×

ทำไมลูกไม้จึงมักจะหล่นไม่ไกลต้น เดินตามรอยเท้าพ่อแม่ดีกับเด็กๆ จริงหรือ

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ลูกมี skill sets ที่เหมือนๆ กันกับเรา นั่นก็คือเขามียีน (genes) ของเราในตัวเขาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่สาเหตุที่สำคัญยิ่งกว่ายีนก็คือสภาพแวดล้อมที่เขาโตขึ้นมา
  • ถ้าคุณเก่งวาดเขียน คุณก็คงจะใช้เวลาในการสอนลูกของคุณไปกับการวาดเขียนมากกว่าสอนเขาในเรื่องที่คุณไม่ถนัด เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเก่งการคำนวณ คุณก็คงจะใช้เวลาสอนการคิดคำนวณให้กับลูกของคุณมากกว่าสอนอย่างอื่นที่คุณไม่ถนัด
  • คำถามที่ตอบยากกว่าคำถามที่ว่าทำไมลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้นนั้นก็คือคำถามที่ว่า การที่ลูกเดินตามรอยเท้าของเรามานั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคตของเขาและคนรอบข้างไหม

คุณคิดว่าลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้นหรือเปล่าครับ

 

ผมเชื่อว่าถ้าเราเป็นคนที่เก่งการวาดเขียน ลูกของเราก็คงจะเก่งเรื่องการวาดเขียนด้วย หรือถ้าเราเป็นคนที่เก่งการคำนวณ ลูกของเราก็คงจะเก่งการคำนวณด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับผู้ปกครองทุกคนนะครับที่ลูกหลานมี skill sets ที่คล้ายๆ กันกับเรา

 

และถ้าลูกของเรามี skill sets ที่คล้ายกับเรา โอกาสที่ลูกจะเรียนจบสาขาเดียวกันหรือคล้ายๆ กับเรา และสุดท้ายเลือกอาชีพที่เหมือนๆ กับเราก็จะสูงขึ้นตามกันไปด้วย

 

แล้วคุณเคยตั้งคำถามไหมครับว่าทำไมลูกของเราจึงมี skill sets ที่เหมือนๆ กับเรา และเคยตั้งคำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นไหมครับว่าการที่เขาเจริญรอยตามเรานั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคตของเขาและคนรอบข้างไหม

 

สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ลูกมี skill sets ที่เหมือนๆ กันกับเรา นั่นก็คือเขามียีน (genes) ของเราในตัวเขาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง (อีกครึ่งมาจากคนที่เป็นพ่อหรือเป็นแม่ของเขา ซึ่งก็คือแฟนของเรานั่นเอง)

 

แต่สาเหตุที่สำคัญยิ่งกว่ายีนก็คือสภาพแวดล้อมที่เขาโตขึ้นมา

 

ผมเชื่อว่าถ้าคุณเก่งวาดเขียน คุณก็คงจะใช้เวลาในการสอนลูกของคุณไปกับการวาดเขียนมากกว่าสอนเขาในเรื่องที่คุณไม่ถนัด เช่นเดียวกัน ถ้าคุณเก่งการคำนวณ คุณก็คงจะใช้เวลาสอนการคิดคำนวณให้กับลูกของคุณมากกว่าสอนอย่างอื่นที่คุณไม่ถนัด

 

และถ้าคุณเก่งการวาดเขียน อุปกรณ์การวาดเขียนที่บ้านของคุณก็อาจจะมีเยอะกว่าบ้านของเด็กคนอื่น (ซึ่งก็ทำให้การหัดวาดเขียนของลูกที่บ้านของคุณง่ายกว่าเด็กบ้านอื่น) หรือถ้าคุณเป็นหมอ คุณก็อาจจะคุยในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ที่บ้านบ่อยกว่าบ้านอื่นๆ (ซึ่งก็อาจจะทำให้ access ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ง่ายกว่าบ้านอื่น) และยิ่งถ้ามีเพื่อนของคุณมาที่บ้านแล้วชมคุณว่า “ลูกเก่งเหมือนคุณพ่อ/คุณแม่เลย” คุณก็คงภูมิใจกับลูกมาก (ซึ่งก็อาจจะเป็นแรงจูงใจอย่างที่คุณไม่รู้ตัวในการผลักดันให้ลูกเดินตามรอยเท้าของคุณ)

 

และถ้าลูกของคุณไม่แน่ใจในตัวเองว่าอยากจะเรียนอะไรในอนาคต โอกาสที่คุณจะแนะนำให้ลูกเรียนเหมือนๆ กับคุณก็จะสูงกว่าการแนะนำให้เขาเรียนอย่างอื่น (ยกเว้นแต่ว่าคุณเกลียดในสิ่งที่คุณทำจริงๆ เท่านั้น ซึ่งก็อาจจะทำให้คุณแนะนำให้เขาเรียนอย่างอื่นที่คุณไม่ได้จบมาก็ได้)

 

แต่คำถามที่ตอบยากกว่าคำถามที่ว่าทำไมลูกไม้มักหล่นไม่ไกลต้นนั้นก็คือ การที่ลูกเดินตามรอยเท้าของเรามานั้นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคตของเขาและคนรอบข้างไหม

 

