เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่โรงแรมและรีสอร์ต 100 กว่าแห่งได้เปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าระยะยาว ซึ่งเป็นความหวังหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของไทย ทว่าแท้จริงแล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉลี่ยเพียงเดือนละ 346 คนที่เดินทางเข้ามาในไทย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 1,200 คน และเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนที่มาก่อนการระบาด
Bloomberg ได้ออกบทความ Thailand Sold Itself as a Paradise Covid Retreat. No One Came ที่ระบุว่า ไทยหวังที่จะดึงดูดกลุ่มผู้เกษียณอายุที่หนีอากาศหนาวจากยุโรปให้เข้ามาพำนักในไทยซึ่งสามารถอยู่ได้นาน เพราะแม้จะต้องกักตัว 2 สัปดาห์แต่หลังจากนั้นวีซ่าจะอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 9 เดือนด้วยกัน ทว่าเสียงเรียกร้องให้ผ่อนคลายกฎการกักกันกับเสียงเตือนจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเรื่องโรคที่อาจนำมาจากต่างประเทศ เป็นแรงกดดันที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้กำหนดนโยบายของไทย
“เราต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและคนในพื้นที่” ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg “ผมเข้าใจดีว่าการต้องติดอยู่ในห้องเป็นเวลา 14 วันนั้นยากแค่ไหน เพราะผมได้ทำมันแล้ว แต่ความปลอดภัยของประชาชนควรได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก เนื่องจากนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป แต่คนท้องถิ่นอาศัยอยู่ที่นี่”
ในปี 2019 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท จากผู้เยี่ยมชมประมาณ 40 ล้านคน อุตสาหกรรมนี้มีส่วนสนับสนุนประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศก่อนการระบาด ซึ่งถือว่ามากเมื่อเทียบกับประมาณ 10% ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ตามการวิเคราะห์ของ Bloomberg โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนอย่างน้อย 931 แห่งปิดตัวลงในปี 2020 ที่ผ่านมา โดยจำนวนจริงอาจสูงกว่านี้มากเนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนในฐานข้อมูลใดๆ
ความเงียบเหงาเกิดขึ้นแทบจะทุกพื้นที่ที่เคยเป็นย่านท่องเที่ยว โดยเฉพาะบนเกาะตากอากาศที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยสถานการณ์เลวร้ายเป็นพิเศษ ปกติแล้ว ‘ภูเก็ต’ มีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 90% จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ป่าตองซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ครั้งหนึ่งเคยมีบาร์และไนต์คลับที่พลุกพล่าน แต่วันนี้กลับว่างเปล่า ถนนบางลาเรียงรายไปด้วยธุรกิจที่ปิดตายโดยมีเก้าอี้วางซ้อนกันบนโต๊ะและล็อกโซ่ ฝุ่นเกาะอยู่บนเก้าอี้บาร์และเคาน์เตอร์ ขณะที่มีร้านเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดอยู่แต่ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวอยู่เลย
แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การอุดหนุนค่าห้องพัก ค่าอาหารและค่าตั๋วเครื่องบิน แต่นักท่องเที่ยวในประเทศที่มักจะเดินทางในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ แม้ว่าโรงแรมจะเปิดให้บริการเพียงครึ่งเดียว แต่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนธันวาคมว่า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34% เท่านั้น
“รัฐบาลควรพิจารณายกเว้นข้อกำหนดการกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์สำหรับผู้มาเยือนจากประเทศที่ไม่มีการติดเชื้อในท้องถิ่นเป็นเวลานานกว่า 60 วัน” วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวเมื่อปลายเดือนกันยายน โดยวิชิตหวังว่าจะผ่อนปรนกฎสำหรับนักท่องเที่ยวจากบางส่วนของจีน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย แต่ที่สุดแล้วก็ไม่มีข้อสรุปดังกล่าว ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะลดระยะเวลาการกักตัว
“ถ้าต้องเลือกระหว่างสุขภาพกับรายได้ฉันจะเลือกสุขภาพ” วิภาดา น้อยเผ่า แม่ค้าผักผลไม้ในป่าตองกล่าว “เราต้องจัดลำดับความสำคัญของความปลอดภัย”
ล่าสุดการระบาดระลอกใหม่ซึ่งทำให้ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นมากกว่า 12,000 รายในเวลาไม่ถึงเดือน ทำให้ความคาดหวังที่จะลดการกักตัวแทบจะไม่มีโอกาสได้เห็น ซึ่ง ‘ในท้ายที่สุดแล้วประเทศจะไม่เปิดให้บริการอีกครั้งจนกว่าจะมีฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวาง’ เจ้าหน้าที่ของรัฐกล่าว
ไทยมีแผนที่จะฉีดวัคซันที่พัฒนาโดย Sinovac Biotech Ltd. ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่แนวหน้าและกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ให้ได้ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะมีการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดให้ประชากรอย่างน้อย 33 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประเทศภายในสิ้นปี 2021
อย่างไรก็ตามยังคงมีคำถามอยู่ว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะทำงานอย่างไรเมื่อมีผู้คนทั่วโลกได้รับวัคซีนมากขึ้น หนังสือเดินทางวัคซีนถูกมองว่าเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้คนเดินทางกลับมาอีกครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และไม่ทราบด้วยซ้ำว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถแพร่เชื้อไวรัสได้หรือไม่
ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า แม้ในปี 2022 จะยังไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเหมือนในปี 2019 แต่ก็คาดว่าจะมีตัวเลข 5.5 ล้านคนในปีนี้ และเพิ่มเป็น 23 ล้านคนในปี 2022 ขณะที่เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัว 6% ในปี 2020 ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชีย และคาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ในปี 2021 ตามรายงานของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้แม้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่ ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การเปิดประเทศอย่างระมัดระวังเป็นทางเลือกที่ถูกต้องของไทย ซึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีตัวเลือกในการเตรียมความพร้อมที่น้อยมาก นอกจากต้องรอให้มีการฉีดวัคซีน
“เราไม่สามารถปิดพรมแดนของเราได้ตลอดไป และเราไม่สามารถปล่อยให้ผู้คนเข้ามาโดยไม่มีมาตรการที่เข้มงวดได้” เขากล่าว “ดังนั้นการเปิดใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบควบคุมได้จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า