×

รายงาน UNDP เผย ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของไทยฟื้นตัวจากช่วงก่อนโควิด แต่ยังต้องเร่งพัฒนา

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...

รายงานการพัฒนามนุษย์ (Human Development Report: HDR) ประจำปี 2023/24 จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผย ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ของไทยฟื้นตัวจากช่วงก่อนโควิด แต่ยังต้องเร่งรัดการพัฒนา เพราะไทยยังลดความเหลื่อมล้ำได้น้อย ทั้งยังถดถอยเรื่องการยุติความหิวโหยและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

รายงานดังกล่าวยังเน้นย้ำว่า ความก้าวหน้าในการพัฒนาที่กระจุกตัวส่งผลให้ผู้ยากไร้ที่สุดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ยิ่งแย่ลง และสร้างความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ผลที่ตามมาคือ ‘การหยุดชะงัก’ หรือ ‘ทางตัน’ ในการพัฒนา ซึ่งจำเป็นต้องแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน

 

แม้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ทั่วโลกจะฟื้นตัว โดยเห็นได้จากรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income: GNI) ต่อหัว, การศึกษา และอายุขัยเฉลี่ยของประชากร แต่การพัฒนายังมีความกระจุกตัว และถึงแม้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและประเทศที่ยากจนที่สุดมีแนวโน้มหดแคบลง แต่ช่องว่างดังกล่าวกลับกว้างขึ้นตั้งแต่ปี 2020 ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงกำลังบรรลุการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประเทศที่ยากจนที่สุดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปยังระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตได้

 

รายงานฉบับนี้ได้เน้นย้ำว่า แทนที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์และความร่วมมือระดับโลกในการพัฒนา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับเผชิญกับทางตัน เนื่องจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถรับมือกับความท้าทายที่เผชิญร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิกฤตต่างๆ ที่ทับซ้อนกันจากการเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ จนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ลุกลามอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบที่มีอยู่จะสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที ผลจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ในระดับโลก ประกอบกับการที่ระบบในปัจจุบันไม่สามารถปกป้องผู้คนได้อย่างเหมาะสม จึงนำไปสู่การแบ่งขั้วที่รุนแรงมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่นโยบายที่มุ่งเน้นการปกป้องประเทศของตน นโยบายเช่นนี้ขัดแย้งกับความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก เพื่อจัดการปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน การจัดการกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่ผิด และการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ 

 

หากไม่มีการดำเนินการเพื่อฝ่าทางตันดังกล่าว ชีวิตความเป็นอยู่และเสรีภาพของบุคคลจะตกอยู่ในความเสี่ยงในปัจจุบันร้อยละ 30 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ไม่มีความคืบหน้าหรือเกิดการถดถอย ส่วนเป้าหมายอีกร้อยละ 50 ยังคงมีความคืบหน้าที่ล่าช้าหรือไม่เพียงพอ โลกยังมีความล่าช้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

 

ประเทศไทยมีคะแนน HDI สูงกว่าเมื่อช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาด เช่นเดียวกับประเทศสมาชิก OECD 38 ประเทศ โดย HDI ของประเทศไทยในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 0.803 จาก 0.797 ในปี 2021 และสูงกว่าระดับ 0.801 ในปี 2019 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับที่สูงมาก โดยอยู่ในอันดับที่ 66 จาก 193 ประเทศทั่วโลก

 

เมื่อจำแนกตามเพศ HDI ของผู้หญิงในประเทศไทย (0.807) จะสูงกว่าของผู้ชาย (0.798) ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในประเทศอื่น แม้แต่ประเทศในกลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังคงเข้าถึงการศึกษาและมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าผู้ชาย

 

อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ UNDP กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของช่องว่างในการพัฒนามนุษย์ที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจนที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับแนวโน้มในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะอยู่ในสังคมโลกที่เชื่อมต่อถึงกัน แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุผลลัพธ์ตามที่เราต้องการได้ เราจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมโยงทางสังคมและใช้ศักยภาพของเราในการรับมือกับความท้าทายด้านความเป็นอยู่ที่เรากำลังเผชิญร่วมกัน เพื่อให้ปณิธานของผู้คนได้บรรลุผล

 

“ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ของเราต่างเชื่อมโยงถึงกัน จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นไปที่การคว้าโอกาส โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อความก้าวหน้าของมนุษย์ เรามีโอกาสที่จะฝ่าทางตันที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ และจุดประกายความมุ่งมั่นเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันอีกครั้ง” 

 

ภาพ: Bell Ka Pang / Shutterstock

อ้างอิง: UNDP ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising