พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ล่าสุดสามารถลำเลียงออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ได้แล้ว 8 คน ว่า ผู้บัญชาการ ศอร. จะร่วมประชุมกับชุดปฏิบัติงานทั้งหมด ทั้งไทยและผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ เพื่อสรุปการทำงานตลอด 2 วันที่ผ่านมา และนำปัญหาอุปสรรคมาปรับปรุงสำหรับแผนงานที่จะเข้าไปช่วยเหลืออีก 5 คน ที่ยังติดอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งช่วงเช้าวันนี้จะประเมินสถานการณ์ก่อนจะดำเนินการ
ทั้งนี้ยอมรับว่า ขณะนี้ยังถือเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจึงต้องซักซ้อมทุกอย่าง เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องท่ออากาศ ซึ่งยังคงใช้ชุดปฏิบัติการนักดำน้ำชุดเดิม เพราะมีความชำนาญการเข้า-ออกภายในถ้ำ ไม่อยากเปลี่ยนทีม เพราะอาจมีข้อขัดข้องเกิดขึ้นได้ ส่วนปฏิบัติการที่ช่วยเหลือครั้งละ 4 คนนั้น เป็นเหตุผลเรื่องความคล่องตัวของนักดำน้ำ เนื่องจากระยะเวลาไป-กลับใช้เวลานาน รวมถึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักดำน้ำและทีมหมูป่าด้วย ส่วนวันนี้จะช่วยได้กี่คนต้องประเมินกันอีกครั้ง
ส่วนกรณีที่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX แคปซูล หรือเรือดำน้ำจิ๋ว ได้นำทีมพร้อมอุปกรณ์มาช่วยเหลือไทยนั้น พล.อ. อนุพงษ์ บอกว่า เมื่อวานนี้ระหว่างการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ก็ได้พูดคุยกับ อีลอน มัสก์ แล้ว ใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง และให้ความสนใจรวมถึงสอบถามถึงวิธีการทำงาน ซึ่ง อีลอน มัสก์ ได้อธิบายวิธีการที่นำมาใช้ให้ความช่วยเหลือ จากนั้นได้เดินทางเข้าพื้นที่ เพื่อสำรวจสภาพภายในถ้ำ พร้อมบอกว่า จะทิ้งอุปกรณ์ช่วยเหลือไว้ให้กับชุดปฏิบัติการ และจะกลับมาประเทศไทยอีกครั้ง ส่วนจะมีการใช้อุปกรณ์หรือไม่ใช้นั้น อยู่ที่การพิจารณาของ ผบ.ศอร. ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติในพื้นที่
พล.อ. อนุพงษ์ ยังได้ขอบคุณความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่ส่งอุปกรณ์มาร่วมช่วยเหลือภารกิจครั้งนี้ ที่แสดงเจตนาไม่รับเงินเยียวยาความเสียหายนาข้าวที่ถูกน้ำท่วม เพราะถือว่าความเสียหายครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือชีวิตของลูกหลานเอาไว้ แต่โดยระเบียบก็จะมีการพิจารณาชดเชยความเสียหาย 1113 ต่อไร่ รายละไม่เกิน 30 ไร่ ตามเกณฑ์ของระเบียบกระทรวงการคลัง รวมถึงจะมีการนำเมล็ดพันธ์ุพืชไปแจกให้กับชาวนาด้วย
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงแผนการกู้ภัยและการบริหารจัดการ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ จะได้มีการทำข้อสรุปเพื่อนำมาเป็นโมเดลที่จะไปใช้ในภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ต่อไป โดยเฉพาะการช่วยเหลือภายในถ้ำ ขณะเดียวกันกองทัพเรือเองก็จะส่งหน่วยซีลไปอบรม เพื่อหาประสบการณ์เรื่องการดำน้ำในถ้ำเพิ่มเติม เพราะหลักสูตรการดำน้ำที่เรียนมามีความแตกต่างกัน ซึ่งย้ำว่า แผนการกู้ภัยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่หลายคนยอมรับว่าไม่เคยมีภารกิจที่มีความยากลำบากมากที่สุด และทุกคนทั่วโลกพร้อมใจกันส่งบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมช่วยเหลือ ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และเตรียมนำการกู้ภัยมาศึกษาและถอดบทเรียนอยู่ในแผนป้องกันสาธารณภัย