×

ผลสำรวจพบ 84% ของคนไทยยอมรับว่า ‘ใช้ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน’ สะท้อนการเปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย

25.10.2024
  • LOADING...

‘เงินทองเป็นของนอกกาย ความสุขวันนี้สำคัญกว่า’ สุภาษิตโบราณที่กำลังกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้บริโภคไทยยุคใหม่ หลังผลสำรวจล่าสุดจากอิปซอสส์ชี้ชัด คนไทยพร้อมทิ้งการวางแผนระยะยาว หันมาใช้ชีวิตเพื่อความสุขในปัจจุบันขณะมากขึ้น 

 

โดยสูงถึง 84% ของคนไทยยอมรับว่า ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดา 50 ประเทศที่สำรวจ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทัศนคติที่มีต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย

 

จากการเปิดเผยผลวิจัยชุดใหญ่ ‘Ipsos Global Trends 2024’ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้คนกว่า 50,000 คนทั่วโลก ครอบคลุมถึง 74% ของประชากรโลก และ 90% ของ GDP โลก เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผู้บริโภคไทย ที่ไม่เพียงแค่หันมาให้ความสำคัญกับความสุขในปัจจุบัน แต่ยังพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทั้งในโลกความจริงและโลกเสมือน 

 

โดย 65% ของคนไทยยอมรับว่า ชอบซื้อสินค้าหรือประสบการณ์ที่จะทำให้พวกเขาดูดีในภาพที่โพสต์ออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล

 

ปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองคือ พฤติกรรมการเสพติดอินฟลูเอ็นเซอร์ของคนไทยที่สูงถึง 58% มักซื้อสินค้าหรือบริการตามคำแนะนำของอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ติดตาม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ 44% อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การตลาดแบบเดิมๆ และบ่งชี้ว่า การตลาดผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์กำลังกลายเป็นช่องทางสำคัญที่แบรนด์ไม่อาจมองข้ามได้

 

ในด้านเทคโนโลยี คนไทยแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการรับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะ AI ที่ติดอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินโดนีเซีย โดย 73% ของคนไทยยอมรับว่า AI เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างมากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา 

 

และมีความคาดหวังเชิงบวกว่า AI จะช่วยพัฒนาด้านความบันเทิงและการประหยัดเวลาให้ดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านตัวเลือกความบันเทิง (67%) และการประหยัดเวลาในการทำงาน (65%)

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะรับเทคโนโลยีเร็ว แต่คนไทยกลับไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกและรวดเร็วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดย 73% รู้สึกว่าการบริการลูกค้าถูกทำให้เป็นระบบอัตโนมัติมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer ที่ 81% ต้องการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าแชตบอต 

 

ตามมาด้วย Gen X (75%), Millennials (74%) และ Gen Z (66%) สะท้อนให้เห็นว่า การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการบริการแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ 55% ของคนไทยรู้สึกว่าบริษัทต่างๆ ไม่สามารถส่งมอบประสบการณ์ได้ตามที่สัญญา และ 74% พร้อมที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่ดีกว่า นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้บริโภคไทยกำลังเรียกร้องมาตรฐานการบริการที่สูงขึ้นและพร้อมจะจ่ายเพื่อสิ่งนั้น เปิดโอกาสให้แบรนด์ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

ในประเด็นด้านความยั่งยืน คนไทยกลับมองไกลกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการยุติความยากจน, ลดความเหลื่อมล้ำ, การศึกษาที่มีคุณภาพ และการจ้างงานที่มีคุณค่า มากกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและธรรมาภิบาลมากกว่าสิ่งแวดล้อม 

 

แต่ที่น่าสนใจคือ 89% ของคนไทยเชื่อว่า พวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะที่ 79% มองว่า บริษัทต่างๆ ยังทำไม่มากพอ

 

ความท้าทายที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์คือ การรับมือกับผู้บริโภคที่มีความต้องการซับซ้อนและขัดแย้งในตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วจากเทคโนโลยี แต่ก็ยังคงต้องการความเป็นมนุษย์ในการบริการ ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล แต่ก็อยากได้ประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ อีกทั้งยังพร้อมจ่ายแพงขึ้นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า แต่ก็มีความคาดหวังสูงต่อการทำเพื่อสังคมของแบรนด์

 

ในท้ายที่สุดสิ่งที่ชัดเจนคือ ยุคของการทำการตลาดแบบ One-Size-Fits-All กำลังจะหมดไป แบรนด์ที่จะอยู่รอดต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว ผสานเทคโนโลยีเข้ากับความเป็นมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน 

 

และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพราะนี่คือสมการใหม่ของความสำเร็จในโลกที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่สินค้าและบริการ แต่ต้องการประสบการณ์ที่มีความหมายและคุณค่ามากกว่าที่เคย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising