×

‘ไทยแลนด์เวย์’ หนทางสู่อนาคตของวงการฟุตบอลไทยที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว [Advertorial]

11.02.2020
  • LOADING...

ผลงานการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา อาจเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดสำหรับตัวแทนทีมชาติไทยในกีฬาฟุตบอล หากไม่นับย้อนไปถึงการผ่านเข้าไปเล่นโอลิมปิก 2 ครั้งที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ 

 

สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ผ่านมาคือ การเข้าร่วมแข่งขันระดับสูงสุดทั้งมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งโอลิมปิกและฟุตบอลโลก 

 

แต่การก่อร่างสร้างฐานของฟุตบอลไทยที่ผ่านมา ดำเนินการอย่างไรบ้างให้เราเดินหน้าไปถึงจุดนั้น เมื่อย้อนกลับมาดูอาจพบว่า ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้เข้าใจภาพรวมของการสร้างและวิธีการพัฒนาฟุตบอลไทยไป

สู่อนาคต 

 

THE STANDARD พูดคุยกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ถึงการเดินทางของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝันเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย จนถึงการพยายามสร้างมาตรฐานใหม่ภายใต้ความได้เปรียบและเสียเปรียบที่นักเตะไทยมี เพื่อไปสู่เป้าหมายของฟุตบอลที่เรียกว่า ‘ไทยแลนด์เวย์’ 

 

ก้าวแรกในการเดินทางของเด็กไทย กับครูคนแรก (8-12 ปี)

 

 

การเริ่มต้นของเยาวชนไทยกับฟุตบอล ถือจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำพาเด็กคนหนึ่งผ่าน เส้นทางสู่ความฝันในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพหรือนักฟุตบอลทีมชาติไทย 

 

แต่ปัญหาของแวดวงฟุตบอลไทยในปัจจุบันคือการยังไม่มีทรัพยากรหรือเส้นทางที่ชัดเจน ซึ่งจะปูทางไปสู่ความฝันของพวกเขา ภารกิจนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการปูพื้นฐานวงการฟุตบอลไทยที่สมาคมต้องเข้ามาวางระบบที่ชัดเจน ซึ่งข้อดีของประเทศไทยคือ กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมเป็นอันดับ 1 คนที่มีความชื่นชอบในฟุตบอล เวลาเลิกงาน เลิกเรียน ก็มาเตะฟุตบอล ดังนั้นข้อดีของไทยคือคนไทยค่อนข้างให้ความสนใจกับกีฬานี้เยอะ ทุกโรงเรียนทั้งในเมืองและชนบทมีแค่เสาโกลสองข้างทางก็สามารถเล่นฟุตบอลได้

 

“เราจะเห็นหลายคนเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ เรายังไม่มีเส้นทางที่ชัดเจนให้พวกเขา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสมาคมฯ ในการสร้างแพลตฟอร์ม และแรงจูงใจให้เด็กและครอบครัว รวมถึงการขึ้นทะเบียน

อคาเดมี หรือแม้แต่การหาครูคนแรกให้กับพวกเขา ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากคนในครอบครัว หรือแม้แต่ครูพละที่โรงเรียน”

 

เป้าหมายสำคัญที่สมาคมฯ ชุดนี้ที่กำลังสานต่อคือระบบการเก็บสถิติและข้อมูลต่างๆ ของนักฟุตบอลไทย

ในอดีต พอผ่านพ้นระบบของทีมชาติไทยแล้วก็จะไม่มีข้อมูลถูกบันทึกไว้ ซึ่งปัจจุบันสมาคมได้เริ่มเก็บข้อมูลแล้วกว่า 8,000 คน เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่มีถึง 900,000 คน 

 

ซึ่งปัจจุบันข้อมูลของทีมชาติมีการแบ่งปันและถูกบันทึกเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ เบนจามิน เดวิส 

นักเตะดาวรุ่งของไทยจากฟูแลม มาลงแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทางฟูแลมได้ขอข้อมูลระหว่างที่เดวิสลงแข่งขันให้กับทีมชาติไทย เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดหลังจากที่เดวิสเดินทางกลับเข้าสู่สโมสร ขณะที่สโมสรชั้นนำของโลกในปัจจุบันเอง เช่น แมนเชสเตอร์​ ซิตี้ มีการบันทึกข้อมูลโภชนาการอาหารที่สามารถบอกได้ว่า นักเตะคนไหนขาดสารอาหารอะไรในแต่ละวัน เพื่อช่วยในการออกแบบอาหารการกินให้กับนักฟุตบอลแต่ละคนในสโมสร ซึ่งสมาคมเองก็มองเห็นความสำคัญถึงการทำระบบการเก็บข้อมูลนี้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์นักเตะทีมชาติในอนาคต 

 

แต่ในปัจจุบันนักเตะสามารถขึ้นทะเบียบกับสมาคมฯ ผ่านระบบ FA Thailand Football Management Platform ได้ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเป็นฐานข้อมูล เหมือน ID ประจำตัวที่จะสามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มของสมาคมและของฟีฟ่า เพื่อเป็นการบันทึกประวัติการเดินทางตั้งแต่วัยเด็ก สมมติวัย 6 ขวบ เขาเริ่มต้นตั้งแต่อคาเดมีไหน ผ่านสโมสรอะไรมาบ้าง ยิงประตูไปกี่ลูก ย้ายไปต่อที่โรงเรียนไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ที่อยู่ในการแข่งขันของสมาคมทั้งหมด และถูกบันทึกไว้ 

 

“พอข้อมูลทั้งหมดถูกบันทึกได้มากเพียงพอ ที่นี้ก็จะสามารถนำตัวเลขต่างๆ มาทำเป็นข้อมูลเป็นรายงานออกมาได้ เช่น นักกีฬาที่อยู่ในช่วงวัย 6 ขวบ มีจำนวนที่สมัครเข้ามามาก พอถึงจุดที่เข้าสู่อาชีพในวัย 18 ปี นักเตะเหล่านี้มีจำนวนน้อยลง จนถึงวันที่ก้าวขึ้นเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ก็อาจจะเหลือน้อยลงไปอีก เราจะสามารถหาตัวเลขที่หายไปในแต่ละช่วงวัย เพื่อหาคำตอบว่า การหายไปของนักเตะเยาวชนในแต่ละวัยเกิดจากอะไร และบ่งบอกอะไรถึงพัฒนาการของฟุตบอลภายในประเทศ 

 

ครูคนแรกถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะปูพื้นฐานการเรียนรู้ และส่งผลต่อการพัฒนาทักษะการเล่นฟุตบอลในอนาคต 

 

“หน้าที่สมาคมฯ ข้อแรกเลย ต้องวางระบบและให้ความรู้พื้นฐาน กับครูคนแรกนั่นคือ ผู้ปกครองและครูพละ ให้เข้าใจว่า ควรเริ่มต้นฝึกแบบไหน หรือทำให้เขาสามารถหา ‘ครูคนแรก’ ของเขาเจอ ซึ่งเส้นทางหนึ่งคือ การส่งไปเรียนกับอคาเดมี ส่วนอีกเส้นทางคือ การหาช่องทางเข้าสู่ทีมโรงเรียน โดยจุดที่สำคัญที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมได้คือ การทำให้มีความชัดเจนในเรื่องการแข่งขันฟุตบอลระดับโรงเรียน และส่งเสริมรายการการแข่งขันต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่เด็กๆ อายุยังน้อย

 

 

หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมากๆ ยกตัวอย่างที่ประเทศเยอรมัน เด็กๆ ต้องเข้าระบบอคาเดมีตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพื่อฝึกทักษะตั้งแต่ขั้นพื้นฐานแล้ว มุ่งสู่ความเป็นเลิศตั้งแต่เด็กอายุ 11-12 ด้วยศูนย์ฝึก 366 แห่งและ scout staff 1,300 คนทั่วประเทศเพื่อปั้นและขัดเกลาเด็กเยาวชนชั้นยอดสู่นักเตะอาชีพในอนาคต 

  

ถัดจากครูคนแรก เมื่อนักฟุตบอลตัวน้อยเริ่มเติบโตขึ้นพร้อมทักษะพื้นฐานที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาต่อ สเตปต่อไปคือ การเดินเข้าสู่สโมสรฟุตบอลด้วยการเป็น ‘เด็กฝึกหัดของสโมสร’ 

 

ในปัจจุบันโครงการต่างๆ ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้มีการให้ความรู้กับ first teacher หรือครูคนแรก ผ่านคู่มือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเช่น FA Thailand Introductory Course (เปิดให้เข้าอบรมฟรี), C-license และ โครงการพิเศษที่สมาคมร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่เปิดอบรมการฝึกสอนให้กับครูพละ โดยให้คำอธิบายถึงสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ในแต่ละช่วงอายุ ตลอดการเดินทางของเด็กคนหนึ่งสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพในอนาคต

 

ก้าวที่ 2: การก้าวเข้าสู่อคาเดมีแบบเต็มตัว (12-16 ปี)

 

 

หลังจากที่ผ่านระบบการพัฒนาเยาวชนขั้นพื้นฐาน สำหรับนักเตะรุ่นอายุตั้งแต่ 8-12 ปีแล้ว พัฒนาการขั้นที่ 2 คือการถูกคัดเลือกขึ้นสู่ทีมใหญ่ในการแข่งขันลีกต่างๆ ตั้งแต่ไทยลีก 4-ไทยลีก ลีกสูงสุดของประเทศไทย 

 

ซึ่งบทบาทของสโมสรต่างๆ ในเวลานี้ ความสำคัญคือ ผลการแข่งขันในสนาม แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในวันที่สโมสรกีฬามีโมเดลความสำเร็จที่กลายเป็นธุรกิจมากขึ้นอีกด้านคือ ความสำเร็จทางด้านการเงิน และการตลาดของสโมสร 

 

“หน้าที่ของผมคือ การโฟกัสที่ด้านธุรกิจของสโมสร สร้างทรัพยากรให้ผู้จัดการทีมและผู้อำนวยการกีฬา ให้เราสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ในสนามฟุตบอล” 

 

ปีเตอร์ มัวร์ ซีอีโอคนปัจจุบันของสโมสรลิเวอร์พูล ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสนามเวลานี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของแง่มุมการบริหารสโมสร 

 

แต่สำหรับสโมสรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและอยู่ในวัฒนธรรมฟุตบอลที่แตกต่างอย่างประเทศไทย ตัวอย่างนี้จึงเป็นเหมือนเป้าหมายสูงสุดที่เราจะไปถึงได้ 

 

สิ่งที่สามารถทำได้ในเวลานี้คือ ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการบริหารจัดการแข่งขันสโมสรฟุตบอลอาชีพสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

“เมื่อเข้าสู่ระบบสโมสร สมาคมต้องรองรับการเติบโตของเขาด้วยแพลตฟอร์มการแข่งขันต่างๆ ซึ่งหนึ่งในแพลตฟอร์มนั้นคือ Youth League เพื่อให้เด็กได้มีเวที และได้ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยสมาคมจะเป็นคนเข้ามาดูแลระบบ และโครงสร้างการแข่งขันดังกล่าว เพื่อให้เด็กๆ มีเส้นทางที่ชัดเจนมากขึ้น  

 

หน้าที่ของสมาคมกีฬาฟุตบอลที่เข้ามามีบทบาทในส่วนนี้จึงเป็นการให้ความรู้และจัดการแข่งขันกับสโมสร ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาฟุตบอล โดยมีการให้ความรู้กับบุคลากรสโมสรผ่านการฝึกอบรมจากคอร์สที่สมาคมจัดเตรียมไว้ให้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม Youth league ให้ดียิ่งขึ้น  

 

“นึกภาพว่าผมเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ ผมจัดการแข่งขันขึ้นมา หลังจากนั้นผมมีหน้าที่โปรโมตการแข่งขันนี้ให้คนรู้จักทั่วไป และอยากจะไปดู หรือสนใจ แต่ทุกสโมสรคือคนที่จะเอา license ผมไปเปิดในหลายๆ พื้นที่ หลายๆ จังหวัด

 

ดังนั้นสมาคมจึงมองว่า การการลงทุนเพื่อการพัฒนาเยาวชน ควบคู่ไปกับการให้การศึกษากับผู้ฝึกสอนและด้านเทคนิค นั่นจะทำให้เราสามารถผลิตนักเตะระดับทีมชาติขึ้นมาได้มากขึ้นแน่นอน 

 

 

ก้าวที่ 3 การก้าวเข้าสู่สโมสร บนแพลตฟอร์มที่แข็งแรง   

“สโมสรฟุตบอลคือหนึ่งในรากฐานสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากรของวงการฟุตบอลในแต่ประเทศ การสร้างมาตรฐานให้กับสโมสรจึงเป็นการยกระดับพื้นฐานของฟุตบอลทั้งนักเตะและทีมงาน 

 

“ปัจจุบันการสร้างมาตรฐานให้กับสโมสรจะทำผ่านสิ่งที่เรียกว่า Club Licensing ซึ่งเป็นการการันตีว่า สโมสรนี้มีการบริหารจัดการตามหัวข้อต่างๆ ครบครัน คุณถึงจะได้การรับรอง 

 

“ดังนั้น การมีเรื่องของ Club Licensing แบ่งระดับ T1 T2 T3 T4 ที่แตกต่างกัน มันต้องมีเลเวลคุณภาพสแตนดาร์ดที่ใกล้เคียงกัน ผ่านระบบที่ FIFA ออกแบบ เพื่อเป็นการส่งต่อ Know-How ว่าสโมสรอาชีพที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีสแตนดาร์ดด้านไหนบ้าง โครงสร้างพนักงาน เจ้าหน้าที่ จะต้องเป็นอย่างไรบ้าง

 

องค์ประกอบสำคัญของทุกธุรกิจกีฬานอกเหนือจากนักกีฬาแล้วคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทุกฝ่าย ซึ่งสมาคมฯ ก็ให้ความสำคัญในส่วนนี้มากเช่นกัน

 

โดยปัจจุบันหากเรามองไปที่การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพชั้นนำของโลก อาจกล่าวได้ว่า ระหว่างการฝึกซ้อมและระหว่างการแข่งขันมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่นอกสนามมากกว่าในสนามเสียอีก ทั้งโค้ช หัวหน้าผู้ฝึกสอน นักการตลาด ฝ่ายจัดการแข่งขัน และนักเก็บสถิติต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแข่งขันกีฬาฟุตบอล 

 

“จริงๆ การแข่งขันจำเป็นต้องรวบรวมเจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายจัดการแข่งขัน คิดภาพว่าเรากำลังสร้างเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง คนที่คิดวิธีการแข่งขันก็ต้องใช้คนจำนวนมาก มีระบบการเก็บข้อมูลและสถิติที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นสมาคมจึงต้องสร้างโครงสร้างการแข่งขันที่มีคุณภาพทั้งในทีมชาติและลีก 

(T1 – T4) ให้แข็งแรง โดยเบื้องต้นมีการนำ VAR มาใช้ในการแข่งขันตามมาตรฐานของลีกสากล การสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพเพื่อเข้ามาเติมเต็มวงการฟุตบอลไทย หลังจากนั้นก็ต้องมีเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง ครีเอทีฟ เราจะขายสินค้าที่แต่ละสโมสรมีอยู่ได้อย่างไร สมาคมจึงได้จับมือกับลีกชั้นนำของโลกอย่างลาลีกา เจลีก เพื่อมาให้ความรู้กับสโมสรต่างๆ นำไปปรับใช้ในสโมสรของตัวเอง 

 

“ผู้ตัดสินก็จะต้องมีระบบอคาเดมีขึ้นมาเหมือนนักกีฬา นั่นคืออคาเดมีที่เราได้ทำการเปิดรับสมัครอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เขายังอายุน้อยๆ คือเริ่มตั้งแต่ 20 ปี แล้วเราค่อยมาดูศักยภาพที่เขามี หลังจากฝึกซ้อมแล้ว คนไหนจะสามารถก้าวเข้าสู่การแข่งขันใน Youth Leauge ได้ แล้วหลังจากนั้นจึงจะมีการเก็บชั่วโมง แบ่งเกรด พูดง่ายๆ คือการสร้างเส้นทางให้เขาตั้งแต่ T4 T3 T2 T1 ไปจนถึงระดับนานาชาติโดย FIFA ปัจจุบันจำนวนกรรมการของไทยเรามีทั้งหมด 200 คน แบ่งเป็นกรรมการที่มีความสามารถในการเป่าไทยลีก (T1) ได้ไม่ถึง 40 คน เทียบกับเมืองนอกที่มีกรรมการทั้งหมดกว่า 600 คน เช่น ญี่ปุ่น สมาคมจึงมีการดึงเทคโนโลยี VAR เข้ามาเพื่อให้กรรมการตัดสินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“ถัดจากนั้นยังมีเรื่องของโค้ช โดยก่อนหน้านี้จำนวนโค้ชมีน้อยมาก แต่ตอนนี้ตัวเลขขยับขึ้นมาที่ 600 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นโค้ช C-license เปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำอย่างญี่ปุ่นที่มีโค้ช pro-license เกินกว่า 1,000 คน ที่ผ่านมาในอดีตจะเป็นโค้ชได้ก็ต้องมาเรียนเพื่อให้ได้ license AFC แต่ปัญหาก็คือ หลายคนที่มาสมัครเรียนอาจจะเริ่มจากความคิดที่ว่า ‘ฉันชอบฟุตบอล ฉันมาเป็นโค้ชดีกว่า’ ในขณะที่ที่นั่งเรียนมีจำนวนจำกัด ผลปรากฏว่า พอเรียนจบ หลายคนไม่ได้อยู่ในวงการฟุตบอล หรือไม่ได้กลับไปเกี่ยวข้องกับฟุตบอลอีกเลย บางคนกลับไปทำงานประจำ เปิดธุรกิจของตัวเอง ทำให้เกิด waste resource ทั้งในแง่ของคนสอน อุปกรณ์การเรียนต่างๆ รวมถึงเวลา สมาคมจึงจัดทำหลักสูตรอบรมโค้ชฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อทำการเทียบกับ license ของ AFC เพื่อให้ได้รับการรับรองทันที ไม่ต้องเรียนคอร์สที่จัดโดย AFC โดยตรง แต่ได้ license เดียวกัน

 

“แต่เป้าหมายของเราคือการสร้างคนให้เข้าสู่วงการฟุตบอล ดังนั้น สมาคมฯ จึงสร้างคอร์สเตรียมการเป็นโค้ชอาชีพชื่อว่า FA Introductory Course ให้กลายเป็น Coaching Introductory เป็นหลักสูตรระยะสั้น 6 วัน เพื่อให้คนที่มีความรักในฟุตบอลได้เข้ามาเรียนรู้ ทดลองว่าอาชีพนี้เหมาะสมกับคุณไหม ถ้าคุณพอใจกับเบสิกเท่านี้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้า 6 วันที่ได้เรียนรู้แล้วคุณรู้สึกชอบ มีแววที่จะไปต่อ หรือมีความสามารถ ก็สามารถสมัครเข้าสู่ระบบของมืออาชีพคือ AFC C-license, B-license, A-license และ pro-license ได้ หรือถ้าระหว่างทางเกิดเปลี่ยนใจ ถ้าคุณมี C-license แล้ว ก็ยังสามารถต่อยอดไปทำงานด้านอื่นๆ ได้ เช่น เรื่องสมรรถภาพนักกีฬา ฟุตซอล หรือแม้แต่ผู้รักษาประตู นี่ก็จะเป็นภาพรวมของเส้นทางการเป็นโค้ช หากเปรียบเทียบโค้ชระดับ pro-license (T1) ปี 2016 เรามีเพียง 1 คน แต่มาถึงปี 2018 เรามีเพิ่มจากคอร์สที่เปิดรับสมัครกว่า 50 คนในปัจจุบัน 

 

 ผู้ฝึกสอนในแต่ละระดับมีความสำคัญที่เท่าเทียมกัน แต่ใช้องค์ความรู้ที่แตกต่างกัน โดยเป้าหมายของสมาคมกีฬาฟุตบอลภายในปี 2026 คือการวางระบบ ทั้งการสมัคร คัดเลือก ฝึกอบรม พัฒนา ประเมิน ทบทวน และเพิ่มเติมความรู้ให้กับผู้ฝีกสอนในทุกระดับ ผ่านศูนย์การประสานงานของแต่ละภูมิภาค และที่สำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้ฝึกสอนให้เพียงพอต่อระบบการพัฒนาในแต่ละระดับ

 

 

ก้าวที่ 4 การวางรากฐานของทีมชาติ  

 

รากฐานที่สำคัญสำหรับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเองคือการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติมีมาตราฐานเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการรองรับการพัฒนาทีมชาติในทุกชุด และยังมีการประมูลลิขสิทธิ์ระยะยาวเพื่อเสถียรภาพของการพัฒนาฟุตบอลที่ต้องมีความต่อเนื่องและงบประมาณเพียงพอ รวมไปถึงการจัดการแข่งขันแมตช์อุ่นเครื่องของทีมชาติเพื่อให้ทีมได้ลองเล่นในการแข่งขันที่ได้มาตราฐานของ FIFA  

 

“นี่คือเป้าหมายสำคัญสำหรับฟุตบอลทีมชาติไทยในอนาคต” 

 

สำหรับสโมสรฟุตบอลไทยเองคือการสร้างเกณฑ์ในการให้เงินสนับสนุน FA Development ใหม่ โดยอิงจากการตรวจ Club Licensing ว่าสโมสรยังขาดสิ่งใดที่

 

เป็นพื้นฐาน เช่น เก้าอี้ในสนาม ไฟส่องสว่าง ห้องต่างๆ สนามหญ้าที่ได้มาตรฐาน ไม่อนุญาตให้นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นจนกว่าสิ่งพื้นฐานจะสมบูรณ์

 

 

ก้าวที่ 5 ก้าวสำคัญไปสู่ ‘THAILAND WAY’

 

สิ่งที่สำคัญของสมาคมฯ เราต่อจากนี้คือ การนำเอาทรัพยากรทั่วประเทศ เข้ามาผ่านโครงสร้างที่เป็นเหมือนบ้านหลังใหญ่ ซึ่งนี่เป็นเพียงยุคเริ่มต้นของการนำคนที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล ทั้งนักเตะและทีมงานเข้าสู่ระบบที่เราเตรียมไว้

 

“ยุคเริ่มต้นเราถึงต้องกลับมามองตัวเองว่า 5 ปีที่ผ่านมา เราได้สร้างอะไรไว้บ้าง และยังต้องทำอะไรต่อ แต่ในอนาคตเราก็ต้องทำให้ได้ตามสแตนดาร์ดของโลก เริ่มใช้ระบบ FA Development หรือ Club Licensing เพื่อจะให้บังคับหรือพัฒนาสโมสรให้เป็นไปตามระบบ หรือแม้แต่อคาเดมีเราก็ยังไม่เคยขึ้นทะเบียน ตอนนี้ก็เพิ่งจะเริ่มต้น ถือว่า 5 ปีที่ผ่านมา มันคือการเริ่มต้นใหม่ในทุกๆ เรื่องจริงๆ

