×

ป่าทับลาน ปัญหาที่มีทางออก

10.07.2024
  • LOADING...

เมื่อมีข่าวว่า ทางการมีนโยบายจะกันพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286 ไร่ออกไปจากอุทยานเพื่อไปจัดสรรที่ดิน ก็กลายเป็นข่าวใหญ่และมีกระแส ‘#Saveทับลาน’ กระหึ่มบนโลกออนไลน์

 

ประเด็นนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

คนที่เห็นด้วยบอกว่า จะได้คืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกราชการยึดที่ดินไปทำอุทยานมานานแล้ว

 

คนที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า ป่าจะถูกทำลาย สุดท้ายนายทุนจะฮุบผืนป่าแทน

 

ความเห็นของผู้เขียนคือ ทั้งสองฝ่ายพูดถูกทั้งคู่ เพียงแต่ว่าพูดไม่หมด

 

อุทยานแห่งชาติทับลานมีพื้นที่ 1,398,000 ไร่ ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย, อำเภอวังน้ำเขียว, อำเภอครบุรี, อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

 

แต่อุทยานที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้สร้างปัญหาและความขัดแย้งในพื้นที่มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

เมื่อ 50-60 ปีก่อน ผืนป่าบริเวณนั้นรัฐบาลได้เปิดเป็นสัมปทานป่า มีการตัดไม้มหาศาล ชักลากไม้ออกมา พอยกเลิกสัมปทานป่า บรรดาคนงานลูกจ้างที่มาตั้งแคมป์ทำงานกลางป่าก็ไม่ได้ออกไปด้วย พากันตั้งรกรากในป่าสงวน จับจองพื้นที่ มีการเพาะปลูก จนขยายกลายเป็นหมู่บ้านในเวลาต่อมา

 

อีกด้านหนึ่งเป็นปัญหาความมั่นคง ในเวลานั้นป่าทับลานเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่สู้รบกับรัฐบาล ยุทธศาสตร์หนึ่งของกองทัพคือ ชักชวนชาวบ้านเข้าไปอยู่เพื่อยึดพื้นที่ป่าไม่ให้ตกเป็นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ อาทิ ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว เดิมทีนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงที่ทางกองทัพภาคที่ 2 ไปตั้งชุมชนไทยสามัคคีขึ้นมา และมีกระบวนการตั้งหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2521 

 

ปี 2521 มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ให้สิทธิ์ที่ดินทำกินกับชาวบ้าน ซึ่งมีบางส่วนทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและป่าไม้ถาวร  

 

ต่อมาทางการมีความพยายามจะอนุรักษ์ป่าทั่วประเทศ จึงมีการประกาศพื้นที่ป่าสงวนบางแห่งให้เป็นอุทยาน ซึ่งขอบเขตของพื้นที่ กรมป่าไม้ก็เอาแผนที่ 1:50,000 มากางแล้ววงพื้นที่ เจ้าหน้าที่แทบจะไม่ได้มาสำรวจดูว่าบริเวณนั้นมีคนอยู่ในป่าหรือทับที่ดินของชาวบ้านที่อาศัยมาก่อนหรือไม่

 

จนเมื่อปี 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งทับซ้อนพื้นที่ทั้ง 3 เขตที่ได้แบ่งไว้ในตอนแรก ได้แก่ เขตป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร และเขตปฏิรูปที่ดิน จึงได้เกิดปัญหาอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อน

 

เมื่อชาวบ้านทวงถามก็ได้รับคำตอบว่า ประกาศไปก่อน แล้วค่อยกันพื้นที่ออกให้ตอนหลัง แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านมานาน

 

ในปี 2541 ชาวบ้านชุมนุมประท้วงใหญ่ ครม. สมัยนั้นจึงมีมติให้กันพื้นที่อุทยานออก โดยการพิสูจน์สิทธิ์ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนหรือหลังประกาศอุทยาน ซึ่งรวมถึงอุทยานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอื่นๆ ทั่วประเทศที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันด้วย

 

แต่หน่วยงานราชการก็ไม่กล้าทำอะไร ขยับอะไรแบบช้าๆ เพราะกลัวว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้กับป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ

 

ปัญหาจึงคาราคาซังมาหลายสิบปี แนวเขตอุทยานก็ไม่มีการปรับปรุงให้ชัดเจน เพราะต้องรอพิสูจน์สิทธิ์ก่อน และเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดการขยายพื้นที่บุกรุกอุทยานเพิ่มขึ้นตั้งแต่การเกษตรและสิ่งก่อสร้างมากมาย โดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้บุกรุกก็ตาม 

 

ในขณะเดียวกัน พื้นที่หลายแห่งในอุทยานก็ได้รับความนิยม อากาศสดชื่น ภูมิประเทศงดงาม จึงมีการบุกรุกจับจองทำเป็นรีสอร์ตจำนวนมาก

 

คนที่บุกรุกป่าไม่ใช่ชาวบ้านเท่านั้น แต่มีทั้งนักการเมือง คนในเครื่องแบบ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจำนวนมาก พื้นที่ในอุทยานที่ถูกบุกรุกก็เปลี่ยนมือจากชาวบ้านมาเป็นคนกลุ่มนี้ที่ไปกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากจากชาวบ้านในราคาถูกๆ เพื่อรอเวลาให้มีการกันพื้นที่เหล่านี้ออกจากอุทยาน เปลี่ยนสภาพเป็น ส.ป.ก. ซึ่งสามารถเปลี่ยนมือซื้อ-ขาย ออกเอกสารสิทธิ์ได้ ซึ่งถึงเวลานั้นราคาที่ดินคงขยับตัวขึ้นหลายเท่า

 

น่าสังเกตว่า การเพิกถอนอุทยาน 2 แสนกว่าไร่เกิดขึ้นในสมัยที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งได้คุม 2 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และมีนักการเมืองอยู่ในพื้นที่

 

ตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ทางการได้ละเลยในการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง ใช้วิธีซื้อเวลาไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้าน จนก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

 

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มีแนวทางในการแก้ปัญหานี้ คือ

 

สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นก่อน โดยการเพิกถอนพื้นที่อุทยานที่ประกาศทับที่ดินของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนประมาณแสนไร่

 

ส่วนอีกแสนกว่าไร่ที่เกิดจากการบุกรุกป่าหลังประกาศเขตอุทยาน ไม่น่าจะได้รับการเพิกถอน จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์และมีหลักฐานชัดเจน

 

ความขัดแย้งครั้งนี้มีแนวทางแก้ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนมาก อยู่ที่ว่าทุกฝ่ายจะจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่

 

หากการแก้ไขปัญหาครั้งนี้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานในการแก้ปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานทับที่ดินทำกินชาวบ้านที่อยู่มาก่อนอีกหลายแห่งทั่วประเทศ

 

ต้องยอมรับความจริงว่า การคืนความยุติธรรมให้กับชาวบ้านจากเรื่องที่ดินทำกินเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน

 

ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า การรักษาผืนป่าอย่างจริงจังก็เป็นความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่โลกกำลังเดือดขึ้นเรื่อยๆ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising