×

รัฐบาลเอาจริง! รีด VAT 7% สินค้านำเข้าต่ำกว่า 1,500 บาท ตั้งแต่สินค้าบาทแรก เริ่ม 5 ก.ค. – 31 ธ.ค. 67

22.06.2024
  • LOADING...
VAT

รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (22 มิถุนายน) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท หรือมีผลตั้งแต่สินค้าบาทแรกที่นำเข้า เริ่ม 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภค ระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ขายในประเทศไทยซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

 

ประกอบกับประเทศไทยต้องปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งให้กำหนดราคาขั้นต่ำของของที่นำเข้าแต่ละราย เพื่อให้คุ้มค่ากับการจัดเก็บอากรศุลกากร อันเพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ

 

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ให้ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งแต่ละรายผู้รับในประเทศมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัย (CIF) ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 บาท แต่ไม่เกิน 1,500 บาท 

 

ข้อ 2 ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติตามพิธีการที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนด

 

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ย้อนปมปัญหา

 

หากย้อนถึงปมปัญหา ปัจจุบันสินค้าราคาถูกโดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนนับวันยิ่งทะลักเข้ามาเรื่อยๆ เนื่องจากจีนสามารถผลิตสินค้าได้ทีละจำนวนมาก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ ทำให้ตั้งราคาถูกและเข้ามาตัดราคา

 

ประกอบกับการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้สินค้าจากต่างชาติสามารถอาศัยช่องว่างทางภาษีที่อนุญาตให้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกจึงเกิดเสียงสะท้อนและเกิดการตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาผู้ผลิตไทยเองถูกเอาเปรียบจากช่องว่างทางภาษีมานานหลายปีแล้วหรือไม่ 

 

โดยก่อนหน้านี้ ทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่า สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เช่น กางเกงช้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่กำลังสะเทือนไปทั้งตลาดอาเซียนจากปัญหาช่องโหว่ของสินค้าราคาถูกจะเข้ามาทุ่มตลาดในไทย ทั้งจากสินค้าออนไลน์ และการเข้ามาใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone 

 

จึงขอให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่น การนำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนตลาด (Anti-Circumvention: AC) มาบังคับใช้ การเพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร และจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท

 

ขณะที่ นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกอีกว่า ภาคการผลิตทรุดตัวที่สะท้อนจากดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายโรงงานปิดตัวลง ซึ่งประเด็นนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยติดตามสถิติยอดจดทะเบียนกิจการในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการต่อเนื่อง โดยในปี 2566 โรงงานปิดกิจการ 1,337 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65% หรือเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง ขณะที่ปี 2565 ปิดกิจการ 997 แห่ง และปี 2564 ปิดกิจการแค่ 678 แห่ง 

 

โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง มีโรงงานปิดกิจการ 561 แห่ง หรือเฉลี่ยเดือนละ 113 แห่ง ส่งผลให้มีคนตกงานแล้ว 15,000 คน

 

ปัจจัยหลักๆ คือ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากปัญหาสงครามทางการค้า ทำให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เน้นการค้าเสรีมากตอบโต้กับจีน ในขณะที่จีนใช้มาตรการตอบโต้สินค้าทุ่มตลาด เมื่อบวกกับกำลังการผลิตที่ยังมีเท่าเดิม ทำให้มีสินค้าจากจีนที่ราคาถูกทะลักเข้ามาในไทยและภูมิภาคอาเซียนจำนวนมาก ส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศต้องลดกำลังการผลิตลง เพราะไม่สามารถแข่งขันในเรื่องต้นทุนสินค้าได้ 

 

“ที่ผ่านมามาตรการของไทยเราเป็นเพียงการรัดใต้เข็มขัดเท่านั้น แต่ไม่มีรั้ว ไม่มีกำแพง ไม่มีประตูเหล็ก เหมือนสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาทุ่มตลาด กระทบภาคการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นาวากล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising