×

เจาะลึก ‘THAMMASAT FRONTIER’ หลักสูตรที่ผู้เรียนคือผู้เลือก! ช้อปวิชาที่ชอบ ออกแบบอาชีพที่ใช่ด้วยตัวเอง [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
27.12.2022
  • LOADING...

งานวิจัยของ World Economic Forum เผยว่าตำแหน่งงานทั่วโลกกว่า 85 ล้านตำแหน่งกำลังจะหายไป และจะถูกแทนที่ด้วย 97 ล้านตำแหน่งงานใหม่ เท่ากับว่าคนที่ไม่รีบปรับตัวและเติมทักษะใหม่ๆ ให้กับตัวเองมีความเป็นไปได้สูงที่จะตกงาน 

 

หลายเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็สนับสนุนแนวโน้มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้งานจำนวนมากล้าสมัย ขณะเดียวกันงานที่เกิดใหม่ก็ต้องการทักษะใหม่ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นทักษะที่ลึกเฉพาะด้าน แต่เป็นทักษะที่เกิดจากการผสมผสานหลายทักษะเข้าด้วยกัน 

 

ดังนั้น การเรียนรู้เพียงด้านเดียว ศาสตร์เดียว ไม่ตอบโจทย์อาชีพในอนาคต หรือแม้แต่การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ที่ไม่มีอะไรแน่นอน ยิ่งจำเป็นต้องบูรณาการองค์ความรู้หลายศาสตร์ และเรียนรู้ด้วยวิธีการหลากหลาย ความรู้ในห้องเรียนไม่เพียงพอ และบทบาทขอบผู้สอนเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้อีกต่อไป

 

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ด้วยเหตุนี้เองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสร้างหลักสูตร ‘THAMMASAT FRONTIER’ หลักสูตรแนวคิดใหม่ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามีอิสระในการสำรวจความต้องการและความถนัดของเอง สามารถเลือกผสมผสานศาสตร์ต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ได้ ภายใต้การบริหารจัดการของ ‘วิทยาลัยสหวิทยาการ’  

 

รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า หลักสูตร THAMMASAT FRONTIER ก็เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ต ให้นักศึกษาเลือกช้อปสิ่งตัวเองต้องการ อยากเติบโตแบบไหน อยากพัฒนาทักษะอะไร เชิญเลือกสรรได้ตามชอบ 

 

“แนวคิดแบบนี้เป็นการจัดการศึกษาที่โอบอุ้มความหลากหลาย คนที่มีความสนใจหลากหลายก็สามารถตอบโจทย์ของตัวเองได้ การสร้างหลักสูตรให้ทุกคนเรียนเหมือนกันมันไปทำลายศักยภาพและทำลายเวลาของผู้เรียน ซึ่งจริงๆ แล้วแนวคิดนี้มาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยก็ช้าไป ควรจะเริ่มตั้งแต่มัธยมศึกษา ถือเป็นข่าวดีเพราะตอนนี้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้ เด็กไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนเดียวกัน ไม่ต้องเรียนเหมือนกันทุกวิชา อาจารย์ที่ปรึกษาจะทำหน้าที่แนะนำว่าควรเรียนวิชาอะไรบ้าง”  

 

รศ.ดร.พิภพ อธิบายต่อว่า ในฐานะของสถาบันการศึกษา หากจะทำให้นักศึกษาเท่าทันโลกอนาคต มหาวิทยาลัยจะไปออกแบบหลักสูตรที่ตึงเกิน มีข้อกำหนดเยอะไม่ได้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำ คือสอนให้เขาไปต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำอย่างไรให้นักศึกษากลับเข้ามามหาวิทยาลัยได้ง่ายที่สุด อยู่ในมหาวิทยาลัยอย่านานเกินไป ออกไปเจอโลกภายนอกที่เป็นโลกที่แท้จริงอย่างเร็วที่สุด 

 

รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

‘วิทยาลัยสหวิทยาการ’ แหล่งผลิตบัณฑิตสายพันธุ์ใหม่ 

‘วิทยาลัยสหวิทยาการ’ หนึ่งหน่วยสำคัญของธรรมศาสตร์ที่น้อยคนจะรู้ว่า วิทยาลัยนี้เกิดขึ้นมาบนพื้นฐานที่เข้าใจว่าโลกทั้งปัจจุบันและอนาคตต้องการคนที่มีความรู้หลากหลายศาสตร์หรือองค์ความรู้แบบบูรณาการแบบที่คนยุคใหม่พูดกัน ซึ่งเรื่องที่ว่านี้ วิทยาลัยสหวิทยาการพูดมาตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา

 

รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า วิทยาลัยสหวิทยาการ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 โดย ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ตั้งใจจะก่อตั้งขึ้นรองรับหลักสูตรที่คล้ายกับตลาดวิชาของธรรมศาสตร์ในยุคแรก สามารถเลือกช้อปปิ้งได้ว่าอยากเรียนวิชาไหน จึงรื้อฟื้นตลาดวิชาให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้หลากหลายศาสตร์ภายใต้ร่มของวิทยาลัยสหวิทยาการ และเปิดหลักสูตรแรกคือ ‘สหวิทยาการสังคมศาสตร์’ ที่ศูนย์ลำปาง

 

“ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยก็อยากจะเปิดหลักสูตรที่เป็นสหวิทยาการมากขึ้น เพราะเริ่มเข้าใจแล้วว่าบัณฑิตที่จบไปต้องเข้าใจโลกหลายมุมมองมากยิ่งขึ้น เราเองก็ต้องทรานส์ฟอร์มหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย จึงกลายมาเป็น ‘THAMMASAT FRONTIER’ เพิ่มความหลากหลายของรายวิชาทั้งวิชาเอกและวิชาโท เพื่อให้ผู้เรียนเลือกสิ่งที่อยากเรียนได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกการทำงานเปลี่ยน งานเดิมๆ หายไป งานใหม่ต้องการทักษะใหม่ๆ เด็กยุคนี้จึงต้องดีไซน์วิธีการเรียนรู้ของตัวเองได้ว่าเขาจบไปอยากจะทำอาชีพอะไร
 

“ที่น่าสนใจคือ ผู้เรียนสามารถออกนอกประเทศได้ ถ้าคิดว่าการเรียนรู้ในประเทศยังไม่ตอบโจทย์ ทางวิทยาลัยฯ ก็เปิดโอกาสให้ไปเรียนต่างประเทศได้ 1 ปี เพราะเรามีพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Northern Illinois University ที่อเมริกา Toyo University, Waseda University, Nagoya University, Chukyo University ที่ญี่ปุ่น ส่วนที่ไต้หวันก็มี National Chengchi University, National Cheng Kung University และเรากำลังเจรจาอยู่อีกหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรืออยากจะไปฝึกงานในองค์กรต่างประเทศที่สนใจก็ได้” 

 

 

‘ศูนย์ลำปาง’ หมุดหมายแรกของการผลักดันหลักสูตร ‘THAMMASAT FRONTIER’ 

ดร.สายฝน เล่าถึงเหตุผลที่เลือกศูนย์ลำปาง ในการเปิดตัวหลักสูตร ‘THAMMASAT FRONTIER’ เพราะความเหมาะสมในหลายด้าน ทั้งพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มี Social Lab ให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกห้องเรียน มีฐานทรัพยากรสำหรับเรียนรู้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ทั้งห้องประชุม ห้องเรียน Co-Working Space และหอพัก

 

“ใครสนใจอยากจะเรียนหลักสูตรนี้ เมื่อสอบเข้ามาแล้วค่อยเลือกว่าตัวเองสนใจเรียนด้านไหน ทางวิทยาลัยจะเตรียมวิชาเอกและวิชาโทให้เลือกมากมาย จากเดิมที่มี 4 โปรแกรมวิชาเอก ตอนนี้เพิ่มอีก 3 คือ การบูรณาการเพื่อความยั่งยืน, ออกแบบนวัตกรรมสังคม และออกแบบหัตถอุตสาหกรรม ในอนาคตหลักสูตร THAMMASAT FRONTIER อาจจะเปิดเพิ่มที่ท่าพระจันทร์หรือศูนย์รังสิต และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเปิดหลักสูตรสหวิทยาการ ป.โท เพราะตอนนี้เรามี ป.ตรี และ ป.เอก แล้ว” 

 

สำหรับใครที่สนใจแนวคิดการเรียนของวิทยาลัยสหวิทยาการ แต่ลังเลใจไม่อยากไปถึงลำปาง ที่ศูนย์รังสิตมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล ซึ่งไม่มีสอนที่ศูนย์อื่น ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่ได้รับความสนใจมาก เพราะอัตราการแข่งขันในตลาดแรงงานสูง 

 

 

“เป้าหมายของวิทยาลัย คือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักศึกษา ทุกปีจะต้องมีโครงการหรือกิจกรรมมาเสริมทักษะนอกเหนือจากเนื้อหาในหลักสูตร คือนอกจากเขาจะเลือกสิ่งที่อยากเรียน แต่ก็มีบางเรื่องที่สำคัญที่เขาจำเป็นต้องรู้ เช่น ข้อกฎหมายต่างๆ หรือกลุ่มทักษะที่จำเป็นในโลกการทำงาน ทางวิทยาลัยยังมีงบประมาณให้กับนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายทุกคนสำหรับซื้อแพ็กเกจพัฒนาทักษะ Soft Skill ที่เขาอยากรู้เพิ่มเติมและในหลักสูตรเราไม่มีสอน เช่น ภาษาที่สาม การออกแบบสื่อ การทำการตลาดบนโลกออนไลน์

 

“วันนี้ วิทยาลัยสหวิทยาการ จะเป็นหมุดหมายให้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพราะเราเป็นที่แรกในประเทศไทยที่นำวิธีการเรียนแบบบูรณาการหลากหลายศาสตร์เข้ามาใช้และทำให้เกิดผลสำเร็จได้จริง หมายรวมถึงความรู้ในเชิงสหวิทยาการและวิธีคิดในการพัฒนาหลักสูตร แต่ถ้ามองในมิติของการทำหน้าที่เป็นสถาบันที่พัฒนานักศึกษา เรากำลังพัฒนาคนพันธุ์ใหม่ นี่คือโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นมนุษย์ที่เข้าใจโลกที่ซับซ้อน เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เราควรเติมคนพันธุ์ใหม่แบบนี้เข้าสู่สังคมให้มากยิ่งขึ้น” ดร.สายฝนกล่าว

 

‘เชื่อมั่น ชี้แนะ’ สองหลักคิดสร้างเด็กให้ต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กอยากต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รศ.ดร.พิภพ บอกว่า “ต้องเชื่อมั่นในตัวผู้เรียนอันนี้สำคัญที่สุด เรามีระบบเข้ามาช่วย หนึ่งคือทำแบบประเมินเพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร สนใจเรื่องไหน เป็นข้อมูลให้เขาเดินได้ถูกทาง สองคือระบบอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ไม่ใช่อาจารย์แบบเดิมที่เราคุ้นเคยคอยแนะนำทุกเรื่อง ต่อไปนี้เด็กไม่จำเป็นต้องผูกติดกับอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียว สามารถเลือกปรึกษาให้ตรงกับความสนใจ ซึ่งตัวอาจารย์เองก็ต้องเข้าใจบทบาทใหม่ จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคนสั่งสอนดาวน์โหลดความรู้ให้เด็กทั้งหมดแล้ว แต่จะเป็นไกด์ คอยแนะแนวทาง อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ให้เด็กเดินไปได้ด้วยตัวเอง ถ้ายังเริ่มต้นด้วยวิธีการเดิมๆ เขาจะคิดว่าครูเป็นผู้ให้ เขาคือผู้รับ แต่ถ้าทำให้เขารู้แต่แรกว่าคนที่ต้องคิดและตัดสินใจคือตัวเขาเอง จากนั้นเขาจะเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง”

 

รศ.ดร.พิภพ อธิบายต่อว่า หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้คือ “ต้องทำให้คนเติบโตเต็มศักยภาพของตัวเอง ไม่ใช่เป็นไปตามกรอบที่เราวาง 

 

“เด็กแต่ละคนมาด้วยพื้นฐานต่างกันและไปไกลไม่เท่ากัน เราจะไปวางกรอบไม่ได้ หน้าที่ของเราคือดันคุณไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ศักยภาพของคุณมี นี่คือวิธีคิดใหม่ของการศึกษา ปัจจุบันแหล่งข้อมูลการเรียนรู้อยู่รอบตัวผู้เรียน เราจะไปบอกว่าถ้าเราไม่สอนเด็กจะไม่รู้ไม่ได้แล้ว หลายเรื่องเด็กรู้ก่อนเรา เขาหาข้อมูลได้เร็วกว่าด้วย เด็กจะเป็นผู้พัฒนาความรู้ บางเรื่องสอนเพื่อให้เขาพอมีความรู้แล้วไปต่อยอดเอง บางเรื่องแค่ไกด์ ต้องกระตุ้นให้เขาอยากรู้อยากเห็น กระบวนการเรียนรู้จึงไม่มีรูปแบบเดียวอีกต่อไป” 

 

 

‘สร้างผู้สอน’ ให้กลายเป็นผู้สร้างบุคลากรพร้อมใช้ให้กับประเทศ

สำคัญกว่าหลักสูตรคือ ‘บุคลากร’ ธรรมศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีแนวคิดและวิธีการสอนที่สอดคล้องไปกับรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป 

 

“ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยจะมีการอบรมอาจารย์ผ่านหลักสูตรต่างๆ เช่น การออกแบบกระบวนการเรียนการสอน ทำอย่างไรถึงจะระเบิดพลังของผู้สอนและผู้เรียนออกมา โดยให้คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์เป็นวิทยากร หรือหลักสูตรที่ใช้วิธีคิดแบบเธียเตอร์ แทนอาจารย์เป็น Performer จะตรึงผู้ฟังให้คล้องตามไปกับเขาได้อย่างไร โดยที่อาจารย์ยังต้องบทบาทของตัวเองในห้องเรียนด้วย เพราะสิ่งที่อยู่ในห้องเรียนมันกระทบกับตัวผู้เรียนและหลายเรื่องมันติดตัวเขาไปยาวนาน” 

 

นอกจากนั้นยังมีคอร์สที่สอนแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ‘Active Learning’ ออกแบบอาจารย์ให้รู้วิธีการสอนแบบ Active Learning ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องออกแรงในการคิด วิเคราะห์ และค้นคว้า 

 

“อีกหลักสูตรที่ใช้กันเยอะและได้ผลลัพธ์ที่ดีคือ Service Learning เป็นการนำโจทย์ของชุมชนเป็นตัวตั้ง ให้ผู้เรียนทำโปรเจกต์เพื่อตอบโจทย์ชุมชน ผู้เรียนต้องบูรณาการความรู้หลากหลาย ได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหาจริง มีคนได้รับประโยชน์จริง เราก็นำโมเดลนี้มาสร้างเป็น ‘ธรรมศาสตร์โมเดล’ แนวคิดคล้ายกันคือ นำปัญหาของสังคม ชุมชน วิสาหกิจชุมชนเป็นตัวตั้ง และให้อาจารย์กับนักศึกษาออกไปเสนอวิธีการแก้ปัญหา โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในชุมชนนั้นๆ และ Corporate Partner เป้าหมายการทำงานต้องทำให้เกิด 2S คือ Significant เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และ Sustainable ต้องเดินหน้าต่อได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน”

 

‘พาร์ตเนอร์’ ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้ความหลากหลายสมบูรณ์แบบ 

ต่อจากเรื่องการพัฒนาบุคลากร ธรรมศาสตร์ ยังมองเห็นความสำคัญของการมีพาร์ตเนอร์ รศ.ดร.พิภพ มองว่า “มหาวิทยาลัยไม่ได้เก่งทุกเรื่อง และไม่สามารถจ้างคนเก่งทั้งหมดมาอยู่กับเราได้ แต่สามารถร่วมมือและใช้ความเชี่ยวชาญจากบุคลากรภายนอกได้ เราจึงมีองค์กรพันธมิตรภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม สมาคมต่างๆ รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ เข้ามาร่วมกับเราเรื่องการเรียนการสอน การให้นักศึกษาฝึกงาน การให้ทุนศึกษาและวิจัย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดด้านวิชาชีพ ซึ่งการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัย องค์กรเหล่านั้นจะเกิดจิตสำนึกในการสร้างคุณค่าให้กับสังคมในเรื่องของการพัฒนาผู้คน เพราะหลักใหญ่ของเราไม่ใช่เรื่องการเรียนการสอน แต่เป็นการพัฒนาคนให้กับประเทศ ให้กับโลก

  

“ตอนนี้เราขอความร่วมมือทุกหลักสูตรมี Corporate Partner และต้องระบุให้ชัดว่าพาร์ตเนอร์แต่ละรายให้ความร่วมมือด้านไหน ดังนั้นภายใต้ความหลากหลายจึงไม่เหมือนกันในแต่ละหลักสูตร เพราะต้องทลายกำแพงห้องเรียน ให้เด็กออกไปเรียนรู้ข้างนอก ทลายกำแพงมหาวิทยาลัยไปร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ” 

 

 

เป้าหมายคือการพัฒนาคนให้กับประเทศ 

รศ.ดร.พิภพ บอกว่า การสร้างหลักสูตรใหม่โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การปั้นบุคลากรที่ครบเครื่อง และการจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อเสริมแกร่งความสามารถ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะพัฒนาคนให้กับประเทศ และไม่จำกัดแต่เฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่ยังมองไกลถึงคนไทยที่ใฝ่เรียนรู้ทุกคน

 

“ตอนนี้เรามีเรื่องของการทำ Credit Bank สามารถสะสมหน่วยกิตได้ เมื่อครบตามที่กำหนดก็สามารถยื่นขอรับปริญญา เราเปิดโอกาสให้เด็กที่ไปทำวิจัย แข่งขัน สร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือจดอนุสิทธิบัตร สามารถนำเรื่องเหล่านี้มายื่นขอเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้หมด เพราะการเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนอีกต่อไป อะไรก็ตามที่สะท้อนการเรียนรู้และมหาวิทยาลัยประเมินแล้วว่าคุณได้ประโยชน์ มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญและทักษะในด้านนั้นๆ มากขึ้น เทียบเป็นหน่วยกิตได้หมด” 

 

คำถามคือ ระหว่างนักศึกษาที่สร้างนวัตกรรมกับคนที่แข่งอีสปอร์ตจะแปลงค่าหน่วยกิตให้เท่าเทียมกันอย่างไร รศ.ดร.พิภพ บอกว่า เมื่อศาสตร์ต่างกัน จึงกระจายอำนาจไปที่คณะกรรมการในแต่ละคณะตั้งกฎเกณฑ์และประเมินค่าทักษะนั้นๆ ได้เอง 

“จุดเด่นอีกอย่างของ Credit Bank คือคนไทยทุกคนสามารถเรียนรู้และเก็บหน่วยกิตได้โดยยังไม่ต้องเป็นนักศึกษาของเรา ผ่าน E-Learning ในชื่อ TUXSA (ทักษะ) อย่างเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายก็สามารถเก็บหน่วยกิตไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาเทียบโอนหน่วยกิตก็ทำให้เขาจบเร็วขึ้น ไม่ต้องอยู่ในมหาวิทยาลัยนาน หรือคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลามาเรียนต่อ แต่มีเวลาเป็นช่วงๆ ก็เก็บสะสมหน่วยกิตไป เมื่อไรที่เรียนและสอบตามเงื่อนไขถึงจะสมัครเป็นนักศึกษาได้ แต่ถ้าเรียนเพื่ออยากเพิ่มความรู้ จะเรียนไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตก็ได้

 

“นี่คือวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของ Lifelong Learning ที่จะมาช่วยตอบโจทย์โลกอนาคตให้คนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตามเงื่อนไขและจังหวะชีวิต โดยธรรมศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนที่มีศักยภาพต่อไป” รศ.ดร.พิภพ กล่าวทิ้งท้าย 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X