×

ไทยเดินหน้า RCEP พาณิชย์เร่งตั้งกองทุน FTA ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งสภาพคล่อง-เงินปรับตัวใน 1-2 ปี

17.02.2021
  • LOADING...
ไทยเดินหน้า RCEP พาณิชย์เร่งตั้งกองทุน FTA ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งสภาพคล่อง-เงินปรับตัวใน 1-2 ปี

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • กระทรวงพาณิชย์ชงตั้งกองทุน FTA ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก RCEP FTA เพื่อให้แข่งขันได้ในโลกการค้าเสรี ชู 2 ช่วย ‘เงินปรับตัว-เงินสภาพคล่อง’ คาดตั้งใน 1-2 ปีนี้
  • การค้ากับประเทศ FTA เป็นส่วนสำคัญกับไทยไปแล้ว เพราะมีสัดส่วน 63% แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศยังมีสัดส่วนราว 70-80% ปีนี้กรมเจรจาฯ จึงเร่งศึกษา FTA 4 ประเทศ และเตรียมกรอบเจรจรา ไทย-EU
  • RCEP เตรียมส่งหนังสือสัตยาบัน ส่วน CPTPP ยังต้องรอการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน  

เมื่อไทยเดินหน้า RCEP ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมี 15 ประเทศสมาชิกและประชากรกว่า 2,200 คน ซึ่งเมื่อไทยเข้าร่วม RCEP (สำเร็จ) ย่อมจะช่วยยกเว้นภาษีให้สินค้าไทยกว่า 90% แต่ก็หมายถึงสินค้าประเทศสมาชิกจะสามารถไหลเข้าไทยโดยไม่เสียภาษีเช่นกัน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ยิ่งต้องเร่งเครื่องให้คนไทยปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อ FTA ของไทยและประเทศต่างๆ จะมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

กองทุน FTA จะช่วยผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวไม่ทันแบบไหน?

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากการศึกษา หารือแนวทางตั้งกองทุน FTA เพื่อให้ไทยรับมือการแข่งขันที่สูงขึ้น ตอนนี้ทางกรมฯ ทำรายละเอียดข้อเสนอตั้งกองทุนแล้ว คาดว่าจะมีการเสนอพิจารณาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีกองทุนจะผ่านขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ โดยคาดว่าใช้งบหลักร้อยถึงพันล้านบาท ต้องรอการพิจารณาในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้กองทุน FTA นี้จะเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA (รวมถึง RCEP) ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 ด้านคือ เงินส่วนเพื่อการพัฒนา เช่น การวิจัยและพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษา การตลาด ฯลฯ และส่วนเงินหมุนเวียน เช่น เงินลงทุนสิ่งก่อสร้าง ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ฯลฯ โดยจะมีการตั้งหน่วยงานตัวกลางที่ประสานงานรับคำขอและส่งเงินให้ถึงผู้ได้รับผลกระทบ

 

อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ต้องรอการพิจารณาคือ ที่มาของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในกองทุน เบื้องต้นจะมีทั้ง 1. เงินทุนประเดิม 2. งบประมาณประจำปีโดยเฉพาะ 3. ส่วนเงินสมทบรายได้อื่นๆ ว่าจะเข้ามาอย่างสม่ำเสมออย่างไร 

 

โดยบางส่วนคาดว่าจะมาจากค่าธรรมเนียมต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ เช่น ค่าออกใบรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า ค่าธรรมเนียมกรมทรัพย์สินทางปัญญา 

 

“ที่มาของเงินยังต้องพิจารณากันต่อไป ว่าอาจเป็นการขอปันเงินภาษี หรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากภาคเอกชนไปแล้ว โดยไม่เพิ่มภาระให้เอกเชน หรือการเก็บดอกผลจากทรัพย์สินกองทุน ซึ่งคาดว่าจะประชุมเร็วๆ นี้ เมื่อได้มติ ตกผลึก ก็ขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และเสนอร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งกองทุน FTA ไปตาม พ.ร.บ. ทุนหมุนเวียนปี 2558 (ที่คลังเป็นประธาน)”

 

 

ไทยมี FTA เยอะแค่ไหน ปี 2564 นี้จะเดินหน้า FTA กับใครบ้าง?

 

ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าการค้าราว 276,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลกที่อยู่ราว 438,460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอีก 37% ที่ยังไม่มี FTA โดยกระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าฟื้นการเจรจา FTA ในหลายประเทศ

 

ความคืบหน้าการทำ FTA ปี 2564 ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำกรอบเจรจาหลังหารือมาเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าครึ่งปีแรก 2564 กรอบการเจรจาฝั่งไทยและ EU จะเสร็จสิ้น โดยไทยปรับกรอบฯ มาจากมีร่างเดิมเมื่อปี 2556-2557 ซึ่งปรับเงื่อนไขตามการเปลี่ยนแปล และการดู FTA ที่ EU ทำกับประเทศอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม ออสเตรเลีย ฯลฯ 

 

“ไทย มีมูลค่าการค้ากับ EU ราว 8% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด หากการเจรจา FTA สำเร็จจะทำให้ไทยมีมูลค่าการค้า FTA ราว 71% ใกล้เคียงกับต่างประเทศที่เฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนการค้าจาก FTA ราว 70-80% และบางประเทศสูงถึง 90%

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างทำผลการศึกษา FTA หลายประเทศที่จะออกมาในปีนี้ เช่น ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), ไทยและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU), FTA ASEAN-Cannada และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป EFTA) ซึ่งผลการศึกษาออกมาอาจต้องรอดูว่าจะเจรจาได้เมื่อไร


 

แล้ว RCEP-CPTPP ถึงไหนแล้ว?

 

ล่าสุดรัฐสภาเห็นชอบให้ไทยลงสัตยาบัน RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) ซึ่งเป็น FTA ฉบับที่ 14 แล้ว โดยจะมี 3 หน่วยงานที่ต้องปรับแนวปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อตกลง RCEP ได้แก่ 

 

1. กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ต้องออกหลักเกณฑ์และปรับพิกัดอัตราศุลกากรจาก HS2012 เป็น HS2017

 

2. กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ต้องออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 

 

3. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ต้องออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ 

 

โดยรวมคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-6 เดือนจากนั้นกรมเจรจาการค้าจะส่งหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศ และจะยื่นหนังสือสัตยาบันต่อเลขาธิการอาเซียนต่อไป ตอนนี้ทุกประเทศอยู่ระหว่างดำเนินการลงสัตยาบัน (หวังว่าจะเห็นในปีนี้) และมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 ขณะเดียวกันกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องปรับแก้เรื่องลิขสิทธิ์ (สนธิสัญญา WCT และ WPPT) ภายใน 3-5 ปี

  

นอกจากนี้ CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการไปที่คณะกรรมการ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) (กนส.) โดย CPTPP ให้ความคัญกับ 4 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP หากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละหน่วยงานจะมีการกระจายงานกันต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X