×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติลั่น เปิดกว้างสำหรับการปรับดอกเบี้ย ห่วงภาวะการเงินตึงตัวเกินไปอาจกระทบภาคเศรษฐกิจจริงแรงกว่าที่คิด

24.08.2024
  • LOADING...
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุ เปิดกว้างสำหรับการลดดอกเบี้ย หากแนวโน้ม (Outlook) มีความเปลี่ยนแปลงไป ห่วงภาวะการเงินตึงตัวเกินไปอาจกระทบภาคเศรษฐกิจจริงแรงกว่าที่คิด

 

วันนี้ (24 สิงหาคม) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยึดหลัก Outlook Dependent ผ่านการพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

“ถ้าแนวโน้มเปลี่ยน เราก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงิน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว หลังจาก กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ต่อปี เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม

 

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติระบุอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด ด้านที่คณะกรรมการให้น้ำหนักและกังวลเพิ่มขึ้นคือด้านเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability) หรือความเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินและเศรษฐกิจ (Macrofinancial Linkages) มีสัญญาณว่าภาวะการเงินที่ตึงตัวอาจเชื่อมโยง (Interact) หรือมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงมากกว่าที่ประเมินไว้

 

“หากภาคการเงินมีความตึงตัวมากเกินไปก็จะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้ กนง. ตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เหมาะสม” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า “จากแถลงการณ์ของ กนง. ที่เราได้ออก เราก็อยากจะสะท้อนว่าเราเปิดกว้าง (Open) มากขึ้นที่จะปรับดอกเบี้ย หาก Macrofinancial Linkages มีผลกระทบแรงกว่าที่คิด”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายอีกว่า อีก 2 ด้านยังเป็นไปตามคาด โดยในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ (Growth) ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ทยอยขยายตัวเข้าสู่ระดับศักยภาพ และยังคงสอดคล้อง (In Line) กับคาดการณ์ของ ธปท. แม้มีความเสี่ยงด้านต่ำ (Downside Risk) ในบางมิติมากขึ้น โดยในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

ในด้านเงินเฟ้อ (Inflation) ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าขอบล่าง แต่มีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่กรอบที่ 1-3% ได้ โดยเรื่องสำคัญมากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อคือการรักษาการคาดการณ์เงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X