“ผู้หญิงที่นี่สานเสื่อกระจูดเป็นกันทุกคน แต่เมื่อก่อนเราไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน”
หนึ่งเสียงของชาวบ้านจากกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่บอกเล่าถึงภาพชีวิตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ชาวชะอวดบางส่วนยังคงมีฐานะยากจน และมีการทำมาหาเลี้ยงชีพเพียงไม่กี่อย่าง
ท่ามกลางสภาพพื้นที่ลุ่มประสบปัญหาฝนแล้งและน้ำท่วมสลับกันตลอดทั้งปี มีเพียง ‘กระจูด’ พืชพื้นเมืองทางภาคใต้ที่เติบโตได้ดี จนชาวบ้านสามารถหยิบมาสานเป็น ‘เสื่อกระจูด’ สร้างเป็นรายได้หลัก และสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น
ด้วยตัวพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากตัวเมือง ไม่มีตลาดเป็นหลักแหล่งประจำ ต้องส่งผ่านพ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับไปขายต่อในราคาที่ต่ำมาก รวมไปถึงหัตถกรรมจากพืชพื้นถิ่นยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ชาวบ้านในพื้นที่จึงรวมกันตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด รับซื้อผลิตภัณฑ์กระจูดมาขาย เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชน
อุบลวรรณา แป้นดวง ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด เล่าให้ THE STANDARD ฟังถึงการเข้ามาของโครงการ ‘ไปรษณีย์ไทย…เพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง’ ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ว่า ได้เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้า ผ่านจุดแข็งของไปรษณีย์ไทยที่มีเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
“ไปรษณีย์ไทยเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และเสริมในเรื่องของการขนส่ง ทำให้ชาวบ้านส่งสินค้าได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะไปรษณีย์ไทยเข้ามารับถึงในชุมชนเลย และยังทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น เห็นว่าของเรามีคุณภาพที่ดี เพราะไม่เสียหายระหว่างทาง” อุบลวรรณากล่าว
นอกจากนี้ไปรษณีย์ไทยยังได้จัดทำป้ายข้อมูลติดที่ผลิตภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นของชุมชน และผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ด้วยแนวคิดของไปรษณีย์ไทยที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และยังมุ่งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืน
อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จากแต่ก่อนชาวบ้านมีรายได้อยู่เพียงเดือนละพันกว่าบาท แต่ตอนนี้รายได้กลับสูงขึ้นที่ครัวเรือนละเกือบเจ็ดพันบาท เพราะเรามีตลาดที่ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดสรรกำไรให้กับสมาชิก ทำให้เกิดเงินออมบนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ชาวบ้านช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ และช่วยลดปัญหาการกู้นอกระบบที่มีมานาน
นอกจากช่วยเหลือในการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าและการขนส่งแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังได้ช่วยส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ในชุมชน เพื่อสืบสานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้อยู่คู่กับท้องถิ่น ด้วยการร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ภายในชุมชนขึ้น ให้ชาวบ้านตลอดจนผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดขึ้น
“ศูนย์การเรียนรู้ที่ไปรษณีย์ไทยเข้ามาช่วยส่งเสริมนี้ ทำให้ได้เห็นศักยภาพของกลุ่มชัดมากยิ่งขึ้น นอกจากการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้ว เรายังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามาดูงานอีกด้วย เมื่อเข้ามาก็จะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ มีป้ายให้ความรู้ บอกเล่าความเป็นมา และสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ทุกขั้นตอน”
ความร่วมมือระหว่างไปรษณีย์ไทยและกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรศุภนิมิตชะอวด ในโครงการนี้ทำให้เห็นถึงความสำคัญของไปรษณีย์ไทยกับชุมชนท้องถิ่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจท้องถิ่นไปด้วยกัน ยกระดับสินค้าชุมชน และคุณภาพชีวิตของคนไทย ผ่านการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุคดิจิทัล ดังที่อุบลวรรณาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ไปรษณีย์ไทยเหมือนมาช่วยทำให้สิ่งที่เราทำมันชัดเจนขึ้น จากเดิมแค่สานเสื่อทำกระเป๋า แต่ไปรษณีย์ไทยเข้ามาทำให้เราได้เห็นตัวเองชัดขึ้น จุดประกาย และกระตุ้นเรามากขึ้น เป็นพี่เลี้ยงที่ทำให้เราได้รู้แนวทางที่จะพัฒนาต่อไป”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์