วันนี้ (15 มีนาคม) ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มภาคี #Saveบางกลอย โดยกล่าวทักทายกับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม พร้อมกล่าวถึงความรู้สึกว่าดีใจและเต็มใจที่ได้มาในงานวันนี้
ธนาธรยอมรับว่าตนเองไม่ได้เติบโตมากับความยากลำบาก ไม่ได้เติบโตมากับป่าเขา แม่น้ำลำธาร แต่โตมากับป่าคอนกรีต มือไม่ได้หนา หยาบกร้าน แต่เพราะได้เข้ามาทำกิจกรรมการเมืองตอนเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และครั้งหนึ่งในชีวิตเคยไปเยี่ยมหมู่บ้านปกาเกอะญอ ทำให้รู้ว่ามีความน่าสะเทือนใจแค่ไหน โดยเฉพาะสำหรับกรณีของพี่น้องชาวบางกลอย
“กรณีสวนทุเรียน เมื่อประมาณปี 2542 ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ชาวปกาเกอะญอถูกเจ้าหน้าที่รัฐไล่ลงมาจากสวนทุเรียน ซึ่งอยู่มานานก่อนการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยปราศจากความยินยอม จัดที่ให้อยู่ชื่อว่าบ้านป่าหมาก ผมไปอยู่ในช่วงเวลาที่เขาถูกไล่รื้อ ถูกคุกคาม เมื่อไปเห็นความยากลำบากที่เกิดขึ้นจริงของชีวิตพวกเขาที่ผูกพันกับภูเขาและป่าไม้ เมื่อถูกย้ายลงมาก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่หมด หลังรัฐประหารปี 2557 ก็ยังถูกคุกคาม กดดันให้ออกจากป่าจนถึงทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ผมสะเทือนใจ สวนทุเรียนที่ผมไปเห็นไม่ต่างอะไรกับที่เกิดขึ้นที่บางกลอย ถูกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเขียนทับ ทั้งสองที่อยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีเหมือนกัน”
ธนาธรกล่าวอีกว่า พี่น้องชาวบางกลอยพยายามที่จะกลับไปที่ใจแผ่นดินซึ่งเป็นแผ่นที่อาศัยดั้งเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า และถูกกีดกันคุกคามจากรัฐมาโดยตลอด จนถึงปี 2554 เมื่อเขาพยายามกลับไปอีกครั้ง พวกเขาถูกคุมคาม ถูกเผาบ้านเรือนอย่างจงใจ หนึ่งคนที่เป็นพยานที่สำคัญมากคือ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ จนท้ายที่สุดถูกอุ้มหายไป เขาเป็นเพียงคนธรรมดา ที่ไม่มีพิษสงอะไร แต่เพราะต้องการยืนยันว่าเขาอยู่ที่นี่มาก่อนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะมาเสียอีก เขาต้องการยืนยันสิทธิในชุมชนของเขา เขากลับถูกอุ้มหาย
ธนาธรกล่าวว่า ปี 2562 เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าอุทยานถูกฟ้องว่าอุ้มฆ่าบิลลี่ ปี 2564 เจ้าหน้าที่คนเดียวกันนี้ถูกปลดออกจากราชการ เพราะไปเผาบ้านเรือนชาวบ้าน นี่คือเรื่องราวของการต่อสู้ เรื่องราวของคนธรรมดาที่มีจิตใจรักความเป็นธรรม รักบ้านเกิดที่ผูกพันกับชีวิตของเขา เขาอยู่ก่อนมีรัฐ มีกฎหมาย ก่อนมีอุทยานแห่งชาติ เรื่องราวบางกลอยสะท้อนให้เห้นว่ารัฐไม่เคยเห็นหัว เห็นคุณค่าประชาชน รัฐที่แข็งขืน กฎหมายที่ล้าหลัง ทำให้ประชาชนไม่ใช่แค่ที่บางกลอย แต่ทั่วประเทศมีปัญหาหมด ทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ และพิสูจน์แล้วว่าชุมชนแบบนั้นป่ายั่งยืน
สิ่งที่เราเห็นจากการต่อสู้ครั้งนี้คือเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 เขาไม่สามารถอยู่แบบนี้ได้แล้ว ไม่สามรถทำการเพาะปลูก ลูกหลานก็ต้องไปทำงานในเมือง ไม่มีวิถีชีวิตดั้งเดิม เขาจึงตั้งใจทำผิดกฎหมาย เดินกลับไปที่ใจแผ่นดิน เป็นความจงใจที่จะทำผิดกฎหมาย เพื่อจะบอกว่ากฎหมายที่ใช้กับเขาอยู่มันไม่เป็นธรรม เพื่อประกาศว่ากฎหมายมันไม่เป็นธรรมอย่างเปิดเผย หลังจากนั้นหลายคนถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม
“ที่เขามาเพราะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้ยาก และจำเป็นต้องพูดถึงข้อเรียกร้อง เขาบอกว่าไม่รับ MOU บันทึกความเข้าใจ เพราะไม่มีผลทางกฎหมาย เขาต้องการคำสัญญาที่หนักแน่น ไม่ใช่กระดาษแผ่นเดียว เป็นลมปากที่แก้ไขได้ เขาต้องการให้เรื่องของเขาผูกกับมติคณะรัฐมนตรี ต้องการให้ตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อพิพาท แล้วจะดำเนินคดีกับเขา ลองมองหน้าเขาหน่อยว่าเหมือนอาชญากรหรือไม่ เขาแค่อยากจะกลับบ้าน ระหว่างที่มีกรรมการมาศึกษาต้องหยุดคุกคามเขา หยุดดำเนินคดีกับเขา ข้อเรียกร้องที่เรียบง่ายแบบนี้มันยากตรงไหน ถ้าจริงใจ เขาไม่ได้เรียกร้องแค่กรณีบางกลอย และมีหลายกรณีที่เกิดในประเทศนี้ ซึ่งพีมูฟได้รวบรวมไว้ เอากรณีต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณาในคราวเดียวด้วย เพราะบางกลอยเป็นเพียงตัวอย่างของกลุ่มคนที่กล้าลุกขึ้นมาสู้ เห็นหัวเขาบ้าง ถ้าไม่เดือดร้อนจริง ไม่มีใครมาเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลหรอก” ธนาธรกล่าว
ธนาธรยังกล่าวในช่วงท้ายว่าเรามาที่นี่เพื่อมาให้กำลังใจบางกลอย แต่ต้องตระหนักว่ามีกรณีเดียวกันแบบนี้เกิดขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศ วันนี้เราสู้เพื่อบางกลอย รัฐบังคับให้ประชาชนต้องปกป้องกันเอง และตรงนี้ประชาชนจะไม่ยอมแพ้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์