วันนี้ (13 พฤษภาคม) สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภา มีมติลงโทษ 3 แพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชั้น 14 ที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า ยังไม่ได้รับหนังสือจากแพทยสภา ถ้ามีมติของแพทยสภาส่งมาถึงตนให้รับทราบก็จะดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นความสนใจของประชาชน อีกทั้งต้องดูว่าผู้ที่ถูกลงโทษจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ทั้งนี้ตนได้รับการประสานจากผู้ช่วยรัฐมนตรี ว่า พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ 1 ในแพทย์ที่ถูกลงโทษ จะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม และหากได้รับหนังสือขอความเป็นธรรมแล้ว ก็ต้องดูว่าจะทำอะไรต่อ ให้เกิดความกระจ่าง ให้สังคมได้รับทราบ โดยเมื่อมติของแพทยสภามาถึงตนก็จะมีเวลา 15 วันในการพิจารณา ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่กดดัน
ส่วนกระแสข่าวที่สมศักดิ์เป็นรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลก็นำโดยแพทองธาร ชินวัตร จะมีใบสั่งมาให้เห็นชอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หรือมีมติสวนทางกับแพทยสภา สมศักดิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องทำอย่างละเอียดมาก เพราะตนทำงาน อยู่ในวงการการเมืองมาตั้งแต่ปี 2526 เป็นสส.ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 40 กว่าปี หากอะไรที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล ตนไม่กล้าที่จะทำ ขอให้สบายใจได้ และอะไรที่เปิดเผยได้ ถึงเวลาจะเปิดเผยให้ฟังทั้งหมด ถ้าเราตรงไปตรงมาก็ไม่กลัว ก็ไม่เคยกลัวตลอดชีวิตนักการเมือง
ด้าน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ยังไม่เห็นรายงานมติแพทยสภา แต่คาดว่า แพทย์ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือนเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ส่วนเรื่องของระเบียบกรมราชทัณฑ์เป็นกฎหมายที่เพิ่งออกมาใหม่ ซึ่งต้องดูกฎหมายเก่าประกอบด้วย มั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมทำตามกฎหมายและทำเช่นนี้มาโดยตลอด ทั้งนี้กรณีผู้ต้องขังป่วยโรคเฉพาะทางใช้หลักที่ว่า หากเป็นโรคที่สถานพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการรักษา ก็จะส่งไปรักษาโรงพยาบาลภายนอก และยังถือเป็นที่คุมขังสถานที่หนึ่ง คือควบคุมดูแลไม่ให้หลบหนี หรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน
เมื่อถามว่าหลังจากแพทยสภา มีมติออกมาแล้ว ต้องมีหน่วยงานใดรับผิดชอบหรือไม่ พ.ต.อ. ทวีกล่าวว่า ขอดูเนื้อหารายละเอียดก่อน ส่วนที่แพทยสภาระบุว่าไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ทักษิณป่วยวิกฤตนั้นยังไม่ได้ยิน ยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้กับตน และแพทยสภาไม่ได้พูดอย่างนั้น
ส่วนจะมีการยื่นอุทธรณ์มติแพทยสภาหรือไม่ พ.ต.อ. ทวี กล่าวว่า เราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากเห็นว่ามีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องและชอบธรรมสามารถร้องเรียน ผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ได้ อย่างไรก็ตามขอชี้แจงว่าพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ได้ผ่าน การพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้นำบทบัญญัติในมาตรา 246 มาเทียบกับมาตรา 55 และเห็นว่าไม่ขัดกันแล้ว และรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองผู้ต้องราชทัณฑ์ เพราะถือเป็นประชาชน