 

ยุควางรากฐาน หรือ set standard ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปี ตั้งแต่ปี 2017-2036 โดยเริ่มต้นในช่วงแรกระหว่างปี 2017-2021 คือการสร้างเครือข่ายระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงสร้างปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลแห่งชาติ 

 

ความสำคัญของการวางระบบพื้นฐานต่างๆ ในช่วงเวลานี้ เปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่ต้องเริ่มต้นจากการวางเสาเข็มและฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้อนาคตสามารถรองรับการใช้งานต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน หากบ้านจะสามารถสร้างขึ้นอย่างมั่นคง ก็ต้องมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ดังนั้นยุคแห่งการวางรากฐานต้องเป็นไปตามระบบขั้นตอน เพื่อให้การพัฒนาต่อไปสู่อนาคตเป็นไปอย่างยั่งยืน 

  

ความสำเร็จของฟุตบอลทีมชาติในระดับสากลมักเกิดขึ้นจากองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างจากฟุตบอลระดับโลก เราได้เห็นฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ ชาติที่มีลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีกอังกฤษ แต่ผลงานทีมชาติกลับสามารถคว้าแชมป์โลกได้เพียงครั้งเดียว 

 

แตกต่างจากเยอรมนี อิตาลี และบราซิล ที่ต่างคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกรวมกันไปแล้ว 13 สมัย ทั้งที่ลีกทั้ง 3 ชาติในปัจจุบันอาจไม่ใช่ลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุด 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ชาติมหาอำนาจฟุตบอลทั่วโลกมีเหมือนกันคือ ระบบการพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศ ตั้งแต่สนามแข่งขัน ศูนย์ฝึก และลีกที่เป็นระบบ ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาต่อยอดจากระบบพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ฟุตบอลทีมชาติไทยอยู่ในยุคเริ่มต้นของการวางรากฐาน สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือการลงทุนกับเวลา เนื่องจากผลงานของทีมชาติไทยในแต่ละนัดในเวลาอาจเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากยุคเริ่มต้น 

 

เพราะหากจะคาดหวังผลงานในระดับการแข่งขันที่สูงขึ้น ฟุตบอลไทยจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเป้าหมายนี้ตามที่นโยบายของสมาคมเราคือ การวางระบบพื้นฐานให้แข็งแกร่งและมีรูปธรรมที่ชัดเจนเพื่อโอกาสในการต่อยอดสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้น

 

อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยในปัจจุบัน เผยว่า ความสำคัญของการพัฒนานักฟุตบอลเยาวชนของไทยจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงตัวเขาเองที่จะต้องช่วยกันออกแบบและพัฒนาระบบการแข่งขันที่ทำให้นักเตะไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่มาตรฐานที่สูงขึ้น 

 

เป้าหมายนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มต้นทำคือ การวางระบบต่างๆ ตามแผนแม่แบบที่สมาคมฯ เราวางไว้ ไปสู่อนาคตเหมือนกับการสร้างบ้านหลังใหม่ ที่ประกอบไปด้วยรากฐานที่มั่นคง เพื่อให้นักเตะที่ผ่านระบบการแข่งขันนี้มีศักยภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ 

 

อีกสิ่งที่สำคัญคือ เวลาในการก่อสร้างระบบต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะมีความคิดเห็นคล้ายกันในการนำพาฟุตบอลไทยไปสู่หนทางที่ใช้ความได้เปรียบที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และแก้ไขจุดอ่อนที่เรามี จนสุดท้ายสามารถหาหนทางที่เหมาะสมกับเราเองมากที่สุด หรือที่สามารถเรียกได้ว่า ‘ไทยแลนด์เวย์’ ในอนาคต 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X