ข้อดีของการที่ลูกทำในสิ่งที่เราทำหรือเป็นในสิ่งที่เราเป็นก็คือเราสามารถให้คำแนะนำดีๆ ในสิ่งที่เขาทำได้ หรือเราสามารถสอนให้เขาหลีกเลี่ยงการทำผิดที่เราเคยทำในงานของเราได้ พูดง่ายๆ ก็คือเขามีคนใกล้ตัวเป็นที่ปรึกษาเวลาที่เขาลำบากในงานหรือกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่แก้ได้ยาก

 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าลูกเราจะมีความสุขจากการเดินตามรอยเท้าของเราเสมอไป (และในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่ลูกของเราจะมีความสุขในชีวิตน้อยกว่าจากการเดินตามรอยเท้าเรานั้นมักจะสูงกว่าการที่ลูกของเราเลือกการเดินทางชีวิตของเขาเองเสียอีกด้วย)

 

ยังไงน่ะเหรอครับ

 

เหตุผลที่หนึ่งคือเด็กที่เดินตามรอยเท้าเดียวกันกับผู้ปกครอง (โดยเฉพาะลูกผู้ชายเดินตามรอยเท้าของพ่อ และลูกผู้หญิงเดินตามรอยเท้าของแม่) มักจะหนีไม่พ้น ‘การเปรียบเทียบ’ ความสำเร็จในชีวิตของตัวเองกับความสำเร็จของผู้เป็นพ่อเป็นแม่

 

พูดง่ายๆ ก็คือถ้าลูกไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าหรือเก่งกว่าผู้เป็นพ่อหรือแม่ได้ ถึงแม้ว่าพ่อแม่ไม่ได้คิดอะไรมากก็ตาม แต่การที่ลูกเลือกเดินตามรอยเท้าของเรานั้นทำให้เขาไม่สามารถหนีการเปรียบเทียบจากสายตาคนอื่นและการเปรียบเทียบภายในตัวเขาเองไม่พ้น (ส่วนเด็กที่เลือกทางเดินชีวิตที่แตกต่างไปจากผู้ปกครองนั้น การเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่ามาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับความสุขในระยะยาวของเด็ก)

 

เหตุผลที่สองที่เดินตามรอยเท้าพ่อแม่ส่วนใหญ่เลือกก็เพราะว่าเขาไม่เคยถูก expose ให้เห็นในโอกาสของการเป็นอื่นๆ ตั้งแต่เด็กจนโต

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กมีพ่อแม่เป็นหมอ ถึงแม้ว่าพ่อและแม่ของเด็กอาจจะไม่เคยผลักให้ลูกตัวเองเป็นหมอ แต่ถ้ามีคนมาถามเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร โอกาสที่เขาจะบอกว่าเป็นหมอก็จะสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้มีพ่อแม่เป็นหมอ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะไม่ว่าเขาจะมองไปทางไหน ไม่ว่าจะที่บ้านและคนรอบข้าง เขาก็จะเห็นคนแต่ที่เป็นหมอ และถ้าเขาถูกถามหรือตั้งคำถามกับตัวเองว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร อาชีพแรกๆ ที่เขาจะคิดถึงขึ้นมาก่อนก็จะไม่พ้นอาชีพหมอ เพราะอาชีพหมอเป็นอะไรที่เขาสามารถ recall ได้ง่ายที่สุด (เราเรียก bias ตัวนี้ว่า availability bias) ซึ่งอาชีพหมออาจจะไม่ใช่อาชีพที่เขาชอบจริงๆ ไปตลอดชีวิตก็ได้

 

เหตุผลที่สามคือ sunk cost หรือต้นทุนจมในการเดินตามรอยเท้าพ่อแม่นั้นสูงมาก สมมติว่าลูกของเราเลือกที่จะเดินตามรอยเท้าของเราแล้วเขากลับไม่ชอบในสิ่งที่เขาทำ โอกาสที่เขาจะบอกกับตัวเองว่า “ไม่เอาแล้ว เปลี่ยนอาชีพดีกว่า” ก็จะน้อยกว่าเด็กคนอื่นที่ไม่ได้ทำงานเหมือนกับพ่อแม่ของเขา ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าถ้าเขาเปลี่ยนอาชีพจริงๆ (และต้องยอมรับว่าตัวเองเฟลในสิ่งที่เขาเลือกไปในตอนแรก) ความรู้สึกเฟลก็น่าจะสูงกว่าสำหรับคนที่เลือกทำเหมือนๆ กันกับพ่อแม่เขา (เขาทำไม่ได้ แต่พ่อแม่เขาทำได้) ซึ่งก็อาจจะทำให้เขายอมทนทำงานในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ เพียงเพราะเขาไม่อยากรู้สึกเฟลเมื่อเทียบกันกับพ่อแม่นั่นเอง (พูดง่ายๆ ก็คือต้นทุนจมของเขาที่อาจจะมาจากเวลาที่พ่อแม่ทุ่มไปกับการผลักดันให้เขาเดินตามนั้นสูงมาก)

 

ที่จริงมันมีทั้งข้อดีและข้อเสียนะครับ เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยพูดกันถึงข้อเสียของการให้ลูกเดินตามรอยเท้าของเราเท่าไร ทางที่ดีที่สุดก็คือเปิดโอกาสให้ลูกมี role model ที่ดีในหลายๆ สาย และพูดกับเขาตรงๆ ในเรื่องข้อเสียที่อาจจะตามมาจากการเปรียบเทียบและการให้ค่ากับต้นทุนจมจากการเลือกเส้นทางชีวิตที่เหมือนๆ กับเรามากเกินไปนะครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising