บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TNCC ซึ่งเป็นผู้ที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่เป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดน้ำอัดลมของไทยอย่าง ‘โค้ก’ ยื่นเอกสารต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อ IPO
ตามข้อมูล TNCC ประกอบธุรกิจจัดเตรียม บรรจุ จัดจำหน่าย และจำหน่ายเครื่องดื่มตามสัญญากับ The Coca-Cola Company และ Schweppes Holdings Limited ในพื้นที่ 63 จังหวัดจาก 77 จังหวัดในประเทศไทย
และในประเทศลาวผ่านการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมใน Lao Coca-Cola Bottling ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด รวมทั้งการลงทุนในบริษัทซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มและประกอบธุรกิจตามสัญญากับ The Coca-Cola Company และ Schweppes Holdings Limited ในประเทศกัมพูชาในสัดส่วนร้อยละ 30.00 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
จำนวนหุ้นที่เสนอขาย คือ 612,451,687 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10.00 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
จากข้อมูลของบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด เมื่อพิจารณาจากยอดขายในประเทศไทยสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ ครองอันดับที่ 1 ในอุตสาหกรรม NARTD โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 15.6 ในหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ
โดยบริษัทฯ ครองอันดับที่ 1 ในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มอัดลม โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 51.4 สำหรับหมวดย่อยต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มอัดลมแบรนด์โคคา-โคล่า ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในผลิตภัณฑ์ประเภทโคล่า โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 47.9 (เฉพาะปี 2567 มียอดขายกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท) และแบรนด์แฟนต้าและสไปร์ทมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันสูงสุดในหมวดย่อยผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มที่มีรสชาติอื่นๆ โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 66
อีกทั้งแบรนด์ชเวปส์มีส่วนแบ่งตลาดอันดับที่ 2 ในหมวดย่อยผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มสำหรับผู้ใหญ่โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 27.5 และมีส่วนแบ่งตลาดในอันดับที่ 5 สำหรับหมวดย่อยผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่ม โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 6.7
รวมถึงมีส่วนแบ่งตลาดอันดับที่ 3 ในหมวดย่อยผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำดื่ม โดยมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 9.4 ทั้งนี้ จากข้อมูลของฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน คาดว่า ตลาด NARTD ในประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยแบบทบต้น (CAGR) คิดเป็นร้อยละ 7.4 ระหว่างปี 2567 ถึงปี 2572 และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.376 แสนล้านบาทภายในปี 2572
สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ได้จำหน่ายเครื่องดื่มที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายจำนวนรวม 404 ล้านยูนิตเคส ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเครื่องดื่ม โดยมีศูนย์กระจายสินค้ามากกว่า 50 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่มจำนวน 5 แห่งมีพนักงานมากกว่า 8,000 คน
ยังมีเครือข่ายที่ใช้ในการกระจายเครื่องดื่มที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มที่ให้บริการร้านค้าประมาณ 495,000 แห่งในประเทศไทย
สำหรับผลประกอบการทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 2566 และ 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 35,989.2 ล้านบาท 39,295.0 ล้านบาท และ 41,314.2 ล้านบาท ตามลำดับ และมีอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 8.6 ร้อยละ 8.6 และร้อยละ 10.6 ตามลำดับ