีนาคม ปี 1873 ที่เคนนิงตัน โอวัล ในกรุงลอนดอนนั่นเอง
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising