×

โบรกฟันธง ‘THCOM’ ไร้คู่แข่งคว้าไลเซนส์วงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ คาดยิง ‘ไทยคม 9’ ทะยานสู่อวกาศ หนุนกำไรปีหน้าทะลุ 600 ล้าน

16.11.2022
  • LOADING...

นักวิเคราะห์ประเมิน THCOM ไร้คู่แข่งประมูลไลเซนส์วงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ที่ กสทช. เตรียมเปิดประมูลต้นปีหน้า คาดยิงไทยคม 9 สู่อวกาศช่วยหนุนกำไรปีหน้าทะลุ 600 ล้านบาท 

 

วานนี้ (15 พฤศจิกายน) กสทช. ประกาศกำหนดวันที่ 8 มกราคม 2566 เปิดประมูลสิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ จำนวน 5 ชุด และหากมีผู้ประมูลรายเดียวจะขยายเวลาอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน ประมูลในวันที่ 29 มกราคม 2566 แทน โดยจะรับรองผลประมูลภายใน 7 วัน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดย พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว โดยหลังจากนี้สำนักงาน กสทช. จะเริ่มดำเนินการเพื่อจัดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) 

 

เริ่มจากการเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4-30 พฤศจิกายน 2565 จากนั้นจัด Info Session เพื่อชี้แจงการเตรียมเอกสารในวันที่ 2 ธันวาคม 2565 และเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต 1 วัน ในวันที่ 27 ธันวาคม 2565 หลังจากนั้นสำนักงาน กสทช. จะตรวจคุณสมบัติโดยใช้เวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 มกราคม 2566 

 

จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 7 มกราคม 2566 สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 มกราคม 2566 

 

ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียงรายเดียว ขยายระยะเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกในวันที่ 6-11 มกราคม 2566 แล้วจัดให้มี Info Session อีกครั้งกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่มในวันที่ 12 มกราคม 2566 จากนั้นเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต 1 วัน ในวันที่ 19 มกราคม 2566 หลังจากนั้นสำนักงาน กสทช. จะตรวจคุณสมบัติตั้งแต่วันที่ 20-26 มกราคม 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 27 มกราคม 2566 

 

จากนั้นสำนักงาน กสทช. จะทำ Mock Auction ในวันที่ 28 มกราคม 2566 และประมูลในวันที่ 29 มกราคม 2566 ขั้นตอนหลังจากนั้น กสทช. จะจัดให้มีการประชุมรับรองผลการประมูลภายใน 7 วันหลังการประมูล 

 

พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ชุดข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 5 ชุด (Package) ประกอบด้วย 

 

ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ 

 

ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ 

 

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ

 

ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ 

 

และชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ

 

“กสทช. คาดว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลที่ปรับปรุงนี้จะทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 2-3 ราย โดยสิ่งที่ กสทช. ดำเนินการมาก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ 

 

“เพราะหากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุด ได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้ จึงคาดหวังว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผล และทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้และมีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าต่อไป” พล.อ.ท. ดร.ธนพันธุ์ กล่าว

 

นักวิเคราะห์ชี้ ‘THCOM’ ไร้คู่แข่ง คว้าไลเซนส์จาก กสทช. 

พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีล่าสุดที่ กสทช. ประกาศเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม ประเมินว่ามีผู้ประกอบที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเพียง 1 รายเท่านั้น คือ บมจ.ไทยคม (THCOM) 

 

โดยหลัง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ประกาศเข้าซื้อหุ้นของ THCOM ทั้งหมดที่ถือโดยบริษัทลูก บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) จำนวนรวมสัดส่วน 41.13% ส่งผลให้ THCOM จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเจ้าของใหม่เป็นบริษัทไทยอย่าง GULF ทันที จากเดิมที่ THCOM มี INTUCH ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ INTUCH มี GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 1 แต่ก็มีกลุ่ม Singtel ของสิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่ใน THCOM เป็นอันดับ 2 

 

“ภายหลังที่ THCOM มี GULF ในฐานะบริษัทไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว ส่งผลให้รัฐบาลมีความสบายใจมากขึ้น เพราะในการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมของ กสทช. ในรอบนี้จะมีผู้ประกอบเพียงรายเดียวที่เข้าประมูล คือ THCOM เพราะเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดียวที่มีศักยภาพพร้อม การได้ GULF มาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยิ่งทำให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้นของแหล่งเงินลงทุนในธุรกิจดาวเทียม รวมถึงกฎหมายไทยปัจจุบันไม่ได้อนุญาตเปิดช่องให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าร่วมประมูลได้”

 

เสริมความพร้อม THCOM ยิง ‘ไทยคม 9’ สู่อวกาศ

พิสุทธิ์กล่าวว่า การเปิดประมูลโคจรดาวเทียมของ กสทช. เบื้องต้นประเมินว่าจะเป็นประโยชน์กับ THCOM อย่างแน่นอน เพราะจะเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่เข้าประมูลวงโคจรชุดที่ 2 ของ กสทช. เพียงชุดเดียว เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้งานรองรับในการยิงดาวเทียมไทยคม 9 ขึ้นสู่วงโคจร 

 

เนื่องจาก THCOM มีลูกค้าในมือที่พร้อมรอใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 อยู่แล้ว เพื่อทดแทนหรือย้ายจากดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังปลดระวางหรือหมดอายุการใช้งานในช่วงสิ้นปี 2567 ทั้งนี้ เพื่อให้มีบริการที่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 4 ที่มีลูกค้าใช้งานอัตราการใช้ช่องสัญญาณ (Utilization Rate) อยู่ในระดับราว 10% ของความสามารถในการให้บริการทั้งหมดของดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งทำรายได้ให้กับ THCOM ประมาณ 1,00-1,500 ล้านบาทต่อปี 

 

เบื้องต้นประเมินว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรรวมในปี 2566 ของ THCOM ที่จะเพิ่มเป็นประมาณ 600 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 400 ล้านบาท เนื่องจากมีโอกาสที่ THCOM จะสามารถขายช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม 4 ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยในปีหน้า 

 

ในกรณีที่ THCOM ชนะประมูลได้สิทธิใช้งานวงโคจร จะทำให้ลูกค้าของ THCOM มีความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นว่าแม้ดาวเทียมไทยคม 4 กำลังจะหมดอายุในปีสิ้นปี 2567 แต่ลูกค้าไทยคม 4 เดิมก็สามารถโอนย้ายไปใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 ได้ทันที ซึ่งจะทำให้การใช้งานทำได้ต่อเนื่อง ไม่มีผลกระทบต่อการใช้งานลูกค้า

 

ขณะที่ตามเงื่อนไขของ กสทช. คาดว่า THCOM จะมีการจ่ายค่าใบอนุญาต (ไลเซนส์) ใช้วงโคจรดาวเทียมชุดที่ให้ กสทช. จำนวน 397 ล้านบาท และคาดว่า THCOM จะใช้เงินลงทุนอีกราว 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อสร้างและยิงดาวเทียมไทยคม 9 ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ขึ้นสู่วงโคจรในช่วงราวสิ้นปี 2567 หรือต้นปี 2568 

 

อีกทั้งดาวเทียมไทยคม 9 มีโอกาสขยายเข้าไปทำตลาดให้บริการลูกค้าในกลุ่มตลาดต่างประเทศ ได้แก่ อินเดียที่ยังมีดีมานด์ใช้งานที่สูงในดาวเทียมบรอดแบนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย รวมถึงออสเตรเลียด้วย

 

นอกจากนี้คาดว่า THCOM ยังมีความพร้อมสูงมากสำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้รองรับการสร้างดาวเทียมไทยคม 9 เพราะ ณ สิ้นไตรมาส 3/65 THCOM มีเงินสดภายในบริษัทถึงประมาณ 6,000 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนในธุรกิจดาวเทียมโดยปกติจะเป็นลักษณะสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราเงินกู้ 3 ส่วน อีก 1 ส่วนจะเป็นส่วนทุนของบริษัท

 

เพราะธุรกิจดาวเทียมโดยปกติจะมีการขายช่องสัญญาณล่วงหน้า (Presale) กับลูกค้าก่อนที่จะมีการยิงดาวเทียมขึ้นสูงวงโคจร จึงถือว่าจะสัญญาที่เป็นรายได้ในระยาวรองรับไว้แล้วในระดับหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ยังมองว่ามีโอกาสที่จะปรับประมาณการกำไรในปี 2566 ของ THCOM ขึ้นจากที่ทำไว้ 600 ล้านบาท รวมถึงปรับราคาเป้าหมาย THCOM สิ้นปี 2566 ที่ 9.92 บาทต่อหุ้นขึ้นด้วย ด้วยโอกาสที่ THCOM จะมีดาวเทียมไทยคม 9 เพิ่มเข้ามาในอนาคต ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 15-20 ปี 

 

ทั้งนี้ขอรอฟังแผนในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากผู้บริหารของ THCOM เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา โดยคาดว่าน่าจะมีรายละเอียดของแผนงานที่ชัดเจนขึ้น ภายหลังประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) ของ INTUCH  ในวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เพื่อพิจารณาอนุมัติขายหุ้น THCOM สัดส่วน 41.13% ให้กับ GULF 

 

ด้านกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า โดยปกติในภาพอุตสาหกรรมธุรกิจดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะเห็นการผูกขาดเกิดขึ้นในธุรกิจได้ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เนื่องจากแม้ว่าในกรณีมีการเปิดเงื่อนไขให้เปิดประมูวงโคจรได้แบบเสรี แต่ก็มีข้อจำกัดในการเข้ามาทำธุรกิจนี้ 

 

เพราะหากมีผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้ามาร่วมประมูลด้วย ไม่มีประสบการณ์มาก่อนในธุรกิจนี้ก็สามารถแข่งขันได้ยาก รวมถึงตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเดิมที่ THCOM มีการให้บริการอยู่แล้ว ก็ให้บริการทั้งลูกค้าในประเทศและกลุ่มประเทศเอเชีย จึงถือว่ามีความได้เปรียบ เพราะมีการทำการตลาดรวมถึงมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมอยู่ก่อนแล้ว 

 

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในการเปิดประมูลประมูลวงโคจรดาวเทียมของ กสทช. ในรอบนี้ จะมีเพียง THCOM เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยื่นประมูล โดยมีความเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะเข้ามาร่วมประมูลแข่งขันด้วย

 

ปัจจัยดังกล่าวนี้ถือเป็นบวกกับ THCOM ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงที่ต่อเนื่องของวงโคจรดาวเทียมหลักที่มีศักยภาพสูง ครอบคลุมการให้บริการลูกค้าได้ทั้่วทั้งภูมิภาคเอเชียในการถ่ายทอดและกระจายสัญญาณ ส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตในระยะยาว 

 

ทั้งนี้แนะนำให้ถือลงทุนหุ้น THCOM หากชนะประมูลวงโคจรดาวเทียมของ กสทช. มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 13-15 บาท ขานรับประเด็นบวกดังกล่าวนี้ แนะนำให้ขายเพื่อล็อกกำไร และรอติดตามแผนธุรกิจที่ชัดเจนจากผู้บริหาร THCOM อีกครั้ง

 

ผู้บริหาร ‘THCOM’ ปัดให้ความคิดเห็น หวั่นกระทบการวางกลยุทธ์ธุรกิจ

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าบริษัทยังไม่ขอให้ความเห็นถึงแผนในการเข้าร่วมประมูลในการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมของ กสทช. ที่ประกาศออกมาแล้ว เพราะอยู่ในช่วงเข้าใกล้การประมูลแล้ว เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 

 

“ตอนนี้ กสทช. ประกาศรายละเอียดการเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมออกมาแล้ว ช่วงนี้ถือว่าเซนซิทีฟ ไม่อยากให้ข้อมูลหรือความเห็นอะไรที่มีผลกระทบต่อการแข่งขัน”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising