อลเวง แปลกแยก แตกต่าง แต่ดูแล้วอบอุ่นหัวใจ
คือรสชาติที่เรารู้สึกได้จาก The Addams Family หนึ่งในหนังต้อนรับเทศกาลฮาโลวีนปีล่าสุดที่ไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟความน่ากลัวสยดสยองให้กับตัวเองเสมอไป
ตัวหนังถูก ‘รีบู๊ต’ ใหม่โดยการหยิบยืมตัวละคร สิ่งของ สถานที่ และสถานการณ์สุดเพี้ยนจากหนัง The Addams Family ที่เคยสร้างปรากฏการณ์จากเวอร์ชันก่อนๆ จนกลายเป็นแอนิเมชันภาพสวยที่เล่าเรื่อง ‘ครอบครัวอาดัมส์’ ยุคใหม่ ที่ถูกผู้คนขับไล่เพราะลักษณะผิดแผกแปลกแยกไปจากความ ‘ปกติ’ ของสังคม จนต้องอพยพตัวเองไปอยู่ในคฤหาสน์ผีสิงบนภูเขาห่างไกล และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตาม ‘วิถีชีวิตและความเชื่อ’ ประจำตระกูล ภายใต้หมอกหนาที่ช่วยกำบังสายตาผู้คน
13 ปีผ่านไป เมื่อหมอกเริ่มจางพร้อมความเจริญที่มาในรูปแบบหมู่บ้านจัดสรร ทำให้ โกเมซ คุณพ่อสุดห้าว, มอร์ทิเซีย คุณแม่ผู้เรียบเฉย, เวนส์เดย์ เด็กสาวเจ้าแห่งการทำให้คนตกใจ, พักส์ลีย์ น้องเล็กจอมซ่า, เลิร์ช พ่อบ้านจอมนิ่ง และญาติๆ ในตระกูลอาดัมส์ต้องกลับมามีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าเพื่อนบ้านใหม่ เพื่อยืนยันว่าลึกๆ แล้วพวกเขาไม่ได้แปลกแยกไปกว่าใคร หรือถ้าพูดให้ตรงกว่านั้นคือแสดงให้เห็นว่าทุกคนล้วน ‘ผิดปกติ’ จนเป็นเรื่องธรรมดา
สิ่งที่น่าสนใจคือในเวอร์ชันก่อนครอบครัวอาดัมส์จะถูกนำเสนอในภาพลักษณ์ของ ‘คนปกติ’ ที่มีพฤติกรรมสุดขั้ว หลายครั้งก็กลั่นแกล้งและทำร้ายคนทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ใน The Addams Family เวอร์ชันล่าสุด ตัวหนังเลือกที่จะนำเสนอครอบครัวอาดัมส์ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ประหลาดสุดขั้ว ผิวซีด หัวโต ผมทรงต้นไม้ เท้ามีหลายแฉก ฯลฯ รวมไปถึงการที่ตัวละครมีรสนิยมและความเชื่อประหลาดๆ
เช่น เรียกความรู้สึกเศร้าว่าความสุข ปฏิเสธการแสดงความรู้สึกด้วยรอยยิ้ม หรือหาทางลอบทำร้ายกันบ่อยๆ แต่ภายในใจลึกๆ พวกเขาก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่อยากปกป้องครอบครัวของตัวเองและใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเท่านั้น โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับใคร (ยกเว้นตอนที่มีคนมาทำร้ายเพื่อนและคนในครอบครัว)
ทำให้แนวคิดหลักของ The Addams Family เวอร์ชันนี้โฟกัสไปที่ ‘ตัวตน’ ของสมาชิกหลักทั้ง 5 คน และค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นบาดแผลและความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แต่ละคนต้องเผชิญออกมาทีละน้อย โดยมี ‘คนนอก’ เป็นเพียงแรงผลักดันเล็กๆ ให้เกิดสถานการณ์บางอย่างขึ้นเท่านั้น
ที่สนุกอีกอย่างคือการติดตามดูเรื่องราวของคนในครอบครัวอาดัมส์ ที่บทเลือกจะจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความคาดหวัง’ ของพ่อที่ต้องการให้ลูกชายผ่านการพิสูจน์ตัวเองด้วยการรำดาบจากประเพณีดั้งเดิมของตระกูล กับลูกชายที่ถนัดใช้ระเบิดมากกว่าดาบ แต่ก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำให้พ่อภูมิใจ
และหัวใจของแม่ที่เป็นห่วงลูกสาวในวัยที่ต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว กับลูกสาววัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่เริ่มสงสัยว่านอกจากการฝึกวิชากับการแสดงความรู้สึกเฉยชา เธอจะสามารถมีความรู้สึกแบบอื่นได้อีกไหม
แม้ตัวหนังจะมีมุกตลกและความแฟนตาซีออกมาเรียกเสียงหัวเราะอยู่เป็นระยะ แต่นั่นเป็นเพียงเกล็ดน้ำตาลที่ฉาบเคลือบความเจ็บปวดของตัวละครไว้ภายใต้หนังครอบครัวที่ดูแล้วไม่เศร้าหรือโหดร้ายเกินไปนัก
ทุกตัวละครค่อยๆ เรียนรู้ผ่านความเจ็บปวดและแปรเปลี่ยนเป็น ‘ความเข้าใจ’ อย่างช้าๆ โดยเฉพาะพ่อและแม่ที่เก็บงำความรู้สึกเอาไว้ภายใน เฝ้ามองลูกๆ เติบโตด้วยความเป็นห่วงอยู่ห่างๆ โดยที่ไม่เข้าไปกดดันหรือบีบคั้น แต่ปล่อยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเติบโตไปตามเส้นทางของตัวเอง
โดยเฉพาะคู่ของโกเมซและพักส์ลีย์ที่เราประทับใจมากที่สุด เพราะเราจะได้ยินพักส์ลีย์ที่ภายนอกดูซ่าสุดๆ พูดด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อยอยู่บ่อยๆ ว่า “ขอโทษนะครับพ่อที่ผมทำให้ผิดหวัง” แล้วโกเมซก็จะตอบว่า “พ่อต่างหากที่ทำให้ลูกผิดหวัง ขอโทษนะ” ด้วยน้ำเสียงที่เศร้าไม่แพ้กัน
ต่อให้คนภายนอกจะมองว่าพวกเขา ‘ผิดปกติ’ มากเท่าไร แต่พวกเขาไม่เคยสนใจ ตราบใดที่ยังเชื่อมั่นว่าสิ่งที่พวกเขาตัดสินใจนั้นดีกับคนในคนครอบครัว และดีกับคนที่พวกเขารักที่สุด
ตัดภาพไปที่อีกฝั่ง เรากลับเห็นตัวละคร ‘คนปกติ’ กลั่นแกล้งกันเอง, ทำร้ายคนอื่นเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ, ศัลยกรรมพลาสติกทั้งตัว, หลงเชื่อข่าวลือแบบไม่ลืมหูลืมตา, บังคับให้ลูกไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเลือกเสื้อผ้าใส่ด้วยตัวเอง ฯลฯ
ซึ่งเราเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าควรจะเรียกคนเหล่านี้ด้วยคำว่า ‘ปกติ’ ได้อยู่หรือเปล่า หรือที่จริงแล้วเป็นความ ‘ไม่ปกติ’ เองนี่ล่ะที่เป็นหลักฐานยืนยันความเป็น ‘มนุษย์’ ได้ดีที่สุด
เป็นไปได้ไหมว่าการยอมรับและไม่ด่วนตัดสินในความ ‘ไม่ปกติ’ ของใครว่าเป็นเรื่องผิดบาปคือประตูบานสำคัญที่ทำให้คนทุกตระกูล ทุกชาติ ทุกเพศ ทุกวัย สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
เหมือนที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวอาดัมส์ไม่เคยมองว่าตัวเองแปลกแยก ไม่เคยคิดว่าใครผิดแผกไปกว่าใคร เพียงแค่ยอมรับว่าทุกคนล้วนมี ‘ความแตกต่าง’ เป็นพื้นฐาน และไม่ทำร้ายให้ใครต้องเจ็บปวดเพียงเพราะมี ‘บางสิ่ง’ ไม่เหมือนกันเท่านั้นก็พอ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์