แม้ว่าขณะนี้จะยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างเป็นทางการ
แต่เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยสามารถเก็บชัยชนะในสนามเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ 10 ที่นั่ง จากที่ส่งผู้สมัครทั้งหมด 16 คน และเมื่อรวมกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าอีก 10 ที่นั่ง รวม 20 ที่นั่ง
สิ่งที่หลายคนโฟกัสอาจไม่ใช่แค่เพียงตัวเลข กลับกันทุกสายตามุ่งตรงไปยัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่เดินสายทุ่มสุดตัวลุยปราศรัยถึง 28 เวที 10 จังหวัด โดยเฉพาะเชียงใหม่ จังหวัดบ้านเกิดที่จัดขึ้นถึง 6 เวที การันตีเน้นๆ ว่าแพ้ไม่ได้
ส้มกินแดง ชนะเพียง 1 แต่สะเทือนทั้งปฐพี
“พี่น้องครับวันนี้ใส่เสื้อแดงรับวันตรุษจีน ตรุษจีนต้องกินส้มใช่ไหม วันนี้ผมตั้งใจใส่เสื้อแดงมากินส้มเต็มที่นะ เผลอไปแป๊บเดียววันนี้โดนส้มกิน…พรรคเพื่อไทยส่ง 14-16 จังหวัด อบจ.เชียงใหม่ พี่น้องจะให้ยกทีมหรือไม่ ลงคะแนนอย่าขี้เหนียวใส่เต็มๆ ไปเลย เพื่อไทยอย่างเดียว พรรคอื่นไม่เอา” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำปราศรัยของทักษิณที่แสดงให้เห็นถึงความกังวลว่าคะแนนส่วนหนึ่งจะถูกเทไปยังพรรคประชาชน
ซึ่งผลปรากฏในหลายจังหวัด โดยเฉพาะที่ทักษิณไปปราศรัยก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ชนะแต่ไม่ขาดลอย’ บางจังหวัดห่างเพียงหลักพัน และแม้บางจังหวัดคะแนนนำทิ้งห่างหลักหมื่นหรือหลักแสน แต่บางส่วนกลับพ่ายให้กับผู้สมัครอิสระ รวมถึงผู้สมัครเครือข่ายสีน้ำเงิน เช่น จังหวัดเชียงราย สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภา ยังไม่สามารถโค่น อทิตา วันไชยธนพงศ์ ผู้สมัครอิสระ
ขณะเดียวกันลำพูน จังหวัดคาดหมายของพรรคเพื่อไทย ก็แพ้ให้กับ วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครจากพรรคประชาชนที่คะแนนนำมารวดเดียวจบตั้งแต่ปิดหีบ
แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งรอบนี้ แต่ดูเหมือนว่าตำแหน่งนายก อบจ.ลำพูนเพียงหนึ่งเดียวของพรรคประชาชนจะสร้างรอยร้าวให้กับวัฒนธรรมบ้านใหญ่ของการเมืองท้องถิ่นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเน้นชูนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจุดขาย จัดให้มีการตรวจสอบใช้จ่ายงบประมาณอย่างเข้มข้น
เมื่อรวมกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่ได้ถึง 132 คน จาก 33 จังหวัด ยิ่งตอกย้ำความคิดของประชาชนที่เริ่มเปลี่ยนไป
สถิติเปิดเวที 10 จังหวัด แต่เก็บแต้มไม่ครบ
ทักษิณเปิดตัวในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี
โดยย้ำถึงเหตุผลหลักในการโดดลงมาร่วมในเวทีการเมืองท้องถิ่นว่าเป็นการเชื่อมต่อกับการเมืองภาพใหญ่ ตามที่ทักษิณระบุว่า “ทำไมผมถึงมาบุก อบจ. การเมืองท้องถิ่น เพราะว่าผมต้องการเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น…เลือกตั้งครั้งหน้าเพื่อไทยจะมาอันดับ 1 หนักๆ คะแนน 200 ปลายๆ”
เมื่อรวมข้อมูลแล้วพบว่าทักษิณเดินสายปราศรัยหาเสียงไปทั้งสิ้น 28 เวที 10 จังหวัด ได้นายก อบจ. มา 6 ที่นั่ง จาก 10 ที่นั่ง
- 13-14 พฤศจิกายน 2567: อุดรธานี 3 เวที (ชนะ)
- 11 ธันวาคม 2567: อุบลราชธานี 1 เวที (ชนะ)
- 23-24 ธันวาคม 2567: เชียงใหม่ 4 เวที (ชนะ)
- 5 มกราคม 2568: เชียงราย 3 เวที (แพ้)
- 18 มกราคม 2568: นครพนม 3 เวที (ชนะ)
- 19 มกราคม 2568: บึงกาฬ 1 เวที (แพ้) และหนองคาย 1 เวที (ชนะ)
- 20 มกราคม 2568: มหาสารคาม 3 เวที (ชนะ)
- 24-25 มกราคม 2568: ศรีสะเกษ 4 เวที (แพ้)
- 29 มกราคม 2568: หาเสียงซ้ำเชียงราย 2 เวที
- 29-30 มกราคม 2568: หาเสียงซ้ำเชียงใหม่ 2 เวที
- 30 มกราคม 2568: ลำพูน 1 เวที (แพ้)
ชัยชนะหรือมนตร์เสื่อม
สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้คือ มนตร์ขลังของทักษิณเสื่อมลงหรือไม่ จากปรากฏการณ์กวาดชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งระดับประเทศ มาสู่การสู้ยิบตาในการเลือกตั้งท้องถิ่น
โดยเฉพาะกับเครือข่ายพรรคสีน้ำเงินอย่างภูมิใจไทย คู่แข่งสำคัญที่จ่อท้ายมาติดๆ (พรรคเพื่อไทยได้นายก อบจ. 20 ที่นั่ง เครือข่ายภูมิใจไทย 19 ที่นั่ง)
ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากดูผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการจะพบว่า พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ แชมป์เก่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ 379,341 คะแนน ทิ้งห่างจาก พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครจากพรรคประชาชนที่ได้ 358,386 คะแนน เพียงสองหมื่นกว่าคะแนน ทั้งๆ ที่การปราศรัยในเชียงใหม่นับว่าถี่รัวๆ มากกว่าที่ใด และยังเป็นจังหวัดบ้านเกิด พื้นที่สีแดงของทักษิณ
ส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่สีน้ำเงินเข้มข้นที่ทักษิณยังไม่สามารถล้มแชมป์เก่า นายกส้มเกลี้ยง-วิชิต ไตรสรณกุล บ้านใหญ่แห่งภูมิใจไทยได้ แถมยังมีภาพที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รับมอบปี๊บคืนจากบ้านใหญ่หลังรู้ผลเลือกตั้ง สะท้อนว่าแคมเปญไล่หนูตีงูยังไม่สามารถดึงคนให้ย้ายฝั่งมาอยู่กับเพื่อไทยได้
เปรียบเหมือนมนตร์วิเศษที่ยังไม่ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะมัดใจคนได้
เบื้องหลังสนามท้องถิ่น อบจ.
สิ่งที่หลายคนเห็นชัดในทุกเวทีของทักษิณคือ ลีลาการปราศรัยที่ดุเดือด พร้อมวลีตอกย้ำว่า “ทักษิณกลับมาแล้ว” และเกิดการตั้งคำถามมากมายว่า “ทักษิณพูด รัฐบาลทำ” ครอบงำหรือไม่ เพราะทุกอย่างที่ทักษิณเอ่ยในการปราศรัย มักจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลหยิบยกมาสานต่อจนเกิดเป็นนโยบาย
แต่ประเด็นนี้ก็ถูกปัดตกไป เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องข้อหาดังกล่าว
นอกจากการประกาศตัวว่าเป็น สทร. หรือ ‘เสือกทุกเรื่อง’ กลางเวทีของทักษิณแล้ว เวทีปราศรัยยังถูกใช้ทดสอบพลังของทักษิณ ในการดึงบ้านใหญ่ให้กลับมาแต้มสีเลือดให้เข้มข้นอีกครั้ง หากดึงหัวคะแนนจากสีอื่นมา และล้มค่ายสีน้ำเงินอย่างภูมิใจไทยได้ก็ยิ่งเป็นแต้มต่อในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2570
เช่น ‘กลุ่มผึ้งหลวง’ จากหลายบ้านใหญ่จังหวัดนนทบุรี ที่เกือบจะย้ายค่ายไปอยู่สีส้ม, ดึง ‘ตระกูลสะสมทรัพย์’ จังหวัดนครปฐม กลับเข้าค่ายเพื่อไทย ฯลฯ นอกจากนี้การปราศรัยบางส่วนยังเน้นในจังหวัดลูกน้องเก่าที่กระจัดกระจายไปอยู่พรรคอื่นด้วย
เพื่อรวมขุนพลสู้สนาม สส. เขต 400 ที่นั่ง สู้กระแสของพรรคประชาชนที่แม้จะมีโอกาสถูกยุบพรรคแต่ความนิยมที่ยังดีไม่มีตก ทักษิณจึงต้องพยายามให้มากที่สุดในการรวมพลจากทุกค่ายมาสะสมไว้ที่พรรคเพื่อไทย
เมื่อมีบ้านใหญ่เป็นฐาน เส้นทางสู่ทำเนียบในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทยคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป