×

ถอดบทเรียน ‘มาตรการรับนักท่องเที่ยว’ ของไทย ทำอย่างไรไม่ให้ ‘กลับไปกลับมา’

10.01.2023
  • LOADING...

กะทันหันกว่าการเปิดประเทศของจีนก็น่าจะเป็น ‘มาตรการรับนักท่องเที่ยว’ ของไทย เพราะสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพิ่งออกประกาศข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 และอีกฉบับเมื่อวันที่ 7 มกราคม เพื่อแก้ไขเนื้อหาในฉบับแรกเกี่ยวกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ก่อนที่ทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 

 

เป็นที่เข้าใจได้ว่าประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นมาตรการรับมือการเปิดประเทศของจีนที่เริ่มเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา หลายประเทศก็กำหนดมาตรการรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมกับนักท่องเที่ยวชาวจีน ส่วนใหญ่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มกราคม กระทรวงสาธารณสุขแถลงยกเลิกมาตรการวัคซีนที่กพท. ออกประกาศมา มาตรการรับนักท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างไร และมีอะไรต้องทบทวนบ้าง

 

มาตรการรับนักท่องเที่ยว

 

“ปฏิบัติตามแนวทางโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติกับผู้เดินทางจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียม” เป็นข้อสรุปจากการประชุมมาตรการรับนักท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมี 3 ประเด็นหลักคือ การฉีดวัคซีนโควิด การซื้อประกันสุขภาพ และการเฝ้าระวังโรค

 

ในรายละเอียดของมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

 

  • ระยะก่อนเข้าประเทศ: ให้นักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม หากมีอาการป่วยควรเลื่อนการเดินทาง และในกรณีประเทศต้นทางกำหนดให้มีผลการตรวจ RT-PCR เป็นลบก่อนกลับเข้าประเทศ ต้องซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด
  • ระหว่างอยู่ในประเทศ: ให้นักท่องเที่ยวป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ/ขนส่งสาธารณะ, ล้างมือบ่อยๆ, หากมีอาการทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และหากมีอาการป่วยรุนแรงขึ้นให้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
  • ระยะก่อนออกประเทศ: หากต้องการผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางกลับ แนะนำให้พักโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ เพราะมีบริการตรวจหาโควิดโดยโรงพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ส่วนมาตรการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามและประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรกเพื่อปรับมาตรการตามความเสี่ยง เช่น อัตราการติดเชื้อสูง หรือพบเชื้อกลายพันธุ์ โดยจะมีการเฝ้าระวังโรคและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรคและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีผู้เดินทางจากต่างประเทศ รวมถึงเฝ้าระวังและตรวจโควิดในน้ำเสียจากเครื่องบิน 

 

ข้อกำหนดสำหรับนักท่องเที่ยว

 

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 กพท. ออกข้อกำหนดในการเข้าประเทศไทยสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวน 7 ข้อ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (ในสังคมออนไลน์มีการแชร์สไลด์ของกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรคควบคู่กัน) และออกประกาศอีกฉบับเพื่อแก้ไขเนื้อหาในฉบับแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 และเริ่มใช้วันที่ 9-31 มกราคม 2566 สรุปใจความได้ดังนี้

 

  1. ผู้มีอายุ 18 ปี ต้องแสดงข้อมูลการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือจดหมายจากแพทย์ที่รับรองว่าหายจากโควิดไม่เกิน 6 เดือน ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนต้องมีจดหมายจากแพทย์ที่ระบุเหตุผล
  2. ผู้ที่มาจากประเทศที่ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางกลับเข้าประเทศ ต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิดตลอดช่วงระยะเวลาเดินทางในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน
  3. ผู้ที่ได้รับการยกเว้นประกันสุขภาพ ได้แก่ ผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ หนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางสหประชาชาติ
  4. ผู้ที่ได้รับการยกเว้นการตรวจเอกสารการได้รับวัคซีนและประกันสุขภาพ ได้แก่ ผู้ถือหนังสือเดินทางไทย และผู้ที่เปลี่ยนเครื่องหรือต่อเครื่อง
  5. สายการบินต้องตรวจสอบเอกสารตามที่กำหนด ผู้ที่ไม่สามารถแสดงเอกสารได้อาจถูกตรวจการติดเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง (ไม่ปฏิเสธการขึ้นเครื่อง)
  6. สายการบินต้องยึดตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เช่น ขอให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากตลอดการเดินทาง ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารหรือในภาวะฉุกเฉิน
  7. ผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจ จะได้รับการแนะนำให้ตรวจการติดเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง

 

ประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขคือข้อ 5. เพราะในประกาศฉบับแรกระบุให้สายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่องหากไม่สามารถแสดงเอกสารได้ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจึงออกมาแสดงความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวกระทบความเชื่อมั่นของประเทศ และสร้างความเสียหายทางธุรกิจ โดยบริษัทนำเที่ยวถูกยกเลิกและต้องคืนเงินให้กับลูกค้าที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์แล้วจำนวนมาก

 

ข้อสังเกตต่อมาตรการดังกล่าว

 

มี 3 ประการคือ 1. ความไม่ครอบคลุมของมาตรการวัคซีน ไทยยกเลิกการตรวจประวัติการได้รับวัคซีนไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ในทางสาธารณสุขมองว่าวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง การกำหนดให้ฉีดวัคซีนก่อนเดินทางมาอาจลดภาระด้านการรักษาของประเทศได้ แต่ควรปรับปรุงเกณฑ์การได้รับวัคซีนครบ เพราะระดับภูมิคุ้มกันลดลงตามระยะเวลา และขณะนี้ในประเทศมีการรณรงค์ถึงเข็มที่ 4 แล้ว 

 

ในทางสังคม การฉีดวัคซีนเป็น ‘ทางเลือก’ ไม่ใช่ ‘ข้อบังคับ’ ดังนั้นจึงควรกำหนดเงื่อนไขที่ครอบคลุมทั้งกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบและไม่ได้รับวัคซีน โดยอาจกำหนดให้ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ และจูงใจให้ฉีดวัคซีนทางอ้อม ปัจจุบันสิงคโปร์ยังคงใช้มาตรการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง 2 วันในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนอยู่ ไม่ว่าจะเดินทางมาจากประเทศใดก็ตาม

 

  1. ความไม่ชัดเจนเรื่องการรักษาและการแยกกักโรค (Isolation) ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเรื่องการรักษาและการแยกกักชัดเจนว่า ถ้านักท่องเที่ยวตรวจพบว่าติดเชื้อจะได้รับการรักษาแบบใด และจำเป็นต้องแยกกักหรือไม่ เพราะเมื่อเทียบกับมาตรการภายในประเทศ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และไม่จำเป็นต้องแยกกักตัวที่บ้านตลอดเวลา แต่ให้สวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง 5 วัน

 

  1. กลไกบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากขณะนี้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และโควิดไม่ใช่ ‘โรคติดต่ออันตราย’ กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่มีกลไกบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตามกฎหมาย ข้อกำหนดนี้ให้สายการบินซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการแทน ในขณะที่เดิมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีอำนาจสั่งให้นักท่องเที่ยวกักกันโรค (Quarantine) เช่น SQ, ASQ หรือคุมไว้สังเกต (Close Observation) เช่น Sandbox, Test & Go 

 

หลักการสำหรับกำหนดนโยบาย

 

ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขจะยึดหลักเท่าเทียมทุกชาติ ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่มาตรการที่ออกมากลับมีผลกระทบเชิงลบต่อนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นด้วย ทั้งจากความฉุกละหุก และความไม่ครอบคลุมของมาตรการวัคซีน จนล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกการตรวจเอกสารวัคซีนแล้ว หลักการที่ควรใช้ในการกำหนดนโยบายนี้คือ แนวทางตามความเสี่ยง (Risk-based Approach)

 

ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้คำนึงถึงความเสี่ยง 5 ประการ ได้แก่

 

  • ระบาดวิทยาในประเทศต้นทางและปลายทาง 
  • จำนวนนักท่องเที่ยว และข้อตกลงระหว่างประเทศ
  • ศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการตรวจและรักษาผู้ติดเชื้อ
  • มาตรการทางสาธารณสุขและสังคมในการควบคุมและป้องกันโรค
  • ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และความเป็นไปได้ของมาตรการ

 

หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว (ไม่เฉพาะจีน) ไทยมีปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกันมากก็สามารถกำหนดมาตรการตามความเสี่ยงได้ คือไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกประเทศ และคำนึงถึงวัตถุประสงค์และประสิทธิผลของมาตรการ เช่น สามารถชะลอการระบาดได้เท่าไร ทว่าหากเปรียบเทียบกันแล้วความเสี่ยงไม่ต่างกันก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่ม แล้วสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

 

ปัจจุบันความพร้อมด้านวัคซีนและยารักษาโรคทำให้ความเสี่ยงเมื่อ 3 ปีก่อนกับตอนนี้ต่างกันมาก ข้อมูลสายพันธุ์ที่ระบาดในจีนยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับไทยต้องการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลควรออกแบบมาตรการรับนักท่องเที่ยวตามความเสี่ยงให้ครอบคลุมเงื่อนไขที่สำคัญ และพิจารณาอย่างรอบด้านตั้งแต่ต้น รวมถึงเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล แถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีมติให้ยกเลิกการตรวจเอกสารการฉีดวัคซีนโควิดของนักท่องเที่ยว เนื่องจากประเทศไทยได้ผ่อนคลายมาตรการมาระยะหนึ่งแล้ว ยังไม่พบการระบาดของโควิดจากนักท่องเที่ยว ขณะที่คนไทยมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากเช่นเดียวกับประเทศจีนและประเทศต่างๆ (แต่ยังไม่มีประกาศจาก กพท. อย่างเป็นทางการ)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising