×

เปิดสำนวน ‘ทักษิณ’ ฟ้องหมิ่น ‘ชวน’ กล่าวหาปมไฟใต้ เผยอัยการได้รับสำนวนจากตำรวจ 8 วันก่อนหมดอายุความ

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2022
  • LOADING...
ทักษิณ ชินวัตร

วันนี้ (26 ตุลาคม) ธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันให้ข้อมูลคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ นำตัว ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยื่นฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาฯ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่า

 

คดีนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 2154/2555 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ระหว่าง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้นก่อนถูกถอด) อดีตนายกรัฐมนตรี โดย นรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวหา ชวน หลีกภัย ผู้ต้องหาฐานความผิดหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน จากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล (สน.) วัดพระยาไกร โดยเหตุดังกล่าวเกิดที่แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางข้อหา โดยมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 (1) นั้น

 

สำหรับคดีดังกล่าวจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ชวรัตน์ วงศ์ธนะบูรณ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ รักษาการในตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 พิจารณาสำนวนการสอบสวนอย่างละเอียด รอบคอบ และเนื่องจากคดีนี้ผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและเป็นคดีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสารมวลชน จึงเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั่วไป ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 4, 30 และ 141

 

หลังจากพิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จึงได้เสนอให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณา ซึ่งได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง ชวน หลีกภัย ผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 มาตรา 3 และ 4 

 

มีคำสั่งไม่ฟ้องในความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1)

 

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ชวน หลีกภัย ได้เดินทางมาพบ ประกิต กิตอำนวยพงษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 จากนั้นจึงได้นำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

 

ภายหลังยื่นฟ้องศาลสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี และนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 16 มกราคม 2566 เวลา 09.00 น.

 

โกศลวัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่าคดีนี้พนักงานอัยการได้รับสำนวนในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ก่อนหมดอายุความในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เพียง 8 วัน อัยการได้มีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยไม่รอช้า รีบเร่งพิจารณาสำนวนให้สมบูรณ์ครบถ้วนก่อนมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีวันหยุดราชการอีกสามวัน และนำตัวยื่นฟ้องศาลได้ทันก่อนหมดอายุความ ซึ่งชวนเองก็เดินทางมาฟังคำสั่งตามนัดของพนักงานอัยการ เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเดินทางไปศาลด้วยตนเองอย่างไม่มีการประวิงเวลาเพื่อรออายุความหมด ซึ่งก็ถือว่าเป็นการยึดหลักการเคารพกฎหมายชัดเจน โดยทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

 

มีรายงานว่าสำหรับคำฟ้องอัยการระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2555 เวลากลางวัน จำเลยได้หมิ่นประมาท พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ผู้เสียหาย โดยจำเลยได้บรรยายในงานเปิดงานโรงเรียนการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมรามาดาพลาซา แม่น้ำ ริเวอร์ไซด์ ถนนเจริญกรุง แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อความเป็นการใส่ความผู้เสียหายว่า

 

“…รูปแบบการปกครองทุกอย่างต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการปกครองของประเทศไทยให้โอกาสมาก บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราต้องทำ คนไทยมีศักยภาพ แต่เรามีจุดอ่อนที่นักการเมืองโกง ซึ่งมาจากธุรกิจการเมืองและอุปสรรคของประชาธิปไตย คือการยึดอำนาจระบอบประชาธิปไตย อำนาจประชาธิปไตยจะใช้ผ่านองค์กร สถาบัน ทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ โดยมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาจึงเกิดองค์กรอิสระขึ้นมา เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เมื่อระบบทักษิณเกิดขึ้นก็ใช้วิธีการนอกกฎหมาย สำหรับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันเป็นเพราะนโยบายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดภายในสามเดือนนั้นทั้งที่ขณะนั้นไฟใต้มอดแล้วในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีกลับใช้คำว่าโจรกระจอก และมียกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หันมาใช้นโยบาย ‘ฆ่าหมดก็จบ’ ตรงนี้คือที่มาของการนองเลือดในปัจจุบันนี้…”

 

ต่อหน้าผู้ร่วมเข้าฟังการบรรยาย นักข่าวและสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เห็นและอ่านข่าว

 

ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อให้นักข่าวและสื่อมวลชนทั้งหลายนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ออกอากาศ กระจายเสียง และตีพิมพ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ไปทั่วราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะทำให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร

 

ชั้นสอบสวนจําเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัว ได้ส่งตัวจำเลยมาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X