รายงานฉบับใหม่ว่าด้วยภาพรวมคุณภาพอากาศโลก ปี 2022 (World Air Quality Report 2022) โดย IQAir หน่วยงานที่เฝ้าติดตามและรายงานผลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกถึง 7,323 เมือง ใน 131 ประเทศและดินแดน ได้จัดอันดับประเทศและดินแดนที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่และประสบกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รุนแรงที่สุดในปี 2022 โดยมีค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มากกว่า 10 เท่าขึ้นไป และลดหลั่นไปจนถึงกลุ่มประเทศและดินแดนที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี มีค่า PM2.5 อยู่ระหว่าง 0-5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
โดย ‘ชาด’ ประเทศในแอฟริกาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่เผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงที่สุดในปี 2022 วัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 89.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO เกือบ 18 เท่า ตามมาด้วยอิรัก (80.1), ปากีสถาน (70.9), บาห์เรน (66.6) และบังกลาเทศ (65.8)
ขณะที่ประเทศในอาเซียน อินโดนีเซีย ถือว่าเป็นประเทศที่เผชิญปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 มากที่สุดในย่านนี้ เมื่อปี 2022 วัดค่า PM2.5 ได้ 30.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่อันดับที่ 24 ตามมาด้วย สปป.ลาว (27.6), เวียดนาม (27.2), เมียนมา (24.3), และไทยวัดค่า PM2.5 ได้ 18.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ถึง 3.6 เท่า อยู่อันดับที่ 57 ในการจัดอันดับในครั้งนี้ โดยกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา และนนทบุรี เป็นจังหวัดที่ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองอย่างหนักอันดับต้นๆ ของประเทศ
รายงาน IQAir ฉบับใหม่นี้ระบุว่า มีเพียง 13 ประเทศและดินแดนเท่านั้นที่ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพอากาศดี และมีระดับปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ WHO แบ่งเป็น 6 ประเทศ ได้แก่ ฟินแลนด์ (5.0) เอสโตเนีย (4.9) นิวซีแลนด์ (4.8) ออสเตรเลีย (4.2) เกรนาดา (3.8) และไอซ์แลนด์ (3.4) กับอีก 7 ดินแดนในมหาสมุทรต่างๆ อย่าง เปอร์โตริโก สหรัฐฯ (4.3) นิวแคลิโดเนีย ฝรั่งเศส (3.5) แคริบเบียนเนเธอร์แลนด์ (3.3) เบอร์มิวดา สหราชอาณาจักร (3.0) ยูเอสเวอร์จินไอร์แลนด์ สหรัฐฯ (2.9) เฟรนช์พอลินีเชีย ฝรั่งเศส (2.5) และกวม สหรัฐฯ (1.3)
นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า มากกว่า 90% ของประเทศและดินแดนที่ได้รับการจัดอันดับประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เกินเกณฑ์มาตรฐานของ WHO และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 นั้น มักเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เผาปรับหน้าดิน หรือเผาขยะ และเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การเกิดพายุทราย พายุฝุ่น ไฟป่า รวมถึงการปะทุของบรรดาภูเขาไฟที่ยังมีพลัง เป็นต้น โดยฝุ่นละอองเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนจำนวนมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคภูมิแพ้ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจอื่นๆ
เมื่อปี 2021 WHO ได้ปรับลดเกณฑ์ด้านมลพิษทางอากาศ ให้ระดับค่าฝุ่นละออง PM2.5 ที่สามารถยอมรับได้จาก 10 มาอยู่ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และจากรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองปีละหลายล้านคน โดยในปี 2019 ราว 4.2 ล้านคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับปัญหาฝุ่นละอองนี้
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
อ้างอิง: