×

‘เงินเดือนดี อ่อนน้อม ทำงานกับชุมชน’ ตำรวจญี่ปุ่นมีอะไรที่ตำรวจไทยไม่มี?

09.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ประเทศญี่ปุ่นมีการปฏิรูปตำรวจมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีโจทย์ในการปฏิรูปที่ชัดเจน โดยครั้งล่าสุดมีการปฏิรูปโดยยึดหลัก ‘ตำรวจเพื่อประชาชน’ เน้นการกระจายอำนาจแบบผสม
  • สิ่งที่ทำให้ตำรวจญี่ปุ่นได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ และความศรัทธาจากประชาชนจำนวนมาก คือหลักการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อให้ตำรวจ ‘เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน’ อย่างแท้จริง
  • อีกเรื่องที่ตำรวจญี่ปุ่นให้ความสำคัญคือ ความระมัดระวังในการสืบสวนสอบสวนก่อนนำไปสู่การจับกุม เนื่องจากมีการปลูกฝังแนวคิดที่ว่าหากผู้ต้องสงสัยถูกจับแล้วไม่ถูกสั่งฟ้อง หรือศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ก็จะถือว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงานของตำรวจ

     หลากความคิดเห็น หลายข้อถกเถียงเกิดขึ้นทันทีเมื่อรัฐบาลพยายามจะปฏิรูปตำรวจ (อีกครั้ง) ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่งเป็นประธาน

     บ้างก็ว่าปฏิรูปตำรวจต้องแยกอำนาจสืบสวนสอบสวน หลายคนคิดว่าการเพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในแวดวงตำรวจได้ และอีกหลายฝ่ายมองว่าปฏิรูปตำรวจต้องกระจายอำนาจ

     ถอยออกมาจากปัญหาสั่งสมในแวดวงตำรวจไทยที่มีมากมายจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศหนึ่งที่สำเร็จอย่างมากในด้านกิจการตำรวจ พิสูจน์ได้จากสถิติอาชญากรรมประจำปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 939 คดี และถือเป็นสถิติที่ต่ำกว่า 1,000 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 0.74 คดีต่อประชากร 100,000 คน ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่เกิดอาชญากรรมน้อยที่สุดในโลก ตามการประเมินของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC ตรงข้ามกับประเทศไทยที่สถิติอาชญากรรมสูงติดอันดับโลกมาโดยตลอด

     ตำรวจญี่ปุ่นทำได้อย่างไร พวกเขามีอะไรที่ตำรวจไทยไม่มี บางทีนี่อาจเป็นคำตอบที่จะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจไทยอย่างที่สังคมกำลังคาดหวัง

ตำรวจญี่ปุ่น 70% จะเป็นบุคลากรที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และหากเปรียบเทียบเงินเดือนกับข้าราชการทั่วไป ตำรวจจะมีเงินเดือนมากกว่าประมาณ 10%

 

ปฏิรูปตำรวจ 3 ครั้ง หัวใจคือ ‘ตำรวจเพื่อประชาชน’

     ในงานสัมมนาระดมปัญญาหัวข้อ ‘การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปกิจการตำรวจของประเทศญี่ปุ่น’ ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมวรรณไวทยากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พ.ต.อ. เคสุเกะ โฮซากะ (Mr. Keisuke Hosaka) ผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้กล่าวบรรยายพิเศษโดยเล่าถึงประวัติศาสตร์การปฏิรูปตำรวจญี่ปุ่นในอดีตว่า ตำรวจรูปแบบสมัยใหม่ของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในปี 1868 ทำหน้าที่แทนซามูไร โดยนำรูปแบบกฎหมายตำรวจมาจากประเทศฝรั่งเศสและรัสเซีย ในสมัยนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย งานที่รับผิดชอบมีขอบเขตกว้าง ทั้งเรื่องกฎหมายด้านสาธารณสุข แรงงาน ก่อสร้าง รวมถึงการสืบสวน

 

พ.ต.อ. เคสุเกะ โฮซากะ (Mr. Keisuke Hosaka) ผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

 

     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 จึงได้มีการยุบสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงสร้างในลักษณะรวมศูนย์อำนาจ สาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามและเป็นฝ่ายแพ้ เพราะตำรวจทำงานร่วมกับกองทัพในการควบคุมผู้ต่อต้านรัฐบาลและสงครามในยุคนั้น

     โดยแนวคิดในการปฏิรูปตำรวจครั้งนั้นยึดหลักการกระจายอำนาจ และเป็นกลางจากการเมือง แบ่งโครงสร้างอำนาจเป็นตำรวจประจำเมืองและตำบล 1,600 แห่ง และมีการตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจถูกควบคุมหรือรับคำสั่งโดยตรงจากนักการเมือง

 

 

     แต่หลังมีการกระจายอำนาจ และแบ่งสถานีตำรวจออกเป็น 1,600 แห่ง ทำให้เกิดปัญหามากมาย ปัญหาหลักคือกำลังพลของตำรวจในแต่ละพื้นที่มีน้อย หากเกิดคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ หรือการเดินขบวนประท้วงขนาดใหญ่ มักมีการถกเถียงเรื่องอำนาจหน้าที่ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

     ซึ่งหลังจากที่ญี่ปุ่นได้รับอิสรภาพจากอเมริกาจึงมีแนวคิดปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง โดยยึดหัวใจหลักในการปฏิรูปคือ ‘เป็นกลางจากการเมือง’ เป็นตำรวจที่มีความเป็นประชาธิปไตย เพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจ สร้างความชัดเจนของอำนาจหน้าที่ และเน้นการกระจายอำนาจ โดยมีการตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นทั้งหมดใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ

     ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงระดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ดัชนีความปลอดภัยของประชาชนลดต่ำลงอย่างมาก จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน เนื่องจากตำรวจไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนในฐานะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ จึงมีการปฏิรูปตำรวจอีกครั้งโดยยึดหลัก ‘ตำรวจเพื่อประชาชน’ สร้างกระบวนการการทำงานที่ทำให้เกิดความโปร่งใส ปรับปรุงการทำงานของตำรวจ

กฎเหล็กที่ตำรวจญี่ปุ่นยึดถือคือหากมีความพยายามจะมอบสินบน ตำรวจจะต้องทำการจับกุมคนคนนั้นทันที

 

กระจายอำนาจแบบผสม โครงสร้างการทำงานของตำรวจญี่ปุ่น

     ในปัจจุบัน ตำรวจญี่ปุ่นภายหลังการปฏิรูปครั้งล่าสุดมีรูปแบบตำรวจท้องถิ่นปกครองตนเอง โดย 47 จังหวัดของญี่ปุ่นจะมีกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นหน่วยงานอิสระ ขณะเดียวกันก็มีหน่วยงานของรัฐ คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นควบคุมอีกที

     ภายใต้กองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดจะมีสถานีตำรวจประมาณ 1,200 แห่ง และจะมีสาขาย่อยที่เรียกว่า โคบัง และชูไซโช ซึ่งทำหน้าที่เป็นตำรวจชุมชน นอกจากจะช่วยป้องกันอาชญากรรมแล้ว ยังเป็นการสร้างความใกล้ชิดกับประชาชน โดยทั่วประเทศจะมีสาขาย่อย หรือโคบังประมาณ 13,000 แห่ง

     อำนาจและความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดถูกแบ่งไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกิจการตำรวจทั้งการสืบสวนคดีอาชญากรรม การจัดการการจราจร จะเป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีหน้าที่วางนโยบาย ปรับปรุงกฎหมาย หรือหากมีคดีอาชญากรรมใหญ่ๆ หรือภัยพิบัติขนาดใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำหน้าที่ควบคุมสั่งการ

     นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะประจำจังหวัด และคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของตำรวจในภาพใหญ่ และในรายจังหวัดโดยที่นักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้

สิ่งแรกที่ควรทำคือสำรวจว่าประชาชนคนไทยต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้

 

เงินเดือนเยอะ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน อ่อนน้อมถ่อมตน สิ่งที่ตำรวจญี่ปุ่นมี แต่ตำรวจไทยไม่มี

     สำหรับข้อแตกต่างสำคัญที่ทำให้ตำรวจญี่ปุ่นได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ และความศรัทธาจากประชาชนจำนวนมาก คือหลักการทำงานที่ออกแบบมาเพื่อให้ตำรวจ ‘เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน’ อย่างแท้จริง

     โดยจุดแข็งอย่างแรกของตำรวจญี่ปุ่นอยู่ที่การพัฒนาความร่วมมือกับชุมชน ซึ่งนอกจากจะมีป้อมตำรวจติดตั้งอยู่แทบทุกพื้นที่ของชุมชนแล้ว ยังมีการประสานความร่วมมือกับประชาชนเพื่อป้องกันอาชญากรรม โดยแต่ละพื้นที่จะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อสร้างกฎเกณฑ์ และความเข้าใจร่วมกันในพื้นที่ โดยหัวใจหลักของการร่วมมือกันระหว่างตำรวจกับชุมชนคือ ไม่ว่าจะมีคดีเล็กน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ล่าช้า

     ขณะที่ตำรวจญี่ปุ่น 70% จะเป็นบุคลากรที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และหากเปรียบเทียบเงินเดือนกับข้าราชการทั่วไป ตำรวจจะมีเงินเดือนมากกว่าประมาณ 10% ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานะทางสังคมของตำรวจ และคุณภาพชีวิตของตำรวจดีขึ้น

     เมื่อพูดคุยกับเด็กๆ หรือผู้สูงอายุ ตำรวจญี่ปุ่นจะย่อตัวลงให้อยู่ในระดับสายตาของคู่สนทนาเสมอ แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการทำแบบนี้จะเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน

     อีกเรื่องที่ตำรวจญี่ปุ่นให้ความสำคัญคือ ความระมัดระวังในการสืบสวนสอบสวนก่อนนำไปสู่การจับกุม เนื่องจากมีการปลูกฝังแนวคิดที่ว่าหากผู้ต้องสงสัยถูกจับแล้วไม่ถูกสั่งฟ้อง หรือศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ก็จะถือว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงานของตำรวจ ดังนั้นตำรวจญี่ปุ่นจะพยายามใช้หลักฐานที่เป็นรูปธรรม และหากไม่มั่นใจจะไม่มีการจับกุมเด็ดขาด

 

 

     นอกจากนี้ตำรวจญี่ปุ่นส่วนมากมักจะทำงานในจังหวัดเดิม หรือพื้นที่เดิมจนเกษียณ มักไม่ค่อยมีการโยกย้ายไปที่อื่นๆ ส่วนเจ้าหน้าที่คนไหนที่มีตำแหน่งสูงขึ้น สามารถย้ายเข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ แต่ทุกครั้งที่มีการเลื่อนยศจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมก่อน ไม่ว่าจะเป็นการอบรมจากส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค ส่วนตำรวจนายไหนที่ไม่มีการเลื่อนยศมาเป็นเวลานาน เมื่อถึงเวลาจะมีการเรียกเข้าไปอบรมเพื่อให้ตำรวจทุกคนได้อัพเดตกฎหมายใหม่ๆ และปลูกฝังไม่ให้มีการคอร์รัปชัน

     แม้จะมีการรับสินบนหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ในญี่ปุ่นยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งกฎเหล็กที่ตำรวจญี่ปุ่นยึดถือคือหากมีความพยายามจะมอบสินบน ตำรวจจะต้องทำการจับกุมคนคนนั้นทันที นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถส่งเรื่องร้องเรียนการทำงานของตำรวจไปที่คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งทุกคำร้องจะได้รับการพิจารณาและมีการตอบกลับเป็นเอกสารอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับจังหวัด ระหว่างประชาชนกับกองบัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พูดคุย ร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาได้โดยตรง

     นอกจากจะฉายภาพให้เห็นบทเรียนและความสำเร็จของตำรวจญี่ปุ่นแล้ว พ.ต.อ. โฮซากะยังฝากข้อคิดในการปฏิรูปตำรวจไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยว่า

     “การปฏิรูปตำรวจไทยทำเพื่อประชาชนคนไทย ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือสำรวจว่าประชาชนคนไทยต้องการอะไรจากตำรวจ จากนั้นตำรวจจะต้องปรับปรุงตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการนั้นให้ได้ แม้ญี่ปุ่นจะนำระบบตำรวจแบบอเมริกามาใช้หลังแพ้สงคราม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบอุปสรรคในการกระจายอำนาจที่มากเกินไป ทำให้สุดท้ายต้องมีการปรับปรุงโดยกลับมาใช้วิธีการของตัวเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาให้ดีว่าประเทศไทยต้องการอะไร และอยากจะปรับปรุงตำรวจไปในทิศทางไหน แล้วเลือกวิถีทางของตัวเอง”

งานตำรวจแตกต่างจากงานของข้าราชการอื่นๆ ที่ต้องเสี่ยงอันตรายมากกว่า ทำงานหนักกว่า แต่กลับได้เงินเดือนพอๆ กัน หรือบางครั้งอาจน้อยกว่าบางหน่วยงานด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ

 

มองตำรวจไทยจากบทเรียนของตำรวจญี่ปุ่น

     หลังจบการบรรยายจากผู้ช่วยทูตฝ่ายกิจการตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนา ตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วโครงสร้างการทำงานของตำรวจญี่ปุ่นและตำรวจไทยมีความคล้ายคลึงกัน คือมีทั้งตำรวจส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือตำรวจญี่ปุ่นจะมีความใกล้ชิดกับประชาชนมาก ต่างจากตำรวจไทยที่ไม่ใช้ประชาชนเลย แม้จะมีระบบอาสาสมัคร แต่ก็มักจะเป็นการช่วยงานตำรวจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้เมื่อฟังจากคำบรรยายแล้วดูเหมือนตำรวจญี่ปุ่นจะได้รับการอบรมให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต่างจากตำรวจไทยที่ทั้งในโรงพักและบนท้องถนนมักจะได้รับคำร้องเรียนว่าตำรวจไม่สุภาพ กระโชกโฮกฮากอยู่เสมอ

     “ที่ผมติดใจมากเรื่องหนึ่ง และเราก็พยายามผลักดันเรื่องนี้กันอยู่ในความพยายามจะปฏิรูปทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา คือเรื่องเงินเดือนของตำรวจ ซึ่งพ.ต.อ. โฮซากะบอกว่าสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ซึ่งผมเองก็รู้สึกว่าควรจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะงานตำรวจแตกต่างจากงานของข้าราชการอื่นๆ ที่ต้องเสี่ยงอันตรายมากกว่า ทำงานหนักกว่า แต่กลับได้เงินเดือนพอๆ กัน หรือบางครั้งอาจน้อยกว่าบางหน่วยงานด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

     นอกจากนี้ พล.ต.อ. วสิษฐ ยังแชร์ประสบการณ์ในฐานะที่เคยนั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ในสมัยรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ ในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีเรื่องที่ทำไม่สำเร็จหลายเรื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างตำรวจที่พยายามจะลดทอนอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และกระจายอำนาจไปที่ภูมิภาค มากขึ้น

     “ท่านคงสังเกตได้ว่าเวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา ผบ.ตร. สามารถสั่งย้ายตำรวจในท้องถิ่นให้พ้นจากตำแหน่งได้ภายใน 7 วัน ถ้ามองแง่หนึ่งก็อาจจะรู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตัวอย่างให้ตำรวจอื่นๆ ไม่กล้าทำความผิด แต่ถ้าดูให้ลึกจริงๆ จะเห็นว่าการทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะยังไม่ได้มีการสอบสวนเลยว่ามีมูลหรือไม่ แต่ต้องถูกย้ายข้ามจังหวัด แถมยังต้องย้ายทั้งครอบครัว ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้ผู้บัญชาการภาคนั้น หรือจังหวัดนั้นเขาดูแลกันเอง หากจะย้ายเพราะมีความผิด ก็ควรย้ายในภูมิภาคหรือจังหวัด”

     พล.ต.อ. วสิษฐ กล่าวต่อไปว่า “ที่จริงกฎหมายตำรวจปัจจุบันบังคับไว้แล้วว่าให้มีการกระจายอำนาจ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระจายไปแต่อำนาจ แต่งบประมาณไม่ได้กระจายไปด้วย จังหวัดยังต้องมาต่อรองกับส่วนกลางเรื่องงบประมาณ เพราะฉะนั้นงบประมาณยังคงเป็นอำนาจสำคัญที่ส่วนกลางยังควบคุมไว้ ปัญหาที่ตามมาคือเวลาที่ส่วนกลางต้องการอะไรจากจังหวัด ก็จะมีการต่อรองกันเกิดขึ้น นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

     “สิ่งที่ผมอยากเห็นคืออยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ไม่อย่างนั้นจะช้าไปเรื่อยๆ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลขึ้นมา รัฐบาลใหม่จะเอาด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็ต้องมาตั้งคณะกรรมการกันใหม่อีก”

 

ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

     ด้าน ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล จากสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่าการปฏิรูปตำรวจถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากในยุคปัจจุบันมีอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น และนับจากนี้ต่อไปอาชญากรรมทางโลกออนไลน์ และอาชญากรรมข้ามชาติจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือแล้วเราเตรียมพร้อมหรือยังกับการรับมือเรื่องเหล่านี้

     ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ ยังเสนอว่าตำรวจไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน ควรจะทำให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย มีความโปร่งใส และเสมอภาคกับประชาชนทุกคน ที่สำคัญคือต้องปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง พร้อมให้ความเห็นว่าในหลายๆ ประเทศ ตำรวจมีการกระจายอำนาจ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่กระจายแบบผสมผสาน แต่ตำรวจไทยยังรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง โดยส่วนกลางสามารถแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจได้ทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าผิดต่อหลักการประชาธิปไตย

     “ปัจจุบันตำรวจไทยยังรวมศูนย์อำนาจ แต่การปกครองในโลกประชาธิปไตยคือการกระจายอำนาจไปพร้อมๆ กับการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการใช้อำนาจ ต้องย้อนกลับไปว่าจุดยืนของประเทศเราอยู่ตรงไหน เรานิยามประชาธิปไตยกันอย่างไร”

     นอกจากนี้ ผศ.พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ ยังยกตัวอย่างตำรวจในหลายๆ ประเทศ เช่น ตำรวจอังกฤษที่มีระบบการคานอำนาจจาก 3 ฝ่าย คือรัฐบาลกลางใช้อำนาจผ่านกระทรวงมหาดไทย คอยดูแลในภาพกว้าง เช่น ระบบงานอบรม นิติวิทยาศาสตร์ การพัฒนาหน่วยงานตำรวจ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามภูมิภาค หรือการก่อการร้าย ส่วนที่ 2 คือการใช้อำนาจผ่านรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งจะมีผู้ได้รับการเลือกตั้งในท้องถิ่นเข้าร่วมในคณะทำงานของตำรวจ และส่วนสุดท้ายคือหน่วยงานตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ดูแลกันเอง ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ไม่สามารถปลดหัวหน้าตำรวจในแมนเชสเตอร์ได้ เพราะมีการคานอำนาจกับคณะกรรมการท้องถิ่นเหมือนที่ญี่ปุ่น

     ขณะที่ในไอร์แลนด์มีการตั้งคณะทำงานภาคประชาชน โดยเน้นหลักการกระจายอำนาจ ความโปร่งใส ความมีส่วนร่วมของประชาชน และประสิทธิภาพของตำรวจ

     “ผมเสนอว่าเราควรจะต้องมีคณะกรรมการภาคประชาชนระดับชาติ และระดับภูมิภาค ซึ่งมีตัวแทนทุกภาคส่วน ทั้งโดยสมัครใจ และการคัดเลือกแบบสุ่ม ปัจจุบันท้องถิ่นมีงบประมาณพอสมควรในการสร้างถนน แต่กลับไม่มีงบรักษาความปลอดภัย สุดท้ายตำรวจจึงต้องทำงานโดยขาดงบประมาณ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวก็มาจากภาษีของประชาชนในพื้นที่ แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับการดูแลรักษาความปลอดภัยเท่าที่ควร นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปตำรวจให้เร็วที่สุด”

 

     ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าการปฏิรูปตำรวจที่กำลังเกิดขึ้นจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ประชาชนอยากเห็น และคาดหวังจากการปฏิรูปครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นการทำให้ ‘ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน’ ได้จริงๆ (สักที)

 

Cover Photo: TORU YAMANAKA, MADAREE TOHLALA/AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X