วันนี้ (12 ธันวาคม) มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ส่งถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด
โดยมีเนื้อหา ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
มีใจความสำคัญ ระบุว่า สถานที่คุมขัง หมายความว่า สถานที่คุมขังตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์, ผู้กำกับสถานที่คุมขัง หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำที่ทำหน้าที่กำกับสถานที่คุมขัง, ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง หมายความว่า
- ข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และรับผิดชอบผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขัง หรือ
- เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง ซึ่งได้ให้ความยินยอมและยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่รวมถึงคำแนะนำของเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ คณะทำงาน หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์
โดยในส่วนที่น่าสนใจคือ
หมวดที่ 1 สถานที่คุมขัง ข้อที่ 6 การคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังให้สามารถทำได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์และในสถานที่คุมขัง ดังต่อไปนี้
- การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง โดยคุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ
- การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย โดยคุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม สถานที่ทำการหรือสถานประกอบการของเอกชน สถานที่ทำการของมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน
- การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง โดยคุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
- การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
ทั้งนี้ สถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- กรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
- กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สามารถระบุตำแหน่งของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวว่าอยู่ตำแหน่งใดของอสังหาริมทรัพย์ และอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้นต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
- สามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ การกำหนดและการยุบเลิกสถานที่คุมขังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ หมวดที่ 2 คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง ในข้อ 8 ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์
- ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่า ควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล โดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้
- มีคุณสมบัติเฉพาะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์
ส่วนการพิจารณาผู้ต้องขังของประกาศฯ มีการระบุไว้ว่า การให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ ให้คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนดำเนินการคัดกรอง แล้วเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำ
โดยคณะทำงานพิจารณาเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบกัน
- ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่
- พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ
- ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ
- ความเสี่ยงในการหลบหนี
- ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน
- ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง
- ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง
- ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องยึดตามเอกสารที่เรือนจำเสนอ
อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับนี้ถูกหลายภาคส่วนจับตาเป็นพิเศษว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักโทษรับโทษได้โดยไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำ
โดยมีการเทียบเคียงกับกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังถูกย้ายตัวมารักษาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังถูกควบคุมตัวในช่วงเย็นของวันเดียวกัน
ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ทักษิณอยู่นอกเรือนจำรวมเวลาแล้ว 112 วัน