×

คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล คนโจทก์เยอะ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองในสองทศวรรษ

01.02.2022
  • LOADING...
คุยกับ ธนาพล อิ๋วสกุล คนโจทก์เยอะ ‘ฟ้าเดียวกัน’ กับการเมืองในสองทศวรรษ

HIGHLIGHTS

12 mins. read
  • กลางเดือนมกราคม 2565 ตำรวจบุกไปบ้านนักเคลื่อนไหว บ้านสื่อมวลชน รวมถึงสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นปีอย่างไม่ปกติ เพราะมีการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อเสรีภาพประชาชนหลายรายในวันและเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบางรายถูกเจ้าหน้าที่อ้างถึงคดีเก่าเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง  
  • THE STANDARD สัมภาษณ์ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ที่ถูกตำรวจบุกไปถึงที่ทำการสำนักพิมพ์อีกครั้งตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ปีนี้เป็นปีครบรอบสองทศวรรษการก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันด้วย

กลางเดือนมกราคม 2565 ตำรวจบุกไปบ้านนักเคลื่อนไหว บ้านสื่อมวลชน รวมถึงสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นการเริ่มต้นปีอย่างไม่ปกติ เพราะมีการใช้อำนาจรัฐที่กระทบต่อเสรีภาพประชาชนหลายรายในวันและเวลาไล่เลี่ยกัน โดยบางรายถูกเจ้าหน้าที่อ้างถึงคดีเก่าเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง  

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในผู้ที่ถูกตำรวจบุกไปถึงที่ทำการสำนักพิมพ์อีกครั้งตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ปีนี้เป็นปีครบรอบสองทศวรรษการก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันด้วย

 

นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ธนาพลยังมีอีกหลายคดี และคดีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงวิชาการคือ คดีที่เขาเป็น 1 ใน 6 จำเลยจากการตีพิมพ์หนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง เนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ปีการศึกษา 2552 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ซึ่งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ 5 คน ได้ประเมินด้วยมติเอกฉันท์ให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีมาก (Excellent) 1 ใน 5 กรรมการ คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  

 

ขณะที่ฝ่ายโจทก์คือ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาทต่อ 6 จำเลย โดยมี ‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นหนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ อีกบทบาทของไชยันต์คือ หัวหน้าโครงการวิจัย ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: การศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้า

 

 

ข้อสังเกตที่พบกรณีเจ้าหน้าที่บุกไปบ้านนักกิจกรรมหลายคนในเวลาไล่เลี่ยกัน รวมถึงสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คืออะไร

อาจเป็นเพราะมีกระแสในโซเชียลมีเดียไม่เข้าพิธีรับปริญญา เขาอาจคิดว่าเราอยู่เบื้องหลัง มันเป็นความกลัวของฝ่ายขวาไทย ซึ่งมีตั้งแต่ปรากฏการณ์คนไม่ยืนในโรงหนัง ไม่เข้าพิธีรับปริญญา และกรณีเจ้าหน้าที่ไปห้องสมุด อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (โครงการห้องสมุด 1932 People Space Library) ไปหยิบหนังสือการ์ตูนเพราะมีรูปชูสามนิ้ว เราว่าการใช้อำนาจแบบนี้มันตลก 

 

ถูกบุกสำนักพิมพ์บ่อย จัดการกับสถานการณ์อย่างไร 

เราบริสุทธิ์ใจ อย่างกรณีที่เขามาหาหนังสือ สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย คำปราศรัยของ อานนท์ นำภา เราก็บอกว่า ใจเย็นๆ นะ ศาลยังไม่ตัดสินเลยว่าที่พูดมามันผิด คำปราศรัยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาสืบพยาน นี่เป็นแค่คำฟ้องแล้วไม่ได้ประกันตัว 

 

เวลาตำรวจมา เราก็ถามง่ายๆ ว่า ถ้าจะมาเอาเข้าคุก อย่างไรให้กระบวนการนี้พิจารณาให้เสร็จก่อนได้ไหม 

 

นึกออกไหม สมมติว่าวันหนึ่งคำปราศรัยของอานนท์ไม่ได้ผิด ม.112 แล้วกระบวนการที่เสียเวลากับเรา หาว่าเป็นคนผลิต เป็นคนเผยแพร่ อย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ 

 

ครั้งนี้มีการยึดโทรศัพท์มือถือ ยึดคอมพิวเตอร์ ถือว่าหนักที่สุดไหม หรือเคยเจอยิ่งกว่านี้

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เคยถูกคุมตัวไปค่ายทหาร 2 ครั้ง ครั้งแรกคุมตัวจากที่ชุมนุมต้านรัฐประหารที่หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ครั้งที่ 2 นัดไปร้านกาแฟ แล้วถูกคุมตัวไปค่ายทหาร และถูกคุมตัวที่กองปราบ  

 

 

การมาบุกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันครั้งนี้ถือว่าเบากว่าถูกควบคุมตัว? 

ไม่มีครั้งไหนเบากว่าครั้งไหน หนักทั้งนั้น

 

ทั้งหมดถือว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐมาคุกคาม

ใช่ ผลสำเร็จของการมาบุกฟ้าเดียวกันรอบล่าสุดคือ การสร้างความหวาดกลัวให้กับคนที่มาติดต่อผม และทำให้ผมเกรงใจที่จะติดต่อคนอื่น เพราะไม่แน่ใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

 

คุณเป็นคนโจทก์เยอะ แบ่งโจทก์ได้เป็นกี่กลุ่ม 

(หัวเราะ) ถ้านับตามคดี ก็เป็นปกติที่มีคดีกับอำนาจรัฐ 

 

แต่ปี 2564-2565 ก็มีคดีใหม่ๆ เช่น กรณีตีพิมพ์หนังสือของ ณัฐพล ใจจริง ชื่อ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ก็เป็นครั้งแรกที่ถูกฟ้องคดีแพ่ง โดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยมี ‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นหนึ่งในพยานฝ่ายโจทก์ อันนี้เรามองว่าเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของฝ่ายขวาจัด 

 

ถ้าหลักการของเราคือ ประชาชนมีสิทธิ์วิจารณ์รัฐบาล ก็เช่นเดียวกันกับที่ไชยันต์มีสิทธิ์จะวิจารณ์งานวิชาการได้ แต่สิ่งที่ไชยันต์ล้ำเส้นคือ การใช้กระบวนการที่นำมาสู่การฟ้องร้อง การเซ็นเซอร์ เพราะทั้งคำฟ้อง 50 ล้าน และคำร้องไปที่จุฬาฯ ทั้งหมดก็อ้างถึง ไชยันต์ ไชยพร  

 

 

การตอบโต้ของ อ.ไชยันต์ โดยการไปโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นการตอบโต้ทางวิชาการไหม หรือควรจะตอบโต้แบบไหน 

สำหรับผม ไม่ต้องวิชาการก็ได้ คือผมก็ไม่ได้เขียนวิชาการ แต่การตอบโต้พื้นฐานที่สุดคือการเถียงกัน สนทนากัน ไม่ใช่การไปเอาอำนาจอื่นใดมาเซ็นเซอร์ 

 

ก่อนมีกรณีไชยันต์ ก็มีกรณีร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ ที่มีคนไปพูดกับร้านว่า ปล่อยให้ขาย ฟ้าเดียวกัน ได้อย่างไร ไปกดดันเช้าเย็น จนร้านไม่วางหนังสือ ฟ้าเดียวกัน แบบนี้สำหรับผมล้ำเส้นแน่ๆ ไม่ใช่การใช้เสรีภาพแน่ๆ

 

นอกจากมีโจทก์เป็นอำนาจรัฐและฝ่ายขวา แล้วก็มีกรณีของ GULF ด้วย (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน))

สำหรับผม พื้นฐานมองว่า GULF ไม่ใช่เพียงเอกชน แต่เป็นเอกชนที่ได้สัมปทานจากรัฐ ได้อำนาจรัฐ ก็เหมือนเราวิจารณ์กระบวนการของรัฐ ซึ่งเคสนี้ต่อเนื่องจากการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล เรื่องการเอื้อสัมปทานของรัฐ แล้ว GULF ฟ้องโรมเป็นร้อยล้าน ฟ้อง เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เรื่องค่าไฟแพง 

เรามีความสงสัย GULF โดยเฉพาะในยุครัฐบาลหลังการรัฐประหาร 

 

นอกจากนั้น เสรี สุวรรณภานนท์ ก็ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีไปแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย

 

ล่าสุด ตำรวจมาหาว่าเป็นคนผลิตหนังสือคำปราศรัยของอานนท์ 

 

 

‘ฝ่ายขวาคุณภาพ’ ที่มีคุณภาพมากพอจะมาตอบโต้ฟ้าเดียวกัน คิดว่าต้องเป็นแบบไหน 

สำหรับผมไม่ได้มองว่าใครมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ จะวิจารณ์แบบไม่มีคุณภาพก็ได้นะ เพราะไม่มีใครบอกว่าตัวเองวิจารณ์ด้วยความไร้คุณภาพ ขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งเขาอาจมองว่าผมไม่มีสติปัญญาก็ได้ 

  

ปัญหาคือ อย่าไปใช้กลไกอำนาจรัฐหรือการปลุกระดมเพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น เราว่าประเด็นปัญหาอยู่ตรงนั้น 

 

แทนที่จะโต้แย้งกัน กลับทำอะไรที่นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี เคสล่าสุดเราไปขึ้นศาลในฐานะจำเลย โดยมี อ.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของ ณัฐพล ใจจริง เป็นจำเลยด้วย

 

คนที่ทำให้ อ.กุลลดา อายุ 75 ปี ต้องขึ้นศาล จิตใจทำด้วยอะไร มีความภูมิใจมากใช่ไหม 

 

ฟ้าเดียวกันถูกจับตาเพราะเป็นหนังสือติดอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่นิยมอ่าน ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกังวลว่าเยาวชนจะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในมุมของคุณคิดอย่างไร

หนังสือประวัติศาสตร์ไทยในแบบเรียน เราว่า 90% ไม่ตรงกับความเป็นจริง เราก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนี้ แต่จะไปทำอะไรคนเขียนได้ไหม เอาหนังสือไปเผาได้ไหม เราก็ไม่ทำอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มีอำนาจรัฐ แต่ส่วนหนึ่งเราคิดว่าวิธีสู้ของเราคือทำหนังสืออีกแบบหนึ่งออกมาสู้กับพวกนี้ 

 

ง่ายๆ ถ้าคุณบอกว่าไม่เชื่อเวอร์ชันเรา คุณก็ผลิตเวอร์ชันคุณออกมา แล้วแบบเรียนกระทรวงศึกษาธิการคุณกุมอำนาจรัฐหมดเลย ถ้ากุมอำนาจถึงขนาดนี้แล้วคนอ่านยังมาเชื่อสำนักพิมพ์กระจอกๆ ก็ยุบ (กระทรวง) ทิ้งไปเถอะ 

 

 

เป็นไปได้ไหมที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจะพิมพ์หนังสือ ‘โปรเจ้า’ 

ฟ้าเดียวกันไม่ผลิตหนังสือโปรเจ้าแบบที่มีเกลื่อนตลาดอยู่แล้ว พิมพ์ไปก็ขาดทุน แต่ถ้าจะพิมพ์หนังสือที่ขวาที่สุดคือหนังสือที่บอกว่ากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญควรเป็นเช่นไร ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันนี้ไปไกลที่สุดแล้ว 

 

ไม่พิมพ์หนังสือ ‘โปรเจ้า’ แต่ก็ยืนยันไม่ใช่หนังสือ ‘ล้มเจ้า’ ด้วย

ก็ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีหนังสือ ‘ล้มเจ้า’ ขณะที่อังกฤษหรือญี่ปุ่น เขาอนุญาตให้มีหนังสือล้มเจ้า เช่น ร้อยวิธีสู่การเป็น Republic (สาธารณรัฐ) เพราะอังกฤษอนุญาตให้มีการรณรงค์เป็น Republic ได้ ส่วนประเทศไทยทำไม่ได้ (ไทยเป็นราชอาณาจักรไทย: Kingdom of Thailand)

 

ปัญหาของผมคือ ถ้าคุณจะเป็นฝ่ายขวาที่มีคุณภาพ คุณก็ต้องอ่านร้อยวิธีสู่การเป็น Republic เพื่อป้องกันไม่ให้เป็น Republic จะสู้อย่างไร 

 

ที่ผมฟังมาคือ แบบเรียนของสถาบันการศึกษาของทหาร ด้วยความที่มีการเซ็นเซอร์ ทำให้ไม่รู้ความคิดของฝ่ายตรงข้าม

 

สมมติคุณเป็นทหารที่คิดว่า ‘คนเสื้อแดง’ หรือ ‘เยาวชน’ เป็นอันตรายต่อสิ่งที่คุณต้องพิทักษ์ แต่คุณไม่รู้ว่าความคิดของฝ่ายนี้เป็นอย่างไร แล้วคุณจะสู้กับใคร นี่คือพื้นฐานที่สุด 

 

แล้วต่อให้ปัจจุบันห้ามพิมพ์ร้อยวิธีสู่การเป็น Republic มันก็มีช่องทางอื่นเช่นเดียวกับกรณีเจ้าหน้าที่มาไล่บี้หนังสือคำปราศรัยของอานนท์ ขณะที่คนสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตค้นฟังคลิปได้เลย เด็กที่มีโทรศัพท์มือถือเข้าอินเทอร์เน็ตได้ แค่พิมพ์ชื่อหนังสือก็ฟังยูทูบได้แล้ว ต่อให้ห้ามเผยแพร่หนังสือก็ไม่มีผลหรอก 

 

 

เป้าหมายของฟ้าเดียวกันไม่ใช่ล้มเจ้า แต่เป็นงานวิชาการใช่ไหม

ประเทศไทยไม่อนุญาตให้มีหนังสือล้มเจ้าอยู่แล้ว ขั้นต่ำที่สุดแม้กระทั่งหนังสือที่บอกว่ากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญยังมาไล่ล่ากันขนาดนี้ อย่างอื่นไม่ต้องพูดถึงเลย 

 

แต่ในแง่ของคนทำหนังสือ ทำเรื่องความรู้ ต้องให้กว้างที่สุด คุณไม่สามารถห้ามความคิดคนได้แน่ๆ คุณต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ถ้าจะสู้กันก็สู้กันในเชิงความคิด 

 

สำหรับใครที่คิดว่าหนังสือ อ.ณัฐพล ใจจริง เป็นหนังสือห่วย ก็เขียนหนังสือของตัวเองมา 

 

อย่างงานของอีกฝ่ายก็ไม่เห็นเยาวชนคนไหนชวนกันไปอ่าน แล้วในทางวิชาการก็ไม่เห็นมีใครอ้างอิงงานชิ้นนั้นเลย 

 

ถ้าอีกฝ่ายส่งงานมาให้ ฟ้าเดียวกันจะพิมพ์ไหม

ก็ต้องดูคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละสำนักพิมพ์ต้องพิจารณาตามมาตรฐาน แต่ถ้าใครมีหนังสือห่วยๆ อยากจะพิมพ์เองก็มีสิทธิ์ทำได้

 

เช่นเดียวกับที่ผ่านมา มีงานวิจารณ์สถาบันหลายเล่มที่ฟ้าเดียวกันไม่พิมพ์ เพราะคุณภาพไม่ถึง

 

การทำสำนักพิมพ์ต้องมีเป้าหมาย มีทิศทาง มีนโยบาย และมีฐานคนอ่าน 

 

อย่างเช่น หนังสือ กว่าจะครองอำนาจนำ เขาเขียนมาแบบนี้ จะอ่านแบบขวาก็ได้นะ อ่านว่าเป็นความสามารถของรัชกาลที่ 9 ที่สร้างอะไรจากซากปรักหักพังของสถาบันขึ้นมาจนกระทั่งครองอำนาจนำ แบบนี้อ่านแบบขวาก็ยังได้เลย เราว่าคุณภาพดีกว่างานฝ่ายขวาที่ผลิตใน 4-5 ปีนี้แน่นอน รับประกัน 

 

ขณะที่งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าใช้ภาษีประชาชนไปผลิตงานที่ไม่มีเสียงตอบรับชื่นชมแม้แต่จากฝ่ายเดียวกัน 

 

 

ที่รับไม่ได้ เพราะฝ่ายนั้นผลิตงานไม่มีคุณภาพ?

ถ้าถามเรา เราอาจเป็นผู้มีส่วนได้เสีย (เป็นสำนักพิมพ์หนึ่ง) แต่เท่าที่เห็นมา เขาผลิตงานออกมา ไม่มีเสียงตอบรับในเชิงชื่นชมแม้แต่จากฝ่ายเขาเลย ไม่มีใครเอาไปโควตหรือชักชวนกันไปอ่าน 

 

ขอท้าเลย ให้เขาพิมพ์หนังสือเป็นเล่ม แล้วมาประกบให้คนอื่นวิจารณ์เลย มันเป็นเรื่องของการวิจารณ์ที่ต้องให้คนอ่านมาตัดสิน 

 

สองทศวรรษที่แล้ว หากเอ่ยถึงชื่อ อ.ไชยันต์ ไชยพร คนจะนึกถึงนักวิชาการอีกท่านคือ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา สำหรับฟ้าเดียวกันเคยพิมพ์ผลงาน อ.ธเนศ ไหม 

เคยตีพิมพ์บทความ อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา ทำไมเหรอ

 

ในอดีตทั้งธเนศและไชยันต์ถูกมองว่าเป็น ‘โพสต์โมเดิร์น’

เราว่าพื้นฐานของโพสต์โมเดิร์นต้องวิจารณ์โครงสร้างเก่า 

 

เราจำได้ อ.นพพร ประชากุล บอกว่า ถ้า มิเชล ฟูโกต์ มาเกิดเมืองไทย สิ่งที่ มิเชล ฟูโกต์ จะวิจารณ์ไม่ใช่เรื่องเพศหรือเรื่องคุก เขาต้องวิจารณ์โครงสร้างการเมืองเก่า ดังนั้นโพสต์โมเดิร์นไม่เชื่อความจริงอันหนึ่งเดียว ไม่เชื่อ Meta Narrative ซึ่งไชยันต์อาจจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่โพสต์โมเดิร์น 

 

ถ้าคุณเป็นโพสต์โมเดิร์น สิ่งที่คุณต้องตั้งคำถามอันแรกสุดคือ โครงสร้างการเมืองเดิม ไม่มีโพสต์โมเดิร์นที่ไหนเป็นพวกมาไล่จับคนที่ตั้งคำถาม  

 

ขณะเดียวกันก็ประกาศเลย เราไม่เชื่อว่าไชยันต์เป็นรอยัลลิสต์อะไรหรอก

 

รอยัลลิสต์ที่คุณรับได้มีใครไหม 

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ก็โอเค 

 

ถูกดำเนินคดีมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่ยุคก่อตั้งสำนักพิมพ์ ซึ่งตรงกับยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ใช่ไหม

มีปัญหาเรื่อยมาอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นปกติก็ได้ ตั้งแต่ยุคทักษิณก็มี ยุคอภิสิทธิ์ก็มี 

 

ช่วง กปปส. ชุมนุมยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็ถูกฟ้อง มีคนไปฟ้อง ม.112 

 

ถูกฟ้อง ม.112 เพราะถูกจัดเป็นฝ่ายเดียวกับทักษิณ?

ทั้งทักษิณและอะไรต่ออะไร 

 

 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันวิจารณ์ทักษิณตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี ความจริงแล้วความสัมพันธ์กับฝ่ายทักษิณเป็นอย่างไร 

เป็นปกติที่เราจะวิจารณ์รัฐบาล แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าใครวิจารณ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลายเป็นพวกสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร ซึ่งเราว่าเป็นเรื่องตลก ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่วิจารณ์รัฐบาลไม่ได้ แม้ไม่มีรัฐประหาร มันก็คือการรัฐประหารนั่นแหละ

 

การวิจารณ์รัฐบาลเป็นเรื่องปกติ แต่การสร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหารเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

 

คุณไม่ได้ถูกมองว่าสนับสนุนการรัฐประหารอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ 

อ้าว ตอนนี้มีคนมาว่าเราเป็นสลิ่ม เฟส 2 ประชาธิปัตย์ สาขา 2 อะไรแบบนี้ นี่คือความตลกมาก การที่วิจารณ์ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง กลายเป็นสลิ่มได้อย่างไร 

 

วิจารณ์ทักษิณ เพราะมีเรื่องอะไรกันมาก่อนไหม

ไม่รู้ จะมีเรื่องอะไรล่ะ 

 

เขาเคยดำเนินคดีฟ้าเดียวกันหรือเปล่า

คดีในสมัยแรกก็คือสมัยคุณทักษิณเป็นนายกฯ นั่นแหละ ก็ยึดฟ้าเดียวกัน แจ้งความ ม.112 ฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย พิมพ์เผยแพร่ปี 2548 ถูกแจ้งความปี 2549 

 

สองทศวรรษที่ผ่านมาจะมีช่วงที่ถูกจัดเป็นฝ่ายเดียวกับทักษิณ เรื่องนี้รู้สึกอย่างไร 

ทักษิณมาอยู่ฝ่ายเรามากกว่า (หัวเราะ) ก็คือฝ่ายไม่เอารัฐประหาร ฝ่ายต้านรัฐประหาร เพราะเราก็อยู่ของเราอย่างนี้เป็นปกติ แต่ทักษิณตอนที่เขามีอำนาจรัฐ เขาก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายต้านรัฐประหารอยู่แล้ว เขาเป็นคนถืออำนาจรัฐ เขาไม่ได้ถูกอำนาจรัฐรังแก 

 

 

วิจารณ์ทักษิณมาก่อนที่จะมีพรรคอนาคตใหม่ใช่ไหม

ต้องยืนยันว่า ประชาชนมีสิทธิ์วิจารณ์ได้ทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะการวิจารณ์เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชน ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ อำนาจรัฐที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ส่วนวิจารณ์มีคุณภาพหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง   

 

จุดยืนเราคือ ไม่เอาการรัฐประหาร ตอนทักษิณถูกรัฐประหาร เราก็วิจารณ์คนที่รัฐประหาร ทำไมไม่คิดว่าเราเป็นพวกทักษิณ สนับสนุนทักษิณ   

 

วิจารณ์ทักษิณเพื่อหลักการนี้ ไม่ใช่วิจารณ์ทักษิณเพราะคุณเป็นผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกลเหรอ

 ใช่ พื้นฐานที่สุดเราพิสูจน์มาแล้ว ต่อให้วิจารณ์คุณทักษิณ แล้วพอมีรัฐประหาร 2549 เราก็ไปต้านรัฐประหาร

 

เราวิจารณ์นิรโทษกรรมเหมาเข่งยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ พอมีรัฐประหาร 2557 ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็ต้านรัฐประหาร ก็เป็นปกติอยู่แล้ว

 

มีคน 3 คนที่ก่อตั้งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คือ ธนาพล, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ชัยธวัช ตุลาธน แล้วตอนก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ คุณไปร่วมก่อตั้งด้วยหรือไม่ 

ไม่ เราทำสำนักพิมพ์ ส่วนพรรคการเมืองเขาไปคุยกันเอง 

 

ความสัมพันธ์กับอนาคตใหม่ (ปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล) เป็นอย่างไร จะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยไหม

ก็คนรู้จักกัน (ธนาธร) เขาไปตั้งพรรคการเมือง เราทำหนังสือ มันห้ามกันไม่ได้ถ้ารู้จักกันมาก่อน แล้วเพื่อนไปทำพรรคการเมือง

 

สำหรับพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล นโยบายที่ประกาศกับสิ่งที่เราเชื่อมันก็สอดคล้องกัน ซึ่งระดับความสอดคล้องเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ก็ไม่ได้ขัดกัน 

 

ส่วนความสนใจการเมืองระดับไหน เรื่องการเป็นผู้แทนฯ ไม่ใช่เรื่องอยู่ในหัวอยู่แล้ว เพราะเรามีความรับผิดชอบกับฟ้าเดียวกัน อีกเหตุผลคือ สไตล์การทำงานก็คงไม่เหมาะกับแบบนั้น 

 

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันก่อตั้งปี 2545 ขายฉบับแรกปี 2546 แต่เพิ่งมาขายดีมากๆ เมื่อปี 2563 (ปีที่มีการชุมนุมและปราศรัยทะลุฟ้าทะลุเพดาน) ใช่หรือไม่ 

ไม่ใช่เพิ่งมาขายดี เพราะที่ผ่านมาคนอ่านมีความสนใจการเมืองมาตลอดอยู่แล้ว ถ้าดูยอดขายหลังรัฐประหารปี 2549 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 หลังรัฐประหาร 2557 เพียงแต่ปี 2563 คนสนใจมากขึ้นมาอีก  

 

ถ้าเทียบในตลาดเดียวกัน ฟ้าเดียวกันก็ไม่ถึงกับแย่ เราอยู่ลำดับต้นๆ สำหรับคนทำหนังสือการเมือง, วิชาการการเมือง คำว่าขายดีต้องดูเป็นเรื่องๆ อย่างตอนหลังรัฐประหาร 2549 ทำเล่ม รัฐประหาร 19 กันยา เผยแพร่ปี 2550 พิมพ์ 2 ครั้ง ประมาณ 5,000-6,000 เล่ม  

 

ส่วนเล่มของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เล่ม 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง ก็พิมพ์ 1-2 ครั้ง มาอยู่แล้ว 

 

โอเค คำว่าขายดีมากๆ ก็มากับกระแสความสนใจประชาธิปไตยปี 2563 อยู่ๆ คนก็สนใจเยอะมาก ในแง่ยอดขายก็เห็นได้ชัดเจน พิมพ์ซ้ำประมาณ 10 กว่าปก เช่น หนังสือชุด สยามพากษ์ หนังสือชุด กษัตริย์ศึกษา หนังสือชุดได้รับการพิมพ์ซ้ำหมดเลย 

 

คุณเป็นคนในยุคที่มีการทำคอนเทนต์การเมืองเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในยุคแรกๆ มองข้อจำกัดต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 

เราโตมาในยุคคาบเกี่ยวกับยุคอินเทอร์เน็ต คือมาหัดใช้อินเทอร์เน็ตตอนโตแล้ว เพิ่งมาใช้สมาร์ทโฟนช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 ไม่นาน 

 

แต่เด็กๆ รุ่นปัจจุบันโตมาก็คล่องแคล่วกับโทรศัพท์มือถือแล้ว

 

เราเข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี 2535 จบปี 2539 ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังราคาแพง โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ดี ยุคใช้โมเด็ม จ่ายเงินรายชั่วโมงเพื่อซื้ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นความคิดเรื่องนักรบไซเบอร์ยากมาก เพราะต่อให้ผลิตคอนเทนต์ได้ก็ไม่มีคนอ่าน เนื่องจากเข้าถึงยาก 

 

หลังรัฐประหาร 2549 การจะใช้อินเทอร์เน็ตยังต้องกลับมาใช้ที่บ้าน เราจำได้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไปถ่ายรูปม็อบ กว่าจะกลับมาอัปโหลดที่บ้านตั้ง 3-4 ทุ่ม หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์บางคน โพสต์เฟซบุ๊กว่า ‘ออกจากบ้าน’ ยุคนี้อาจจะสงสัยว่าโพสต์ทำไม ก็เพราะ พ.ศ. นั้น การออกจากบ้านแปลว่าจะตัดขาดจากอินเทอร์เน็ต จะติดต่อทางนี้ไม่ได้ แปลว่าจะเข้ามาอีกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน มาใช้โมเด็มเสียงเอี๊ยดๆ อ๊าดๆ 

 

โลกการเมืองตอนนั้นมีพันทิปที่มาก่อน แต่เป็นยุคที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่บ้าน  

 

ส่วนเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันมาทีหลัง ช่วงปี 2549 ตอนทำเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันก็มีนโยบายเปิดกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอมีรัฐประหารหลายคนก็เซ็นเซอร์ตัวเอง หลายคนถูกคุกคาม กลายเป็นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันมีคนมาสนใจเยอะ เป็นเป้าของฝ่ายขวา ฝ่าย สนธิ ลิ้มทองกุล

 

เราซื้อโทรศัพท์มือถือครั้งแรกปี 2545 ตอนมาทำฟ้าเดียวกัน ก่อนหน้านั้นใช้เพจเจอร์จนค่าบริการรายเดือนแพงกว่าการใช้มือถือ แต่ปี 2545 ก็ยังไม่ใช่สมาร์ทโฟน มาใช้สมาร์ทโฟนก่อนรัฐประหาร 2557 ไม่นาน 

 

ส่วนปี 2553 ถ้าจะอ่านอะไรในอินเทอร์เน็ต ก็ต้องกลับไปอ่านที่บ้าน

 

สมาร์ทโฟนของ สตีฟ จ็อบส์ ปฏิวัติวงการจริงๆ ถึงแม้จะแพง แต่ต่อมาค่ายมือถือลดค่าบริการลง ลดราคามือถือลง คนก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น 

 

 

มาถึงยุคออนไลน์แล้ว ทำไมหนังสือก็ยังตกเป็นเป้าของฝ่ายความมั่นคง

มีคนบอกว่า อินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ทำให้คนไม่อ่านหนังสือ อาจจะใช่บางส่วน แต่ด้านกลับกัน เราว่าโลกออนไลน์มันทำให้หนังสือไปถึงมือผู้อ่านมากขึ้น ระบบการสั่งซื้อมันง่ายขึ้น 

 

หนังสือเป็นวัตถุที่แสดงตัวตน ถึงแม้เนื้อหาจะเหมือนกันระหว่างอ่านจาก E-Book กับอ่านในเล่ม แต่อย่างน้อยหนังสือเป็นเล่มก็เอาไปชูในที่ชุมนุมทางการเมืองได้ ชูตัวเล่มในม็อบ ในแง่ของวัตถุสัญลักษณ์ยังฟังก์ชันอยู่ หรือไม่ก็อาจเป็นเพียงความวิตกจริตของฝ่ายอำนาจรัฐก็ได้ 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising