รายงานข่าวระบุว่าวานนี้ (17 เมษายน) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าถึงแผนการเดินทางเจรจากับสหรัฐอเมริกาว่า วันที่ 23 เมษายน พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปพูดคุยกับระดับรัฐมนตรีสหรัฐฯ
โดยยืนยันว่า ประเด็นในการเจรจาที่ไทยจะนำไปต่อรองกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมีความแข็งแรง และมั่นใจว่าจะส่งผลบวกและเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ ซึ่งจะมีการพูดคุยกันอย่างแฟร์ๆ เพราะไทยกับสหรัฐฯมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดี
ส่วนรายละเอียดที่จะมีการเจรจานั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าเป็นหลัก และได้เน้นย้ำว่า จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ
ย้อนดู 5 แนวทางในการเจรจาของไทย มีอะไรบ้าง
- เน้นความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกัน เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านการผลิตคุณภาพสูง ส่วนสหรัฐฯ มีความสามารถด้านวัตถุดิบต้นทาง เทคโนโลยี และเกษตรกรรมระดับพรีเมียม หากเกิดความร่วมมือกัน คาดว่าจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น
- พร้อมเปิดตลาดและลดภาษีในสินค้าเกษตร ภายใต้กรอบ National Trade Estimate 2025 ของสหรัฐฯ เช่น ข้าวโพด จากสหรัฐ โดยใช้โควตานำเข้าแบบยืดหยุ่นรักษาสมดุลเพื่อให้ไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
- เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากสหรัฐ ที่ไทยไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และผลไม้เมืองหนาว ซึ่งจะช่วยลดดุลการค้าและสร้างสมดุลในเชิงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เช่น มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) จากสหรัฐฯ เพิ่มอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.98 หมื่นล้านบาท
- เสนอคัดกรองสินค้าส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์จากประเทศที่สาม ทั้งการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบและโรงงานผลิต เน้นความโปร่งใสและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในฐานะคู่ค้า
- ส่งเสริมการลงทุนของไทยในอุตสาหกรรมแปรรูปภายในสหรัฐ เพื่อลดแรงต้านทางการค้า โดยมีแผนผลักดันให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปในสหรัฐ เพื่อช่วยขยาย value chain ใหม่ และลดแรงเสียดทานจากนโยบายภาษีของทรัมป์
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับกรอบการเจรจาข้างต้นนั้นสืบเนื่องมาจาก รัฐบาลได้แต่งตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐ” ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 เพื่อศึกษาวางแผนและรับมือนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยกับสหรัฐ เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการค้า และการลงทุนของประเทศ
โดยมีทีมงานคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบด้วย
- พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์
- นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
- ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
- ขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
- โอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แต่งตั้ง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจากับสหรัฐฯ พร้อมด้วยกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และล่าสุดเตรียมเดินทางไปพูดคุยกับระดับรัฐมนตรีสหรัฐฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หอการค้าจับตาผลเจรจา หากไม่คืบ ออเดอร์ไตรมาส 2 เดี้ยง
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่ทีมไทยแลนด์มีกำหนดการเตรียมเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ โดยปัจจุบันจากข้อมูลเข้าใจว่ามี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจาของไทย ร่วมกับพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทีมไทยแลนด์เดินทางไปเจรจา โดยขณะนี้หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลให้ร่วมเดินทางไปกับทีมไทยแลนด์ที่เตรียมเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ ด้วย
“ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอไปต่อรัฐบาล เราได้ทำข้อมูลเสนอให้กับทางรัฐบาลไปหมดแล้วจึงสรุป เป็นแนวทาง 5 แผนงาน ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลแถลงแผนไปแล้วก่อนหน้านี้” ดร.พจน์ กล่าว
สำหรับจากนี้ไปในฝั่งเอกชนขณะนี้จะรอติดตามผลความคืบหน้าของการเจรจาของรัฐบาลกับสหรัฐฯ โดยจะรอให้ทีมไทยแลนด์กลับมาก่อน จากนั้นจึงจะมีการอัปเดตข้อมูลผลความคืบหน้าในการเจรจา จากนั้นจึงจะมีการนัดภาคเอกชนเพื่อกำหนดท่าทีและแผนรับมือในฝั่งของภาคเอกชนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากบรรยากาศยังเป็นอย่างนี้ ตัวเลขส่งออกในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะหายไปเยอะ ซึ่งตอนนี้ออเดอร์ยังเงียบอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม พจน์ระบุอีกว่า เร็วๆ นี้จะนำทีมหอการค้าไทย และสมาชิกที่มีความพร้อมและสนใจอยากจะลงทุนในสหรัฐ ร่วมหอการค้าอเมริกาในไทย และทีมรัฐบาลเพื่อเข้างาน “SelectUSA” ที่ทุกมลรัฐของอเมริกาได้เชิญชวนไปลงทุน ซึ่งจะพาผู้บริหารของบริษัทที่มีศักยภาพไปดูลู่ทางเพื่อขยายการลงทุนในครั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีกำหนดเดินทางในช่วงวันที่ 9-14 พฤษภาคมนี้ จากนั้นช่วงวันที่ 19-21 พฤษภาคม ในไทย จะมีการสัมมนาไทย-สหรัฐ เพื่อดึงการลงทุนระหว่างประเทศไทย-สหรัฐ
ดร.ศุภวุฒิ ย้ำจุดแข็งไทยคือ “แปรรูปสินค้าเกษตร”
ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ล่าสุดวันนี้ (17 เมษายน) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ยืนยันตนเองไม่ได้ร่วมเดินทางกับทีมไทยแลนด์ที่เตรียมเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ เนื่องจากตนเองอยู่ในฐานะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำงานในฐานะที่ปรึกษาเท่านั้น โดยได้ทำความเห็นกับข้อมูลนำเสนอต่อคณะทำงานที่มาดูปัญหาการค้าไทย กับ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดร.ศุภวุฒิ ย้ำว่า หากดูในหลักการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชะลอ 90 วัน ถือว่ายังไม่ใช่เรื่องโล่งอก เพราะนักธุรกิจวางแผนการลงทุนรายปี 5 ปี 10 ปี เมื่อบอกว่ายืดเวลาออกไป 90 วัน เปลี่ยนได้นั้น จึงไม่ตอบโจทย์การทำธุรกิจ
และเมื่อถามว่าหากไทยมีเวลาเจรจา 90 วัน ไทยต้องปรับแผนหรือวางแผนเตรียมการอย่างไร ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่า เราคิดกรอบการเจรจาค่อนข้างที่จะครบถ้วนแล้ว และแน่นอนว่า 5 ข้อที่วางไว้คือกรอบแนวทาง
“ต้องดูเขาตั้งโจทย์อะไร เขาจะไม่ใช่คนเดิม เขาจะไม่เป็นอเมริกาที่สร้างระบบการค้าพหุภาคี ไม่มี General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ที่ส่งเสริมประโยชน์ทางการค้าร่วมกันอีกต่อไปแล้ว อย่าไปหวังกลับไปสู่สมัยเดิม อเมริกาเปลี่ยนไปแล้ว ทรัมป์เปลี่ยนไปแล้ว ในโลกใหม่อเมริกาแบบใหม่เราจะอยู่กับเขาอย่างไร ตอบเร็วๆ คือ เราคิดว่า เขาตั้งเอาไว้เพื่อให้ต่อรองลงมา อาจจะต่อรองลงมาได้ เขาก็เปิดไต๋แล้วว่าลงมาได้ที่ 10% ทุกประเทศโดนหมด”
อีกเป้าคือ จะอยู่กับอเมริกาอย่างไร ซึ่งในทีมก็คุยกันว่า เราจะใช้ประโยชน์ร่วมกันกับอเมริกาอย่างไร ดังนั้น หลักการที่สำคัญคือ นอกจากตอบสนองสิ่งที่อเมริการ้องเรียนมาตลอด ซึ่งเรามาดูเป็นข้อๆ
ดังนั้น “ในเมื่อไทยเป็นประเทศที่แปรรูปอาหารได้ดี เขาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรได้ดี เราจะตั้งใจซื้อสินค้าเขามาแปรรูป นี่แหละคือวิธีที่จะทำมาหากิน เพราะเรื่องอาหารเราทำได้ดี ต่อยอดไปสู่จุดแข็งที่ไทยเป็นประเทศที่น่าเที่ยว น่าอยู่ ส่วนไพ่ใบที่เหลือนั้นไทยมีแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้”