×

‘ประยุทธ์-เศรษฐา’ 2 นายกฯ ในรัชกาลปัจจุบัน

โดย THE STANDARD TEAM
27.07.2024
  • LOADING...

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับราชสมบัตินับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 จึงถือว่า ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชกาลปัจจุบัน ตามด้วย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ คนที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน ตลอด 9 ปีแรกในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณแก่นายกฯ และรัฐบาล ในหลายวาระ

 

 

ทหารเสือราชินี

 

พล.อ. ประยุทธ์ รับราชการและเติบโตในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ผู้บังคับการพิเศษ และดำรงพระอิสริยยศทางทหารเป็นจอมพลหญิง เหล่าทหารในสังกัด ร.21 รอ. ได้รับการเรียกขานว่าเป็น ‘ทหารเสือราชินี’

 

เหล่าทหารเสือราชินีมีภารกิจในการถวายการรักษาความปลอดภัย ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท และติดตามเสด็จพระราชดำเนินไปในทุกหนแห่ง ทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือหน่วยงานของพระองค์ในพระราชกรณียกิจต่างๆ ภาพที่ พล.อ. ประยุทธ์ ติดตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเป็นภาพที่คุ้นตาในราชสำนักและในกองทัพ

 

พี่น้อง 3 ป. ถือเป็นทหารเสือราชินีทั้งสิ้น ทั้ง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก (วันที่ 1 ตุลาคม 2547 – 30 กันยายน 2548) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีตรองนายกฯ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (วันที่ 1 ตุลาคม 2550 – 30 กันยายน 2553) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ. ประยุทธ์

 

พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ 4 ปีเต็ม ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2553 – 30 กันยายน 2557 ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และขึ้นเป็นหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 พร้อมดำรงตำแหน่งนายกฯ ถึง 2 สมัย นับตั้งแต่ปี 2557-2566 สนองพระเดชพระคุณภายใต้ในหลวง 2 รัชกาล นับรวมเป็นระยะเวลา 8 ปี 363 วัน ยาวนานกว่าที่ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ได้สร้างสถิติไว้

 

 

ไม่ใช่คนแปลกหน้าของราชสำนัก

 

ในหนังสือ ‘ลงเรือแป๊ะ’ ที่เขียนโดย วิษณุ เครืองาม เนติบริกรหลายรัฐบาล ที่ตีพิมพ์ในปี 2562 เมื่อรัฐบาล คสช. สิ้นสุดลง วิษณุเล่าว่า “ในสมัยรัชกาลใหม่นี้ ในช่วงต้น ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 จนถึงเวลาถวายพระเพลิงเสร็จสิ้น นายกฯ มีเหตุจะต้องขอพระราชทานเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุมาศ และการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตลอดจนรับพระราชวินิจฉัยหลายครั้ง

 

“ในคราวหนึ่งได้รับพระราชกระแสใส่เกล้าฯ มาแจ้งคณะรัฐมนตรีว่า มีพระราชปรารภ 4 ประการ คือ 1. ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้ประชาชนมีความสุขในการดำรงชีวิตและมีทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่าให้รู้สึกว่าอึดอัดขัดข้องหรือตันจนไม่มีทางออก 2. ช่วยกันสร้างความรับรู้สึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์ของไทย 3. รณรงค์ให้คนมีวินัยและเคารพกฎหมาย 4. ส่งเสริมการมีจิตอาสา จิตสาธารณะ ไม่ทำอะไรที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว ในเวลาต่อมาพระราชปรารภนี้ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว และกิจกรรมจิตอาสา เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ขุดลอกคู คลอง ห้วย หนอง คลอง บึง และยังแสดงออกทางกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายเรื่อง”

 

ในหนังสือ ‘เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก’ โดยวิษณุ ที่ตีพิมพ์ในปี 2567 เมื่อรัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 สิ้นสุดลง วิษณุได้สรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนัก และ พล.อ. ประยุทธ์ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าของราชสำนัก”

 

วิษณุให้ความรู้ว่า ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ พระราชสิทธิที่จะทรงได้รับรายงานข้อราชการจากรัฐบาล พระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำตักเตือนรัฐบาล และพระราชสิทธิที่จะพระราชทานกำลังใจและสนับสนุนรัฐบาล

