วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การที่ผู้ชุมนุมระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องยกเลิกนโยบาย BCG ที่นำเสนอเข้าที่ประชุม APEC รับรอง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศนั้น
ธนกรกล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ถือเป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาและการเติบโต โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นวิสัยทัศน์ที่ได้รับการยอมรับโดย APEC มาก่อนหน้านี้แล้ว
“แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นการมองไกลไปกว่าแค่การสร้างผลกำไร เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อทุกระดับในภูมิภาค โดย APEC ผลักดันให้มีการปฏิรูปทางโครงสร้างและมาตรการที่จำเป็น ขจัดอุปสรรคของการทำธุรกิจ ทั้งการปฏิรูปกฎระเบียบภายใน การส่งเสริมบรรยากาศของการดำเนินธุรกิจและการลงทุน การช่วยเหลือ MSMEs การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ” ธนกรกล่าว
ธนกรกล่าวย้ำอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนชั้นนำในประเทศอย่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจหรือได้รับข้อมูลที่ผิดๆ มา ดังนั้น ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรมที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับผู้นำกลุ่ม APEC เพราะถ้าไม่มีความชอบธรรม ผู้นำและตัวแทนต่างชาติก็คงไม่เดินทางมาร่วมการประชุมครั้งนี้
ธนกรกล่าวอีกว่า นายกฯ พูดชัดเจนว่าประเทศไทยจะเสนอให้ผู้นำ APEC รับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ในปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของ APEC ไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน สนับสนุนความพยายามในการจัดการการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน ผลักดันการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขยะให้เป็นศูนย์ ซึ่งความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อที่จะช่วยให้ก้าวไปข้างหน้า และเติบโตไปด้วยกันสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“การเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งนี้ อยากให้ผู้ชุมนุมย้อนถามตัวเองด้วยว่า ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่ เพราะเห็นมีแค่คนบางส่วนเท่านั้นที่พยายามปลุกระดมให้ประชาชนออกมาชุมนุม แต่ที่แน่ๆ คือการขัดขวางโอกาสและประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากการประชุมครั้งนี้ อยากให้ผู้ชุมนุมทบทวนตัวเองอีกสักครั้งว่า การพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่นั้น ในใจลึกๆ หวังจะให้นำไปสู่ความรุนแรง จงใจให้เกิดการเผชิญหน้า สร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปราบปราม เพื่อที่จะนำภาพดังกล่าวไปขยายผลต่อใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตยให้ต้องอับอายชาวโลก แต่ควรละอายบ้างที่เอาประโยชน์ของประเทศมาแลกกับความสะใจของคนเพียงไม่กี่คน” ธนกรกล่าวทิ้งท้าย