The Devil Wears Prada เป็นภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่ทุกครั้งช่องเคเบิลนำมาฉาย เราก็ต้องหยุดดูจนจบไม่ว่าจะถึงฉากไหน หรือถ้านั่งเครื่องบินไปต่างประเทศก็จะอยู่ในหมวด Western Classics ที่เลือกแล้วไม่เคยผิดหวัง หนังเรื่องนี้ได้กลายเป็นขวัญใจของหลายๆ คน และเชื่อมต่อวงการหนัง เพลง โซเชียล และแน่นอนแฟชั่นอย่างไม่รู้จบ จนทุกวันนี้เรายังคงเลือกฉากต่างๆ มาเป็น GIF ตอบคนในเฟซบุ๊กหรืออัปโหลดภาพขึ้นอินสตาแกรม
The Devil Wears Prada ฉายวันแรก 30 มิถุนายน 2006 เป็นการดัดแปลงจากนิยายขายดีของ Lauren Weisberger ในปี 2003 ที่ติดชาร์ตหนังสือขายดีของ The New York Times ยาวนานถึง 6 เดือน โดยภาพยนตร์ได้ David Frankel มากำกับและทำเงินไปกว่า 320 ล้านเหรียญที่บ็อกซ์ออฟฟิศ หรือราวหมื่นล้านด้วยงบทุนสร้างประมาณ 35 ล้านเหรียญ หรือราวพันล้านบาท
ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึง Andy (แสดงโดย Anne Hathaway) นักเรียนสื่อสารมวลชนจบใหม่ที่กำลังหางานนักเขียนในนิวยอร์ก แต่บังเอิญได้งานเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของ Miranda Priestly (แสดงโดย Meryl Streep) บรรณาธิการบริหารเบอร์หนึ่งนิตยสารแฟชั่น Runway แม้ Andy จะมองว่าวงการนี้ตื้นเขิน ฟุ่มเฟือย และไม่เหมาะกับเธอ โดยในช่วงแรกเธอยังไม่สามารถปรับเข้ากับวิถีการทำงานของหัวหน้าเธอ Miranda ที่มีความต้องการสูงในทุกๆ เรื่อง และดูเหมือนเป็นนางพญาเกินเรื่อง แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ แอนดี้ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองและเริ่มหลงไปในโลกฟองอากาศของวงการแฟชั่นที่ก็ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเธอและการดำเนินชีวิต
https://www.youtube.com/watch?v=67sSBVlGM_Y&feature=youtu.be
The Devil Wears Prada เป็นภาพยนตร์ที่ช่วยผลักดันความสำคัญของหลายนักแสดง เริ่มจาก Meryl Streep ที่เพราะเรื่องนี้ ทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลออสการ์และสร้างชื่อเสียงเข้าสู่สมรภูมิใหม่ที่เริ่มกลายเป็นเซเลบไปในตัว เนื่องจากเด็กรุ่น Gen Y หรือมิลเลนเนียลส์ เริ่มรู้จักและหลงรัก Meryl Streep แม้ตอนนั้นเธอจะอายุ 57 ด้าน Anne Hathaway ในตอนนั้นก็เหมือนตอกย้ำจุดยืนในวงการ และทำให้เห็นว่าเธอไม่ได้เป็นแค่นางเอกภาพยนตร์แฟรนไชส์อย่าง Princess Diaries ส่วน Emily Blunt ในบท Emily Charlton อีกหนึ่งผู้ช่วยส่วนตัวของ Miranda ก็ช่วยแจ้งเกิดเธอเพราะเธอขโมยซีนทุกฉากที่ปรากฏด้วยจังหวะการเล่นบทตลกที่เพอร์เฟกต์สุดๆ
ต้องยอมรับว่าภาพยนตร์ The Devil Wears Prada เหมือนเป็นการทลายกำแพงของวงการแฟชั่นให้คนทั่วไปได้เข้าใจกระบวนการทำงานของวงการนี้โดยที่คนไม่ค่อยได้สัมผัสในสื่อกระแสหลัก โดยถึงแม้หลายอย่างจะเป็นการปรุงแต่งให้ดูเวอร์วังและสร้างมาเพื่อความบันเทิง แต่คนที่ดันเหมือนแจ้งเกิดอีกคนจากเรื่องนี้ก็คือ Anna Wintour บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue ที่เป็นที่พูดถึงตั้งแต่หนังสือออกมา เพราะผู้เขียนเคยเป็นผู้ช่วยของเธอมาก่อนนั้นเอง โดยช่วงที่ภาพยนตร์นี้ออก Anna ก็มีการไปออกรายการทีวีต่างๆ เพื่อปกป้องภาพลักษณ์ตัวเอง มีการทำสารคดี The September Issue ออกมาในปี 2009 และมีข่าวลือว่าดีไซเนอร์หลายคนขอไม่ไปปรากฏตัวในภาพยนตร์เพราะกลัว Anna จะไม่พอใจ ยกเว้นแต่ Valentino Garavani ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Valentino เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม Meryl เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้ Anna Wintour จะเป็นแม่แบบของตัวละคร Miranda Priestly ที่เธอเล่น แต่เธอก็ไม่ได้พยายามจะสร้างความร้ายกาจอย่างเดียว เธออยากให้เห็นถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นผู้นำของวงการที่แข่งขันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเธอก็ต้องแบกภาระความกดดันและอยู่บนยอดสูงสุดของภูเขาอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างกว้างขวาง นั่นคือเหตุผลที่ทำไม Meryl ชอบฉากที่ Miranda บรรยายให้ Andy ฟังถึงเหตุผลว่าเสื้อสเวตเตอร์สีน้ำเงินเฉด ‘Cerulean’ ที่เธอใส่อยู่ก็มาจากการเลือกของคนในวงการแฟชั่นที่นำไปใช้ในคอลเล็กชันและต่อมาเป็นเอฟเฟกต์ไหลริน (Trickle Down Effect) ที่ห้างและเสื้อผ้าแมสมาร์เก็ตได้นำสี Cerulean มาใช้ต่อ
ด้านเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน และมีการผสมผสานเพลงสุดฮิตจากหลากหลายแนวอย่างลงตัวที่สะท้อนชีวิตคนเมืองในมหานครนิวยอร์กและปารีส สองสถานที่หลักของหนัง โดยเพลงมีทั้ง Vogue และ Jump ของ Madonna, City of Blinding Lights ของ U2, Beautiful ของ Moby, Seven Days in Sunny June ของ Jamiroquai และ Suddenly I See ของ KT Tunstall ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ในฉากเปิดและช่วยทำให้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เคยมีกระแสว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีภาคต่อเพราะผู้ประพันธ์เคยเขียนเรื่อง Revenge Wears Prada ในปี 2013 แต่ทางทีมนักแสดงก็ต่างไม่สนใจที่จะทำอีกภาค แต่ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือละครเพลงบรอดเวย์ The Devil Wears Prada ที่ได้ Sir Elton John มาแต่งเพลงให้ ส่วนคนเขียนบทก็คือ Paul Rudnick
ทุกวันนี้ The Devil Wears Prada ยังคงติดลิสต์ของโพลป๊อปคัลเจอร์ต่างๆ อยู่เสมอ และถูกยกย่องให้เป็นภาพยนตร์สุดคลาสสิกที่เข้าไปอยู่ในใจของหลายคน โดยเราเชื่อว่าจะอีกกี่ยุคสมัยคนก็ต้องกลับมาดูเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ แต่งเป็น Miranda Priestly ช่วงวันฮัลโลวีน และไปทำงานพร้อมเดินออกจากลิฟต์อย่างมั่นใจและโยนเสื้อโค้ตลงโต๊ะเลขา
“That’s All”
อ้างอิง: