วันนี้ (16 กรกฎาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล พงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการพ้นโทษของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ และตามกำหนดแล้วทักษิณจะครบกำหนดพ้นโทษในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นจะมีหมายปล่อยจากศาล และจะได้รับใบบริสุทธิ์ และไม่มีเงื่อนไขใด เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ทักษิณถูกศาลฎีกาแจ้งคำพิพากษาจำคุกทักษิณรวม 8 ปี จาก 3 คดี ได้แก่ คดีสั่งการให้ EXIM BANK ปล่อยกู้, คดีหวยบนดิน และคดีแก้ไขสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หลังการเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566
หลังจากนั้นถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้แยกคุมขังเดี่ยวที่แดน 7 เหตุเพราะว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง มี 4 โรค ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะเกี่ยวกับปอด ความดันโลหิตสูง และภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ เช้าวันต่อมากรมราชทัณฑ์แถลงว่า ได้ส่งทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในช่วงกลางดึกเวลา 00.20 น. เนื่องจากมีอาการแน่นหน้าอก
จากนั้นวันที่ 1 กันยายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ จาก 8 ปีเหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี
จากนั้นเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้รับการพักโทษภายใต้คุณสมบัติคือ มีเหตุพิเศษ เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป, มีการจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และต้องปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไข 8 ข้อของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ. 2560