 

“ในการปฏิบัติ รัฐบาล รัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 ยังคงเคารพพระราชสิทธิเหล่านี้ ดังที่มักมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการเป็นระยะๆ เสมอมา บางครั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานด้วยตนเอง แต่เมื่อพระราชทานคำแนะนำอย่างไรแล้ว ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล จะนำไปอ้างไม่ได้ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ใช่คนแปลกหน้าของราชสำนักและข้าราชการในพระองค์ เพราะเคยถวายงานด้วยความจงรักภักดีและใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร” (หน้า 256)

 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อรัฐบาล คราวเกิดอุทกภัย เกิดการระบาดของโรคโควิด ก็พระราชทานคำแนะนำต่างๆ แก่นายกฯ รับสั่งเสมอว่า ‘ถ้าทำได้เองก็ให้ทำไป หากมีอะไรจะให้ช่วยเหลือก็มาบอก’ บางครั้งพระราชทานกำลังใจแก่รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นับเป็นความสัมพันธ์และพระมหากรุณาธิคุณที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนที่ว่ารัฐบาลจะสนองพระมหากรุณาธิคุณได้มากน้อยเพียงใด เป็นเรื่องของรัฐบาลเอง พระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ย่อมมีแก่ทุกรัฐบาลเสมอกัน” (หน้า 258)

 

ถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ

 

พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ได้ถวายงานในหลายโอกาส โดยเฉพาะการที่รัฐบาลได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดพระราชพิธีสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ซึ่งเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2559 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ระหว่างวันที่ 3-6 พฤษภาคม 2562

 

วิษณุได้เล่าถึงรายละเอียดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในค่ำคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 อันเป็นคืนสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ นายกฯ จึงขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นั้นเอง โดยได้เตรียมการเรียกประชุม ครม. และ คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาลรออยู่ หลังกลับจากเข้าเฝ้าฯ และประสานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เตรียมดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

“แต่เมื่อกลับมาจากเฝ้าฯ ในเวลา 21.00 น. นายกฯ ได้แจ้งที่ประชุม ครม. และ คสช. ว่า มีพระราชดำรัสว่าขณะนี้เป็นยามทุกข์โศกอย่างใหญ่หลวงของบ้านเมือง พระองค์เองก็อยู่ระหว่างทรงสลดพระราชหฤทัยร่วมกับประชาชนทั้งชาติ สิ่งที่ต้องทำเฉพาะหน้าในขณะนี้คือการเตรียมการพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพให้เรียบร้อย ส่วนการอัญเชิญขึ้นครองราชย์นั้นเป็นขั้นตอนทางพิธีการ ขอให้รั้งรอไว้ก่อน เมื่อถึงวาระอันควรจึงค่อยดำเนินการต่อไป ยิ่งการบรมราชาภิเษกยิ่งควรรอไว้ก่อน”

 

ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

 

รัฐบาล คสช. ปกครองประเทศตั้งแต่ปี 2557 ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งเพียง 1 คืน ได้มีการเผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อเวลา 22.44 น. ในวันที่ 23 มีนาคม 2562 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้อัญเชิญพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความว่า “ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

 

“มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนในชาติ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่า ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร และตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของประเทศชาติและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ได้ทบทวนและตระหนักถึงพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานไว้ ด้วยทรงมีความห่วงใยในความมั่นคงของประเทศชาติ…”

 

 

คดีถวายสัตย์ปฏิญาณ

 

ในหนังสือ ‘เลขที่ 1 ถนนพิษณุโลก’ วิษณุเล่าว่า ในห้วงเวลา 4 ปีนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ถูกฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญใน 4 คดี ได้แก่ คดีถวายสัตย์ปฏิญาณ คดีการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คดีการอยู่บ้านพักรับรองของทางราชการ คดีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบกำหนด 8 ปี ทว่าถึงที่สุดผลของคำวินิจฉัยในทั้ง 4 คดี ไม่ทำให้ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลง

 

คดีสำคัญคือคดีถวายสัตย์ปฏิญาณ ยุติลงด้วยคำวินิจฉัยว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำของรัฐบาล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

 

โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ ในโอกาสที่ ครม. เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และ พล.อ. ประยุทธ์ ได้แถลงในวันเดียวกันว่า “ปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานมาให้ตามที่รัฐบาลที่ผมขอพระราชทานไป ท่านก็พระราชทานกลับมา ก็เท่านั้นเอง” และ “หลังจากวันที่ 16 กรกฎาคมไปแล้ว ผมก็ทำเรื่องขอไป มีพระราชดำรัสลงมา”

 

วิษณุอภิปรายถึงนัยของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคดีนี้ “ผมไม่กราบเรียนว่าถ้อยคำที่นายกฯ อ่าน และทุกคนกล่าวตามนั้น มีว่าอย่างไร ผมไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังการอ่านไปตามนั้นและแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด แต่อธิบายได้คำกลางๆ คือ การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์”

 

 

องคมนตรี ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์

 

ถึงที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวางมือทางการเมือง ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 9 ปีเศษ ผมในฐานะนายกฯ ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง เพื่อปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์…ผมขอประกาศวางมือทางการเมือง ด้วยการลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และขอให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหาร และสมาชิกพรรค ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง ปกป้องรักษาสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทยต่อไป”

 

ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ อดีตนายกฯ 2 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566

 

และถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณสูงสุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ฝ่ายหน้า และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3 ให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2567

 

สำหรับการพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบันมีผู้ได้รับพระราชทานเพียง 21 คนเท่านั้น ประกอบด้วยหม่อมเจ้าในราชสกุลยุคล 4 คน, คณะองคมนตรี 15 คน และในครั้งล่าสุดได้พระราชทานให้กับ พล.อ. ประยุทธ์ และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

“นายกฯ เป็นคนเก่งอยู่แล้ว”

 

แม้ชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2566 จะเป็นของพรรคก้าวไกล แต่ด้วยคณิตศาสตร์การเมืองและเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้ว ทำให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯ คนใหม่ ถือเป็นนายกฯ คนที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

เศรษฐาได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่า “นับเป็นศุภสิริมงคลแก่ชีวิตและขวัญกำลังใจอันสูงสุดแก่กระผมและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้ กระผมมีความปลื้มปีติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ทั้งจักมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติ สนองพระราชปณิธานตามพระปฐมบรมราชโองการ และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกประการ”

 

เมื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ในวันที่ 5 กันยายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสแก่ ครม. ว่า “ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้พบกับ ครม. ซึ่งได้มาถวายสัตย์ในวันนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้รู้จักกัน เพราะหลายคนก็เคยรู้จักกันแล้ว หลายคนก็ยังไม่เคยรู้จัก จะได้รู้จักกันและแสดงความยินดีที่มีศรัทธาเข้ามาบริหารประเทศ ก็ขอถือโอกาสให้พรให้มีกำลังใจ กำลังกาย และปัญญาที่จะปฏิบัติหน้าที่”

 

จากนั้นนายกฯ และรัฐมนตรีใหม่ ได้ถวายความเคารพและนั่งลงกราบพระบาทเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสก่อนเสด็จฯ ออก ว่า “นายกฯ เป็นคนเก่งอยู่แล้ว”

 

 

6 รอบ 72 พรรษา 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติขนาดใหญ่

 

รัฐบาลใหม่ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในระดับชาติ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวม 7 คณะ เพื่อจัดเตรียมงานพระราชพิธี งานพิธีการ โครงการ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ องค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ประกอบด้วยประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานวุฒิสภา เป็นที่ปรึกษา มีนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ มีรองนายกฯ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการโดยตำแหน่ง ร่วมเป็นคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ

 

รัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวาระนี้อย่างพร้อมเพรียงกันทั้งแผ่นดิน เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบาย เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข และนายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติด้วยตัวเอง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

 

 

พระราชทานแจกันดอกไม้ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และมหาวชิรมงกุฎ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกันดอกไม้แก่ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกฯ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 63 ปี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 และพระราชทานแจกันดอกไม้แก่เศรษฐา เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 62 ปี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

 

และถือเป็นพระมหากรุณาสูงสุด เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ แก่เศรษฐา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 และเมื่อได้ทราบถึงข่าวนี้ เศรษฐาโพสต์ภาพกราบพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมข้อความ “กราบแทบเบื้องพระยุคลบาท ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising