Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบายประเทศไทยที่ก่อตั้งโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมผลักดันนโยบายครอบครัวหลากหลาย ผ่านงานเสวนา ‘ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน’ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 มิถุนายน)
ร่วมเสวนาโดย มัจฉา พรอินทร์ และศิริวรรณ พรอินทร์ ตัวแทนผู้ปกครองและลูกจากครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ, พงศ์สิริ เตชะวิบูลย์ ตัวแทนพ่อเลี้ยงเดี่ยว, แวว-สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย ตัวแทนครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว และ ซิลวี่-ภาวิดา มอริจจิ นักร้องชื่อดัง เพื่อมาสะท้อนนิยามของครอบครัวที่หลากหลาย จุดเริ่มต้นและเส้นทางในการสร้างครอบครัวในนิยามของตัวเอง รวมถึงนโยบายและข้อกฎหมายที่ต้องผลักดันเพื่อสนับสนุนทุกเพศอัตลักษณ์ในการสร้างครอบครัว และส่งเสริมการตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อได้มาซึ่งนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพสังคม และเคารพสิทธิของทุกคน
เรอโน เมแยร์ ผู้แทน UNDP Thailand ระบุว่า ไทยมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) มากขึ้น แต่ก็ยังคงมีส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ขณะที่ สิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA Thailand ชี้ว่า ครอบครัวไทยมีความแตกต่างกันในเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก คือครอบครัวเล็ก มีลูกคนเดียวหรือไม่มีลูก ซึ่งเป็นทางเลือกและสิทธิของประชาชนเอง รวมถึงครอบครัวที่เป็นชาย-ชาย หญิง-หญิง หากประชากรมีคุณภาพก็มีโอกาสที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาได้เช่นกัน เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร แต่เป็นคุณภาพของประชากร โดยสิ่งที่สำคัญของครอบครัวทุกประเภทก็คือความรัก ความอบอุ่นและความเข้าใจซึ่งกันและกัน และปราศจากความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
ทางด้านมัจฉาและศิริวรรณกล่าวว่า เด็กและเยาวชนจำนวนมากจะไม่ต้องทนทุกข์ถ้าเรานิยามว่าครอบครัวคือพื้นที่ที่ให้ความอบอุ่น ใครก็สามารถเป็นครอบครัวให้กันและกันได้ แค่เราปกป้อง คุ้มครอง และสนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นตัวอย่างให้กับเขา แต่พอเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ปัญหาที่พบคือสังคมไม่ยอมรับและไม่มีกฎหมายรองรับ
ส่วนตัวแทนพ่อเลี้ยงเดี่ยวอย่างพงศ์สิริระบุว่า สถาบันครอบครัวคือความสบายใจของเรา ตนเองไม่ได้แต่งงาน แต่อยากมีลูก ถ้าเป็นคนรุ่นอายุมากกว่าเขาก็จะมีความสงสัย เพราะตามยุคสมัยของเขาคือแม่เป็นคนดูแลลูก ถ้ามีลูกแล้วไม่มีแม่จะมีคำถามที่เกิดขึ้นตามว่าใครจะเป็นคนดูแล แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าเราได้พยายามทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดในการเป็นทั้งพ่อและแม่ให้เขา
ทางด้านสายสุนีย์กล่าวว่า ครอบครัวเป็นแรงผลักดันในชีวิต ทำให้สู้ต่อได้ ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ถามความคิดเห็นของลูกว่า ด้วยข้อจำกัดและความไม่สมบูรณ์ของร่างกายเช่นนี้ เขาจะช่วยเหลือเราได้ไหม รับได้และโอเคหรือเปล่า สุดท้ายการเข้าใจซึ่งกันและกันก็ทำให้เราผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้
ขณะที่ภาวิดา ตัวแทนคนรุ่นใหม่แสดงความเห็นว่า ครอบครัวไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ก็ได้ สามารถเป็นเพื่อนหรือคนในคอมมูนิตี้ด้วยกันเองก็ได้ อีกทั้งครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย กล้าที่จะปรึกษาได้ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมไปถึงตัวตนของตนเองและสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง ที่สำคัญครอบครัวควรมีพื้นที่ที่เราสามารถเปิดใจคุยกันได้ทุกเรื่องจริงๆ และรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องรับฟัง ผู้ใหญ่เองก็ต้องรับฟังเด็กด้วยเช่นกัน และสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา
นอกจากการเสวนาเบื้องต้น ยังมีการจัดนิทรรศการ ‘ครอบครัวในฝันของคุณเป็นไอศกรีมรสอะไร’ โดยจะจัดแสดงที่สยามเซ็นเตอร์ ชั้น G ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายนนี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าร่วมทำแบบสอบถามเกี่ยวกับครอบครัวในฝัน รวมถึงข้อกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการสร้างครอบครัวที่อาจเป็นประโยชน์กับผู้คนในสังคมที่หลากหลายแห่งนี้อีกด้วย
ภาพ: Thailand Policy Lab
อ้างอิง: Thailand Policy Lab