×

ไทยในระเบียบทรัมป์ 2.0 ตอนที่ 2: ภูมิเศรษฐศาสตร์บนผลประโยชน์สหรัฐฯ

12.11.2024
  • LOADING...

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในรอบที่ 2 ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2025 เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในมิติภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้ง และการห้ำหั่นกันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่ไทยในฐานะประเทศขนาดกลางไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

 

โดยในบทความตอนที่ 2 นี้พิจารณาในมิติเศรษฐกิจที่ไทยยึดโยงและเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงพลังอำนาจในมิติความมั่นคงและการทหาร ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในบทความตอนที่ 1

 

บทเรียนจากทรัมป์ 1.0

 

  1. แม้ตลอดปี 2016 ทรัมป์จะใช้แคมเปญ ‘America First’ และ ‘Make America Great Again’(MAGA) ในการหาเสียง แต่ตลอดทั้งปี 2017 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเองก็ยังดูจะอยู่ในแนวทางพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บรรยากาศการพบกันระหว่างทรัมป์และ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่ว่าจะเป็นที่รีสอร์ตมาร์อาลาโก และการเจรจาที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี รวมทั้งการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน 2017 ล้วนเป็นไปอย่างดี รวมทั้งร่วมกันออกแบบพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ในยุคใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ความชื่นมื่นทั้งหมดที่กล่าวมาล่มสลายลงเมื่อสหรัฐฯ ประกาศ ‘ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง’ (US National Security Strategy) ในเดือนธันวาคม 2017 โดยยุทธศาสตร์ฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าจีนคือภัยคุกคามสูงสุด โดยมีทั้งศักยภาพและความตั้งใจในการท้าทายทั้ง 4 เป้าหมายของยุทธศาสตร์ฉบับนี้ โดยข้อที่สำคัญที่สุดคือท้าทายสถานะผู้นำในการจัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียวของสหรัฐฯ ซึ่งนั่นนำมาสู่สิ่งที่ทุกคนเรียกกันว่า ‘China Package’ ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2018 จนถึงวันสุดท้ายที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบแรก (มกราคม 2021)

 

China Package ที่เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และการแบ่งแยกห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ ประกอบไปด้วย

 

  1. 8 คำสั่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ (Executive Order) ที่เป็นมาตรการโดยตรงต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับจีน
  2. บวกกับอีก 7 คำสั่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เป็นมาตรการหลักซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ถึงแม้จะไม่ได้ระบุเจาะจงถึงจีนโดยตรงใน 7 คำสั่งนี้
  3. ยังมีอีกมากกว่า 116 มาตรการที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งมาตรการมากกว่า 130 มาตรการทั้งหมดนี้ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการทางภาษี มาตรการที่มิใช่มาตรการทางภาษี มาตรการด้านการลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมไปจนถึงมาตรการที่เป็นการกดดันในประเด็นสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และการกล่าวหาว่าจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ

 

โดยคำสั่งประธานาธิบดี หรือ Executive Order คือหนังสือคำสั่งที่ออกจากประธานาธิบดีถึงหน่วยงานรัฐบาลกลางโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส และทรัมป์ก็เดินหน้าทำเรื่องเหล่านี้จนถึงวันเกือบจะสุดท้ายของเขาในทำเนียบขาว เช่น ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงในวันที่ 19 มกราคม 2020 ว่ารัฐบาลทรัมป์ตัดสินใจว่าจีนได้กระทำ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” โดยการปราบปรามชาวมุสลิมอุยกูร์ในเขตซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

 

จะซ้ำรอยในทรัมป์ 2.0 หรือไม่

 

  1. ทรัมป์ประกาศเอาไว้ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งตลอดทั้งปี 2024 ว่าหากเขาได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

 

  1. เขาจะขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนทันทีด้วยอัตราภาษีสูงถึง 60%
  2. เขาจะยกเลิกจีนจากสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation: MFN) ซึ่งนั่นหมายถึงว่าแม้ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) ด้วยกันทั้งคู่ แต่สหรัฐฯ จะไม่ให้สิทธิต่างๆ กับจีนเหมือนที่ให้สิทธิเหล่านั้นกับประเทศสมาชิก WTO ซึ่งรวมทั้งอัตราภาษีศุลกากรอัตราทั่วๆ ไปที่สหรัฐฯ จัดเก็บจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
  3. ทรัมป์ประกาศจะยกเลิกการอนุญาตให้บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากจีนสามารถวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในสหรัฐฯ
  4. ทรัมป์ยังจะทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 20% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งแน่นอนว่านี่คือมาตรการทางอ้อมที่จะป้องกันสินค้าจากผู้ประกอบการจีนที่ย้ายฐานการผลิตไปผลิตในประเทศที่สาม หรือสงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 จะรุนแรงยิ่งขึ้น

 

  1. ในบทความตอนที่ 1 ผมกล่าวถึง 2 หลักการใน The Art of the Deal ที่เป็นหนังสือเล่มแรกของทรัมป์ไปแล้ว นั่นคือ Gain Leverage และ Negotiation Strategy ในตอนที่ 2 นี้ผมจะขอกล่าวถึงยุทธวิธีการดีลของทรัมป์อีก 3 ข้อ นั่นคือ

 

    1. การทำตัวให้เด่น กล้า และใจถึง (Be Bold)
    2. การเบี่ยงเบนความสนใจ (Shift Attention) ทรัมป์เชื่อว่าการทำตัวให้โดดเด่น เปิดประเด็นให้เป็นที่ถกเถียง (Controversial) และแสดงออกว่าพร้อมจะเผชิญหน้าท้าชน (Confrontational) จะเป็นการดึงจุดสนใจมาที่เขาและนโยบายของเขา และเมื่อเขาสามารถดึงความสนใจได้ก็จะสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งที่ยืดเยื้อเรื้อรังและไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรอง ไปสู่ทางเลือกที่เป็นประโยชน์สำหรับเขาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น (โดยอีกหนึ่งหลักการจะกล่าวถึงในข้อที่ 6.)

 

  1. ดังนั้นผมเชื่อว่าทรัมป์ 2.0 จะไม่ซ้ำรอยเดินหน้าทำสงครามการค้า ทำสงครามเทคโนโลยี ในรูปแบบเดิมๆ เหมือนกับสมัยที่แล้วในยุคทรัมป์ 1.0

 

เพราะคนที่เดินตามและทำสงครามการค้าในรูปแบบเดียวกันกับที่ทรัมป์เคยทำระหว่างปี 2018-2021 คือไบเดน และนั่นนำมาซึ่งความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 เพราะต้องอย่าลืมว่าในปี 2020 ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผู้คนจำนวนมากออกมาเลือกตั้งจนทำให้พรรคเดโมแครตชนะพรรครีพับลิกันด้วยคะแนน Popular Vote ที่ทิ้งห่างถึงกว่า 7 ล้านเสียง ทั้งหมดนั้นก็เพราะคนอเมริกันต้องการการเปลี่ยนแปลง ต้องการผู้นำที่มีวิธีการใหม่ในการบริหารจัดการกับความเสี่ยงเรื่องจีน แต่ต้องไม่กระทบเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ค่าครองชีพ ปากท้องของคนอเมริกัน

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของไบเดน และ คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี ตลอดปี 2021-2024 คือการทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปในรูปแบบที่แทบจะไม่แตกต่างจากที่ทรัมป์เคยทำ และนั่นส่งผลให้ค่าครองชีพของพวกเขาสูง เพราะไม่สามารถพึ่งพาสินค้าคุณภาพดีราคาถูกจากจีนได้ และคนอเมริกันก็ตอบรับการดำเนินนโยบายของไบเดนและแฮร์ริสโดยการเลือกทรัมป์กลับมาอีกครั้ง โดย ณ​ วันที่เขียนบทความนี้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งไปแล้วทั้ง Popular Vote และ Electoral College (นับคะแนนแล้วเสร็จที่ระดับ 95%) ดังนั้นถ้าทรัมป์จะเข้ามาแล้วเดินหน้าทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปเป็นคำรบที่ 3 คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมใน The Art of the Deal เขาถึงต้อง Be Bold และ Shift Attention

 

เพราะการควบคุมจีนไม่ได้มีหนทางเดียว

 

  1. ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสำหรับสหรัฐฯ จีนไม่ใช่ภัยคุกคามเพียงเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ แต่มิติที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นภัยคุกคามของจีนต่อสหรัฐฯ คือเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะการท้าทายต่อสถานะผู้จัดระเบียบโลกแต่เพียงผู้เดียวของสหรัฐฯ (Hegemonic Power) ซึ่งประเด็นนี้ถูกกล่าวไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในปี 2017 (สมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดีรอบแรก) และฉบับทบทวนในปี 2022 (สมัยที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดี)

 

  1. และในเมื่อหลักการเจรจาข้อที่ 3 ที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้คือ ‘การคิดการใหญ่’ (Think Big) ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งในหลักการสำคัญของ The Art of the Deal ที่ต้องมองภาพใหญ่ มองภาพกว้าง เชื่อมโยงทุกมิติ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงทำงานมากจนเกินไปนัก ดังนั้นการเชื่อมโยงประเด็นด้านการทหาร ความมั่นคง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและเปิดทางเพื่อเจรจากับจีน โดยใช้จุดที่เป็นความต้องการแท้จริงของจีนที่ไม่ใช่การขึ้นเป็น Hegemonic Power หากแต่สุดยอดปรารถนาของจีนคืออำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์เหนือดินแดนไต้หวัน จะเป็นหนทางนำไปสู่การหาทางออกที่ได้ประโยชน์มากกว่า

 

  1. ดังที่ได้อธิบายไปไว้แล้วในบทความตอนที่ 1 ว่าทรัมป์จะใช้การเจรจาแบบทวิภาคี เพื่อใช้ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุโรปและตะวันออกกลางมาเชื่อมโยงให้สหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองเหนือเกาหลีใต้และไต้หวัน และในเมื่อสงครามระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะนำมาซึ่งความสูญเสียในทุกมิติ ในขณะที่ไต้หวันเป็นเสมือน ‘Bargaining Chip’ ชิปในการต่อรองที่สามารถสละทิ้งได้ เพราะสหรัฐฯ แทบจะไม่ต้องพึ่งพาไต้หวันอีกต่อไป หลังจากที่ไบเดนดำเนินการผ่าน CHIPS and Science Act ที่ทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ย้ายฐานออกจากไต้หวันไปแล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม ไต้หวันกลับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้สหรัฐฯ เสียพันธมิตร หรือเสียสถานะกองทัพที่เกรียงไกร หรือเป็นต้นเหตุแห่งสงครามโลก ดังนั้นการสนับสนุนหลักการจีนเดียว ใช้อำนาจเหนือของพรรครีพับลิกันทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในการยกเลิก Taiwan Act ยุติภาระผูกพันในการส่งกองทัพเพื่อปกป้องไต้หวัน เพื่อแลกกับการที่จะมีจีนเป็นพันธมิตร ให้จีนยอมรับความเป็นเบอร์ 1 ในการจัดระเบียบโลกของสหรัฐฯ (ซึ่งก็ไม่ใช่เป้าหมายของจีนอยู่แล้ว เนื่องจากจีนสนับสนุนแนวคิดแบบพหุภาคี โลกหลายขั้ว และต้องการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ) ดังนั้นการขอให้จีนยอมลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ผ่านรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่สามารถควบคุมภาคเอกชนของจีนให้ขายสินค้าราคาต่ำลงให้กับสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามากขึ้นจากสหรัฐฯ และย้ายฐานการผลิตไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น เพียงเท่านี้สหรัฐฯ ก็สามารถสร้างการจ้างงานภายในประเทศให้คนอเมริกัน และลดค่าครองชีพให้คนอเมริกันผ่านสินค้าราคาถูกจากจีนที่นำเข้า และ/หรือผลิตในสหรัฐฯ ได้แล้ว รวมทั้งยังสามารถส่งสัญญาณให้จีนถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ต้องการได้อีกต่างหาก เท่ากับว่ากระสุนนัดเดียวของทรัมป์สามารถยิงนกได้หลายตัว

 

ในขณะที่จีนเอง สีจิ้นผิงก็สามารถประกาศผลงานการมีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวันได้อย่างสมบูรณ์ ปลดล็อกสงครามการค้า ขยายการส่งออกและลงทุนไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีให้กับจุดอ่อนของจีนในขณะนี้ นั่นคือเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่นนี้แล้วเกมแบบทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ (Positive-Sum Game, Win-Win Solution) ก็จะเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย

 

  1. แต่ในท่ามกลางฉากทัศน์ที่ชื่นมื่นระหว่างจีนและสหรัฐฯ นี้ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบที่ต้องการการเตรียมตัวรับมือก็คือประเทศที่เคยได้ประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งแน่นอนว่าหากจีนจะไปลงทุนในสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น และสหรัฐฯ สามารถค้าขายกับจีนได้ นั่นเท่ากับประเทศอย่างเวียดนาม (ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 1.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ), ไทย (ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ), มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็คงจะต้องเตรียมการรับมือกับเงินทุนจีนที่จะไม่ไหลเข้ามามากเหมือนเมื่อก่อน รวมทั้งยังอาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นไปตามที่ทรัมป์เคยหาเสียงเอาไว้ 

 

ซึ่งนั่นหมายถึงว่าไทยเรามีเวลาอีกเพียง 2 เดือนในการตั้งคณะทำงานเตรียมตัววางยุทธศาสตร์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างจริงจัง

 

  1. และในท่ามกลาง 4 ประเทศอาเซียนนี้ ผมเชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องอย่าลืมว่า ณ ปัจจุบันเวียดนามคือประเทศที่เป็นพันธมิตรกับทั้งจีนและสหรัฐฯ อย่างแนบแน่น ผู้นำอาเซียนที่เดินทางไปเยี่ยมทรัมป์อย่างเป็นทางการในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก คือ เหวียน ซวน ฟุก ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับเวียดนามดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดที่ว่าการเจรจาระหว่างทรัมป์กับ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ในรอบที่ 2 ก็เกิดขึ้นที่กรุงฮานอยของเวียดนาม ในขณะที่ฝ่ายจีนเอง เลือง เกื่อง ประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนาม ซึ่งเริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็รับรองแขกต่างชาติที่มาเยือนคนแรกคือ จางโหยวเซีย รองประธานกรรมาธิการกลางแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยทั้งคู่เคยเป็นนายทหารที่สู้รบระหว่างกันในช่วงสงครามจีน-เวียดนาม ปี 1976 (สงครามสั่งสอน) แต่ ณ วันนี้ทั้งคู่สามารถจับมือกันได้ แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ก็เป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ดังนั้นสำหรับเวียดนาม ความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับสหรัฐฯ และจีน ในรูปแบบที่เรียกว่า Omnidirectional Foreign Policy หรือการต่างประเทศแบบเป็นพันธมิตรกับรอบด้านรอบทิศทาง หรือการรักษาสมดุลผ่านการวางยุทธศาสตร์แบบไผ่ลู่ลม คือความสำเร็จของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศ และจะเป็นหลักประกันว่าเวียดนามจะยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ได้กับทั้งสหรัฐฯ และจีนต่อไป

 

  1. คำถามคือไทยเราจะเอาอย่างไร เวียดนามที่ เหงียน ฟู้ จ่อง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีของเวียดนาม กำหนดให้นโยบายไผ่ลู่ลมเป็นเสมือนแนวทางหลักของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของเวียดนาม นั่นทำให้เวียดนามที่แม้จะมีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน แต่ก็สามารถค้าขายกับจีนได้ จนเป็นประเทศที่จีนมาลงทุนเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกับมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับจีนก็มีสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ โดยที่ในขณะเดียวกัน แม้เวียดนามจะมีประวัติศาสตร์บาดแผลจากการรุกรานของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 แต่สหรัฐฯ ก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ รวมทั้งยังมีมูลค่าการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นทุกปีภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้าจำนวนมาก และล่าสุดก่อนถึงแก่อนิจกรรมเพียง 1 เดือน เหงียน ฟู้ จ่อง ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยก็ออกมาต้อนรับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย อย่างอบอุ่นด้วยตนเอง เพื่อให้รัสเซียมาเป็นเสมือน ‘ผู้ถ่วงดุล’ สร้างความสัมพันธ์ 4 เส้าระหว่างเวียดนาม จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย และด้วยการดำเนินนโยบายไผ่ลู่ลมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเวียดนาม ควบคู่กับนโยบายการปราบปรามคอร์รัปชัน นักวิชาการเวียดนามจำนวนหนึ่งถึงกับขนานนามให้ เหงียน ฟู้ จ่อง เป็นเสมือนรัฐบุรุษอันดับ 2 รองจากโฮจิมินห์

 

ในขณะที่ไทย การรักษาผลประโยชน์ของประเทศผ่านการดำเนินนโยบายแบบไผ่ลู่ลมเป็นสิ่งที่เคยได้รับการชื่นชมจากผู้นำระดับโลก อาทิ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยออกปากชื่นชมว่า “คนเขาพูดกันเสมอว่าไทยลู่ตามลม แต่ความจริงมันมากกว่านั้น ไทยรู้จักลู่ไปในทิศทางที่ถูกต้องก่อนที่ลมจะพัด” ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะรับรู้ทิศทางลมและลู่ได้ถูกทิศทางก่อนที่ลมจะพัดมา นั่นหมายความว่าไทยผ่านการทำงานอย่างหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ วางนโยบายด้วยการวิเคราะห์อย่างแยบคาย และดำเนินนโยบายอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งนั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าไทยคือผู้ดำเนินนโยบายอย่างมีการวางยุทธศาสตร์ (Strategic Hedging) มิใช่เพียงการปล่อยไปตามสถานการณ์ (By Default Hedging)

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจจะมีบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมิได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง กล่าวหาว่าการดำเนินนโยบายแบบไผ่ลู่ลมเป็นนโยบายการต่างประเทศแบบไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งในประเด็นนี้ เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชทูตไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เคยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า “กระดูกสันหลังเป็นส่วนที่น่าสนใจของกายวิภาคของมนุษย์ เนื่องจากประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้น ไม่ใช่กระดูกชิ้นใหญ่เพียงชิ้นเดียวเหมือนกระดูกหน้าแข้ง ดังนั้นเนื่องจากกระดูกสันหลังประกอบด้วยกระดูกชิ้นเล็กที่ล็อกเข้าด้วยกัน จึงสามารถโค้งไปข้างหน้า หลัง ซ้าย และขวาได้ จึงถือเป็นส่วนกายวิภาคที่มีความยืดหยุ่นสูง กระดูกสันหลังไม่เหมือนกับหน้าแข้งที่อาจจะหักได้หากถูกกระแทกอย่างแรง ประเด็นสำคัญของการทูตไทยคือกระดูกสันหลังมีความยืดหยุ่นและสามารถไปได้หลายทิศทาง นั่นคือความหมายที่แท้จริงของการทูตไม้ไผ่”

 

ดังนั้นท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามเย็น 2.0 ภายใต้การนำของทรัมป์ ไทยต้องดำเนินนโยบายการต่างประเทศแบบรักษาสมดุลอย่างมีหลักการ มียุทธศาสตร์ (Strategic Equilibrium) จุดยืนที่ชัดเจนคือ ‘การรักษาผลประโยชน์ของชาติ’ โดยมีหลักการของประชาคมนานาชาติเป็นเสมือนหลักพิง และเล่นบทบาทนำในประชาคมอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ผู้นำมหาอำนาจอย่างทรัมป์มีอำนาจ ทรัมป์นิยมเจรจาแบบทวิภาคี ดังนั้นอาเซียนจะเป็นปัจจัยเสริม แต่ในวันที่ทรัมป์จะเจรจาหารือกับผู้นำไทยแบบ 1 ต่อ 1 เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ องค์ความรู้ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่สับสนกับผลประโยชน์ของครอบครัวหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะหากสับสน ขาดองค์ความรู้และวิสัยทัศน์ นั่นเท่ากับเราจะเปิดช่องให้ทรัมป์สามารถใช้จุดอ่อนเหล่านี้มาหาประโยชน์ให้สหรัฐฯ ได้ โดยที่ไทยและคนไทยจะอยู่อย่างยากลำบากในยุคทรัมป์ 2.0

 

ภาพ: Brian Snyder / File Photo / Reuters

 

ย้อนอ่านบทความฉบับเต็มตอนที่ 1 ได้ที่: https://thestandard.co/thailand-trump-2-0-us-geopolitics/

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X