ฝรั่งเขาว่า Time Flies ให้เราพูดกันสวยๆ ในแบบภาษาไทยก็อาจจะบอกว่าเหมือนเวลานั้นได้โบยบิน
ไวจนน่าตกใจนะครับสำหรับการผจญภัยของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ บนแผ่นดินอาทิตย์อุทัย แดนซามูไรลูกหนัง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในลีกฟุตบอลที่ดีและมีคุณภาพสูงที่สุดของเอเชีย ที่ผ่านมา 6 ปีเกือบ 7 ปีเลย
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนั้นเกิดจากข่าวคราวที่เริ่มมีการพูดถึงในแวดวงลูกหนังแดนสยามของเรานี่แหละครับว่า ชนาธิป ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในวัย 22-23 ปี เรียกว่าอยู่ในช่วง ‘ขาขึ้น’ ที่กำลังไต่ระดับฝีเท้าการเล่นขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่ทุกคนต่างก็ตื่นเต้นและอยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะเดินทางไปได้ไกลถึงไหน
เสียงเล่าเสียงลือแบบเอามือป้องปากบอกกัน (สนั่นเมือง!) ว่าชนาธิปได้รับข้อเสนอจากทีมฟุตบอลหนึ่งในเจลีกที่ต้องการได้ตัวเขาไปเล่นอย่างเป็นจริงเป็นจัง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเคยมีโอกาสได้ไปทดสอบฝีเท้าในช่วงระยะเวลาสั้นๆ กับสโมสรชิมิสุ เอส-พัลส์ ตั้งแต่ปี 2013 แต่ยังไม่มีโอกาสที่จะได้ไปค้าแข้งอย่างจริงจัง
สโมสรนั้นก็คือฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร ซึ่งในระหว่างที่มีกระแสข่าวนั้นทีมจากแดนเหนือของญี่ปุ่นอยู่ในระหว่างการลุ้นขึ้นชั้นจากระดับ ‘เจ 2 ลีก’ มาอยู่ในระดับ ‘เจ 1 ลีก’
ช่วงนั้นต้องบอกว่าข่าวนี้ทำให้วงการฟุตบอลไทยค่อนข้างตื่นเต้นมาก เพราะชนาธิปคือนักฟุตบอลที่เก่งและมีอนาคตไกลที่สุดของเราในเวลานั้น และการที่เขากำลังจะได้โอกาสในการไปทดสอบฝีเท้ากับสโมสรในระดับเจลีกก็เป็นข่าวดีที่น่าตื่นเต้น
เพียงแต่ผมยังจำได้ถึงถ้อยคำของโค้ชฟุตบอลระดับแถวหน้าของเมืองไทยคนหนึ่งที่เคยแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
“ไปทำไม ไปก็สู้แรงเขาไม่ไหว กำลัง เทคนิค สปีดความเร็ว พวกนั้นเขาเหนือกว่าเยอะ”
ไม่นับอุปสรรคด้านอื่นๆ ที่ฟังดูแล้วก็ชวนทดท้อใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีม ไปจนถึงเรื่องของการใช้ชีวิต และสิ่งสำคัญที่สุดที่จะเอาตัวรอดให้ได้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากคนทั่วไปในเวลาที่ต้องไปทำงานต่างแดนคือเรื่องของภาษา
นักฟุตบอลอาชีพที่เก่งกาจมากมายที่ล้มเหลวกับการไปเล่นต่างบ้านต่างเมืองเพราะไม่สามารถทลายกำแพงของภาษาได้
โอกาสในการย้ายทีมครั้งนี้ในเบื้องหลังแล้วมาจากกลยุทธ์ของเจลีกเองที่ต้องการขยายฐานความนิยมมายังประเทศแถบอาเซียน ด้วยการดึงตัวนักฟุตบอลฝีเท้าดีที่พอมีแววของประเทศแถบนี้ หรือยอมรับกันแบบตรงไปตรงมาคือเขาก็ไม่ได้มาแบบซื่อๆแต่มี Hidden Agenda อยู่พอสมควร
แต่ ณ เข็มนาฬิกานั้น เราทุกคนรู้ดีครับว่าไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็เถอะ
หัวใจของเจไปแล้ว ไปอยู่ที่ฮอกไกโดเรียบร้อยแล้ว
ผมยังจำได้ในวันดีๆ วันหนึ่งที่มีโอกาสได้พบกับเขาที่ Spor Tech Pro ศูนย์ฝึกพัฒนาศักยภาพนักกีฬาที่ดีที่สุดของไทย (ซึ่งตอนนี้ย้ายไปเปิดสถานที่ใหม่ ใหญ่โตโอฬารกว่าเดิม) ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ แล้วก่อนที่จะมีการยืนยันข่าวอย่างเป็นทางการ
ผมถามเขาวันนั้นสั้นๆ ว่า “พร้อมไหม”
ชนาธิปตอบด้วยรอยยิ้มกว้าง “พร้อมครับ”
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นไม่มีใครคิดหรอกครับว่านักฟุตบอลตัวเล็กๆ คนหนึ่งจากประเทศที่ก็ไม่ได้ถึงกับเก่งกาจเลิศเลออะไรในเกมฟุตบอล จะสามารถสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ ขึ้นได้
ชนาธิปไม่ได้เป็น ‘เมสซีเจ’ (ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีการทำสกู๊ปข่าวเรื่องนี้กันแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว) แต่กลายเป็น ‘ชนาคุง’ ที่เป็นที่รักของชาวเมืองซัปโปโรได้อย่างไม่น่าเชื่อ
การที่นักฟุตบอลอาชีพสักคนที่ย้ายจากต่างบ้านต่างเมืองไปจะกลายเป็นที่รักของชาวเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ เพราะมันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของฝีเท้าการเล่นหรือความสำเร็จในสนาม แต่มันคือเรื่องของการวางตัว การปฏิบัติตัวต่อแฟนๆ อัธยาศัย น้ำใจและไมตรี
ความซื่อ ความเป็นคนอัธยาศัยดี ความเป็นคนน่ารักของเขาช่วยเปิดประตูหัวใจชาวเมืองซัปโปโรให้คนไทยที่ไม่ใช่แค่กับชนาคุง แต่เป็นคนไทยทุกคนที่ได้รับรอยยิ้มและไมตรีจากชาวเมืองไปด้วยในช่วงเวลานั้น
เพราะเราต่างก็รักคนคนเดียวกัน เท่านั้นเอง
ในสนามชนาธิปทำได้ดีไม่น้อยกว่าและอาจจะพอบอกได้ว่าเขาทำได้เกินกว่าความคาดหมายด้วยซ้ำครับ เพราะสามารถแจ้งเกิดกลายเป็นนักฟุตบอลในระดับสตาร์ของเจลีก สร้างผลงานระบือลือลั่น และมีส่วนช่วยในการทำให้ ‘คอนซะ’ ประสบความสำเร็จพอสมควรในช่วงเวลานั้น
หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือการที่เขาเป็นนักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยมของเจลีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย โดยเฉพาะกับการที่ไม่ได้อยู่กับทีมใหญ่ทีมโตอะไร
สิ่งสำคัญคือความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่นอนหลับฝันแล้วตื่นขึ้นมาก็ทำได้เลย
มันมาจากความมานะ พยายาม ไม่ยอมแพ้ของชนาธิปเองที่ใช้ความพยายามอย่างมาก เริ่มจากการทำให้เพื่อนร่วมทีมยอมรับในตัวของเขาก่อนเป็นลำดับแรก ไปจนถึงการเร่งสภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการลงสนามในเกมเจลีก ซึ่งระดับสูงกว่าไทยลีก และการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่โค้ชต้องการ
โดยที่ลึกๆ แล้วเขามีเหตุผลที่ทำให้แพ้ไม่ได้
เหตุผลสำคัญที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ในใจของชนาธิปที่ทำให้เขาไม่สามารถยอมแพ้ต่ออุปสรรคทุกอย่าง หรือแม้แต่ความเหงาตัวเท่าบ้าน เพราะประเทศญี่ปุ่นระหว่างการไปอยู่กับการไปเที่ยวนั้นแตกต่างกันมากนัก หากเราย้อนกลับไปฟังในบทสัมภาษณ์แรกของเขาในวันก่อนจะลงสนามเกมแรกก็จะได้คำตอบครับ
“ผมจะพยายามประสบความสำเร็จในเจลีกให้ได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้มาเล่นที่นี่กันเยอะๆ พวกเด็กๆ คนไทย หรือรุ่นพี่ที่ฝีเท้าดีก็จะได้มาได้ ก็เหมือนกับการยกระดับบอลไทยขึ้นมาด้วย”
คำพูดพวกนี้มันสวยหรูครับ และพูดง่าย
แต่ทำยาก
การจะทำให้ได้นั้นต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่างมากมาย ด้วยความเสียสละอย่างสูง เพราะน้ำหนักของ ‘ความหวัง’ นั้นมันมากมายมหาศาล
ต่อให้คนไทยจะบอกว่าเราไม่ได้คาดหวังให้ชนาธิปแบกรับอะไรมากมายขนาดนั้น แต่ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ของเขา ก็ทำให้เขาเต็มใจที่จะแบกรับสิ่งเหล่านี้อยู่ดี และแบกรับสิ่งเหล่านี้มาตลอดตั้งแต่วันแรก
นอกจากชนาธิปก็ยังมีนักฟุตบอลรุ่นพี่อย่าง ธีราทร บุญมาทัน และ ธีรศิลป์ แดงดา ก็มีโอกาสไปร่วมสร้างปรากฏการณ์ในเจลีกด้วย และยังมีนักฟุตบอลรุ่นน้องอีกมากมายหลายคนที่เดินตามกันมาในเส้นทางที่นักฟุตบอลตัวเล็กๆ คนนี้กรุยทางเอาไว้ให้
สิ่งที่เขาทำไม่ได้ต่างอะไรจาก คาซูโยชิ มิอุระ ตำนานราชาลูกหนังของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ที่เป็นหนึ่งในผู้กรุยทางให้แก่นักฟุตบอลญี่ปุ่นด้วยการเป็นนักเตะจากแดนซามูไรคนแรกที่ได้โอกาสไปเล่นในกัลโช เซเรียอา กับสโมสรเจนัว (แม้ว่าดีลจะเกิดขึ้นได้เพราะเจนัวมีสปอนเซอร์คือ KENWOOD แบรนด์เครื่องเสียงของญี่ปุ่นก็ตาม)
เพราะมีคาซู จึงมี ฮิเดโตชิ นากาตะ ซามูไรรุ่นที่ 2 ที่แจ้งเกิดอย่างงดงามกับเปรูจา ก่อนจะไปสู่สโมสรระดับชั้นนำอย่างโรมา ก่อนจะมี ชุนสุเกะ นากามูระ, เคสุเกะ ฮอนดะ, ชินจิ คางาวะ และปัจจุบันกับยุคของ คาโอรุ มิโตมะ
ชนาธิปทำทุกวันในญี่ปุ่นให้ดีที่สุด ไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่จะเดินตามหลังเขามาด้วย
หากใครมีโอกาสได้ดูบทสัมภาษณ์พิเศษ (จริงๆ) ของเขากับ ‘เคน นครินทร์’ ทางรายการ The Secret Sauce ซึ่งเป็นตอนที่ต้องปาดน้ำตากันหลายรอบในหลายเรื่อง หนึ่งในสิ่งที่ชนาธิปพูดคือเรื่องความพยายามของเขาที่จะเปิดประตูสู่เจลีกให้นักฟุตบอลไทยให้ได้
เพราะถ้าเขาทำได้ดี ทุกคนก็มีโอกาส
ดังนั้นถึงการเดินทางในขั้นต่อไปของชนาธิปกับการอยู่กับสโมสรในระดับท็อปของเจลีกอย่างคาวาซากิ ฟรอนตาเล จะไม่สวยงามนัก (และมันน่าเจ็บช้ำไปอีกนิดตรงที่เขาต้องยอมตัดใจความฝันที่จะได้ไปเล่นในฟุตบอลยุโรปไประหว่างทาง) และตัดสินใจกลับมาค้าแข้งในบ้านเราอีกครั้งกับทีมบีจี ปทุมฯ
แต่อย่างน้อยที่สุดชนาธิปก็ทำได้ดีที่สุดเท่าที่นักฟุตบอลหรือลูกผู้ชายคนหนึ่งจะทำได้แล้ว
ไม่จำเป็นต้องถามหาเหตุผลหรือถอดบทเรียนความล้มเหลวกับฟรอนตาเลก็ได้
ผู้ใหญ่ในวงการกีฬาไทยคนหนึ่งเคยสอนผมเอาไว้ในวันที่ประสบปัญหาร้ายแรงและไม่สามารถร่วมงานกันได้ต่อไปว่า “ไม่ต้องคิดอะไรมาก อย่างน้อยเราก็เคยได้ร่วมทางกัน ต่อให้มันจะไม่เวิร์กก็ตาม”
มันชวนให้ผมคิดถึงอีกคำพูดหนึ่งขึ้นมา
“อย่าเสียใจที่มันจบลง แต่จงยินดีที่มันได้เกิดขึ้น”
ไม่มีอะไรต้องเสียใจสำหรับชนาธิป แต่ยินดีกับความสำเร็จตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมา
คนญี่ปุ่นเขามีคำน่ารักๆ คำหนึ่งที่ผมชอบ (และเคยหยิบมาใช้เขียนในช่วงโอลิมปิกที่โตเกียวแล้วครั้งหนึ่ง)
おつかれさま ขอบคุณในความเหนื่อยยาก