×

ไทยในระเบียบทรัมป์ 2.0 ตอนที่ 1: ภูมิรัฐศาสตร์บนผลประโยชน์สหรัฐฯ

11.11.2024
  • LOADING...
ทรัมป์ ไทย

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในรอบที่ 2 ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2025 เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในมิติภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้งและการห้ำหั่นกันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ ที่ไทยในฐานะประเทศขนาดกลางไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ 

 

โดยในบทความตอนแรกจะเป็นการพิจารณาในมิติความมั่นคงและการทหาร และบทความตอนที่ 2 จะพิจารณาในมิติเศรษฐกิจ

 

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากฟากตะวันตกสู่สมรภูมิแห่งการต่อรองทางตะวันออก

 

  1. ทรัมป์ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงเวลาหาเสียงแล้วว่า หากเขาชนะการเลือกตั้งและแม้จะอยู่ในฐานะ President Elected ที่ยังไม่ได้สาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็จะรีบยกหูโทรศัพท์เพื่อสื่อสารกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย เพื่อขอให้เกิดการเจรจาสันติภาพและยุติสงครามในยูเครน อันเป็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO (ซึ่งทรัมป์ยังคงยืนยันว่าพันธมิตร NATO อีก 31 ประเทศ ต้องจ่ายเงินสมทบและลงทุนเพิ่มขึ้นในกองทัพของตนเอง) 

 

แน่นอนว่าสันติภาพที่เกิดขึ้นหมายถึงการที่รัสเซียจะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ในยูเครนที่รัสเซียได้ครอบครองเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะในคาบสมุทรไครเมียและพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน โดยเฉพาะแคว้นลูฮันสก์และโดเนตสก์ (ซึ่งอาจรวมถึงคาร์คิฟ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน)

 

  1. ทรัมป์จะยังคงให้การสนับสนุนอิสราเอลในการรุกคืบ ควบคุม และครอบครองพื้นที่ในฉนวนกาซาและเลบานอน รวมทั้งยังขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์มากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการตอบแทนกลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันเชื้อสายยิวแล้ว ยังเป็นโอกาสในการใช้อิสราเอลต้านทานภัยคุกคามที่ทรัมป์ห่วงกังวลมากที่สุดนั่นคือ อิหร่านที่ยังคงชักธงชาติสีแดงเหนือมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ Jamkaran และยังคงอาฆาตมาดร้ายและต้องการแก้แค้นให้ นายพลกัสเซม โซเลมานี ผู้นำกองกำลังพิเศษ Quds ที่ถูกสังหารโดยคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในคราวที่เขาดำรงตำแหน่งในสมัยแรก

 

  1. ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นกลายเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า สหรัฐอเมริกาที่มีแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้การนำของทรัมป์จะส่งสัญญาณว่า ประเทศที่มีพลังอำนาจเข้มแข็งทางการทหารสามารถเข้ายึดครองพื้นที่ของประเทศที่อ่อนแอกว่าได้ หากการยึดครองนั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และด้วยสัญญาณนี้ ประเด็นความมั่นคงทางตะวันตกจากยุโรปและตะวันออกกลาง / เปอร์เซีย จะมาเชื่อมโยงกับประเด็นความขัดแย้งทางฝั่งตะวันออกนั่นคือ คาบสมุทรเกาหลีและช่องแคบไต้หวัน

 

  1. สัญญาณในข้อที่ 3 เมื่อประกอบกับสภาพความจริงในยูเครนที่เราเห็นปฏิบัติการทางทหารร่วมกันระหว่างทหารรัสเซียและทหารเกาหลีเหนือ พร้อมกับที่ประธานาธิบดีปูตินเองก็ออกมาแถลงในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ว่า รัสเซียและเกาหลีเหนือจะเป็นพันธมิตรที่จะช่วยกันทางการทหารหากประเทศใดประเทศหนึ่งถูกรุกราน ซึ่งนั่นหมายความว่า 

 

    1. ทหารเกาหลีเหนือจะได้ฝึกหัดการรบในพื้นที่สงครามของจริง
    2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการทหารระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือได้เกิดขึ้นแล้ว โดยเทคโนโลยีที่น่าห่วงกังวลมากที่สุดคือ Sensing, Timing และ Navigating สำหรับขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือพัฒนามาอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่สำเร็จ

 

  1. สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือ ภายใต้การส่งสัญญาณว่าประเทศเข้มแข็งสามารถยึดครองประเทศอ่อนแอได้หากผลประโยชน์สอดคล้องกับสหรัฐฯ นั่นจะทำให้ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองมากขึ้นผ่านการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการอย่างคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือ ขึ้นมาอีกรอบ หลังจากที่พวกเขาเคยพบกันมาแล้ว 3 ครั้ง (ที่เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม) นั่นจะเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณทางตรงไปที่เกาหลีใต้ (ซึ่งในระยะหลังสหรัฐฯ พึ่งพาเกาหลีใต้มากขึ้น) ว่า

 

    1. คุณต้องห่วงกังวลเรื่องเกาหลีเหนือสร้างสงครามในคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น และคุณต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น เพื่อซื้ออาวุธและบริการทางการทหารจากสหรัฐฯ
    2. ใช้ประเด็นทางการทหารเป็นการกดดันประเด็นทางเศรษฐกิจ (จากภูมิรัฐศาสตร์สู่ภูมิเศรษฐศาสตร์) เพราะในระยะหลังสหรัฐฯ พึ่งพา / พึ่งพิง เกาหลีใต้ในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูงมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ซึ่งเกาหลีใต้อยู่ในฐานะผู้นำทางเทคโนโลยีอันดับ 2-3 ของโลก และยิ่งมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ภายใต้กฎหมาย CHIPS and Science Act ที่สนับสนุนให้มีการย้ายฐานการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ออกจากไต้หวัน และส่วนหนึ่งย้ายมาที่เกาหลีใต้ (อีกส่วนย้ายไปที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐฯ เอง)

 

  1. สำหรับไต้หวัน ทรัมป์เคยกล่าวไว้แล้วในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่า 

 

    1. ไต้หวันจะได้รับการสนับสนุนน้อยลงจากสหรัฐอเมริกา
    2. ไต้หวันต้องเพิ่มงบประมาณในการทหารและการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขที่ Elbridge Colby ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ตั้งไว้คือ ไต้หวันควรเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้นไปเป็น 10% ของ GDP (จากเดิมที่ระดับ 2.45% ของ GDP หรือต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นถึง 4 เท่า) 
    3. ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ คือกรมธรรม์ประกันภัยประกันความเสี่ยงด้านความมั่นคงให้ไต้หวัน ดังนั้นไต้หวันต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มหากต้องการความคุ้มครองจากสหรัฐฯ

 

ซึ่งแน่นอนว่าการส่งสัญญาณว่าประเทศเข้มแข็งสามารถยึดครองประเทศอ่อนแอได้ ทำให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองเหนือทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้ รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมอาวุธและบริการทางการทหารของสหรัฐฯ ได้อีกต่างหาก

 

เพียงเท่านี้ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันก็จะกลายเป็นชิปที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสหรัฐฯ ในเกมแก่งแย่งอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งแน่นอนว่าภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ก็คือจีน

 

  1. ทรัมป์เคยเขียนถึงศิลปะในการเจรจาต่อรองไว้ในหนังสือเล่มแรกของเขาที่ชื่อ The Art of the Deal ว่า ในการเจรจาคุณต้องเพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยเขากล่าวว่า “เพื่อที่จะมีอำนาจเหนือในการเจรจา คุณต้องทำให้คู่เจรจาของคุณเชื่อว่าคุณจะสามารถมอบในสิ่งที่เขาต้องการที่สุดได้” และในหนังสือเล่มเดียวกันทรัมป์กล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์ในการเจรจา (Negotiation Strategy) ว่า “ในการเจรจาสิ่งแรกที่ต้องพูดถึงคือ ผมมีความเข้มแข็งอย่างไร และเน้นย้ำให้คู่เจรจาของคุณรู้ว่าเขามีจุดอ่อนคืออะไร” ซึ่งทรัมป์กำลังจะใช้สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 4, 5 และ 6 ในการเจรจากับสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

  1. สิ่งที่ผู้นำจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งประชาชาติจีน ต้องการมากที่สุดเขียนไว้แล้วอยู่ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญของประเทศนั่นคือ “เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนทุกคน รวมถึงเพื่อนชาวจีนของเราในไต้หวัน ที่จะบรรลุการรวมชาติอันยิ่งใหญ่ของมาตุภูมิ” ดังนั้นสิ่งที่ทรัมป์ต้องการให้จีนรู้ว่าเขาสามารถจะส่งมอบให้กับจีนได้นั่นก็คือไต้หวันผ่านการยอมรับหลักการจีนเดียว และยุติความกำกวมทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ (Strategic Ambiguity นั่นคือยอมรับหลักการจีนเดียว แต่ก็ยืนยันที่จะส่งกองทัพเข้าช่วยไต้หวันหากไต้หวันถูกรุกราน) ซึ่งทรัมป์เองก็เคยกล่าวไว้แล้วว่า เขาพร้อมที่จะยุติความกำกวมนี้หากจีนมีข้อเสนอที่ดีเพียงพอ

 

  1. แน่นอนว่าแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐฯ ที่ยิ่งใหญ่ และ Exercise ในสงครามจริงตลอดเวลา มีความเหนือกว่าแสนยานุภาพของจีน ที่แม้จะมีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ก็ขาดประสบการณ์ เพราะจีนไม่เคยรบในสงครามจริง สนามรบจริง มานานมากแล้ว ประกอบกับตลาดขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและเทคโนโลยีบางอย่างที่จีนเองก็ยังต้องการพึ่งพาจากสหรัฐฯ รวมทั้งการที่ทั้งสองมหาอำนาจต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่าการปะทะกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะกลายเป็นสงครามยืดเยื้อ รุนแรง และเสียหายด้วยกันทั้งคู่ 

 

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสงคราม กลับมาเจรจา มาค้าขาย มาร่วมลงทุน ในรูปแบบที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายได้เปรียบ และการที่จีนยอมรับสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ยอมที่จะอยู่ภายใต้ระเบียบโลกที่สหรัฐฯ มีบทบาทสูงเด่นในการวางระเบียบ (อย่างน้อยก็อีกสักช่วงเวลาหนึ่งในอนาคต ก่อนที่จีนจะเข้มแข็งมากกว่านี้) น่าจะช่วยปิดจุดอ่อนของจีนนั่นคือ เศรษฐกิจภายในที่ยังไม่เข้มแข็งเต็มที่ได้ ยอมเป็นเบอร์สองได้ค้าขาย ได้ลงทุน ได้เทคโนโลยี ทำตัวให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าจีนไม่เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป แลกกับการได้ไต้หวันกลับมา คือสุดยอดแห่งความคุ้มค่า (เพราะสำหรับจีนหากได้ไต้หวันกลับมาแล้วคงไม่มีทางยอมให้ไต้หวันสามารถแยกตัวออกไปได้อีก แล้วในอนาคตเมื่อจีนเข้มแข็งยิ่งขึ้น และเมื่อสหรัฐฯ อ่อนถอยพลังอำนาจลงจากปัจจัยภายในสหรัฐฯ เอง เมื่อนั้นจีนค่อยกลับมาทวงความเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกก็ยังไม่สาย)

 

  1. 1. จีนต้องยอมลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (บังคับให้จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และกดราคาสินค้าส่งออกของจีนลง) 

 

  1. จีนต้องมาลงทุนในสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ต้องจ้างงานคนอเมริกันมากยิ่งขึ้น

 

  1. ต้องยอมเปิดเผย / ถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่จีนมีให้สหรัฐฯ เท่านี้ทรัมป์ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งยังแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ ลดค่าครองชีพให้กับคนอเมริกันได้ สร้างตำแหน่งงานให้คนอเมริกันได้ ผ่านการค้าการลงทุนกับจีน และยังไม่สำคัญเท่ากับยังสามารถเคลมได้ด้วยว่าเขาคือคนที่สร้างสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน 

 

ทำไมทรัมป์ถึงกล้าทิ้ง Bargaining Chip ที่ชื่อไต้หวัน คำตอบคืออเมริกาพึ่งพาไต้หวันลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มย้ายฐานออกจากไต้หวันกลับสหรัฐฯ และไปเกาหลี (ที่ได้กล่าวไปแล้วว่าทรัมป์เองก็จะใช้ประเด็นเกาหลีเหนือกดดันเกาหลีใต้ได้ เหมือนกับที่เคยใช้ประเด็นจีนกดดันไต้หวันในอดีต) 

 

นอกจากชิปคอมพิวเตอร์แล้ว สหรัฐฯ แทบจะไม่พึ่งพาอะไรจากไต้หวันอีกเลย แต่การเก็บไต้หวันไว้ โดยยังยึดมั่นใน Joint Communiqué และ Taiwan Act ที่บอกว่าสหรัฐฯ ต้องส่งกองทัพไปช่วยกลับแต่จะสร้างภาระให้สหรัฐฯ ในระยะยาว (ไม่ส่งกองทัพมาช่วยรบ สหรัฐฯ ก็เสียพันธมิตรที่เชื่อมั่นในสหรัฐฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ หรือหากส่งกองทัพมารบ แต่ดันแพ้จีน สหรัฐฯ ก็จะสูญเสียสถานะมหาอำนาจทางการทหาร หรือส่งกองทัพมาเต็มที่ก็กลายเป็นสงครามยืดเยื้อ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของสหรัฐฯ และเคยเกิดขึ้นแล้วทั้งในเวียดนามและในอัฟกานิสถาน) 

 

ดังนั้นไต้หวันจึงเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่จะนำสหรัฐฯ ไปปะทะกับจีนโดยตรง ทั้งๆ ที่คนอเมริกันส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อีกต่างหาก และแน่นอนว่าการยกเลิกทั้ง Joint Communiqué และ Taiwan Act ไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2025-2026 ที่ทรัมป์ยังคุมเสียงข้างมากได้ทั้งในสภาสูงและสภาล่างของสภาคองเกรส

 

สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องจับตา ติดตามสถานการณ์ และสร้างสมดุลให้ดี ก็คือ แล้วสถานการณ์ความขัดแย้งนี้จะขยายตัวลุกลามลงมาจนถึงทะเลจีนใต้หรือไม่ ดุลแห่งอำนาจที่อาจกำลังเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยจะสร้างสมดุลใหม่ผ่านการวางยุทธศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีนอย่างไร คือสิ่งที่คนไทยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิดและวิเคราะห์ต่อไป

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images North America / Getty Images Via AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising