นักเศรษฐศาสตร์มองไทยฟื้นตัวท่ามกลางพายุถาโถม ห่วงสงครามเงินเฟ้อไม่จบ ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอ มองส่งออกเสี่ยงติดลบ 1.8% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นแบบไม่ทั่วถึง เตือนบาทแข็งเร็ว-เคลื่อนไหวผันผวน
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีความหวังฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยวและการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาด แต่อีกด้านหนึ่งจะเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลกที่ถาโถมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่ทั่วถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
พิพัฒน์ระบุว่า แม้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์ GDP โลกในปีนี้เพิ่มขึ้น 0.2% แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็ยังชะลอตัวลงจากปีก่อนอยู่ดี ขณะที่หลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก
“ตัวเลขการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาภาคส่งออกเริ่มหดตัวและมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอย่างน้อยในครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว และการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน” พิพัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ KKP Research ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 2.8% เป็น 3.6% โดยมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ด้วยการกระจุกตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ยาวเหมือนกับภาคการผลิต จะทำให้มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้
ในภาพรวมความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ ได้แก่
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
- เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด
- การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้ามได้
นอกจากนั้นปีนี้ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
โลกเติบโตภายใต้ความเสี่ยงสูง
ด้าน บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Managing Director, Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ภาพของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดูเป็นเชิงบวกมากขึ้นในช่วงนี้ หลักๆ แล้วเป็นผลมาจากการเปิดประเทศของจีนและราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดต่ำลง อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวยังมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะยังเติบโตภายใต้ความเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และภาวะสงครามที่ต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา
“ความเสี่ยงที่ราคาพลังงานจะปรับสูงขึ้นหลังจีนเปิดประเทศ รวมไปถึงกรณีที่สงครามยังไม่จบยังมีอยู่ ทำให้เงินเฟ้อในหลายประเทศอาจไม่ได้ลงเร็วและมีโอกาสปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี เมื่อสงครามเงินเฟ้อยังไม่จบ ธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงต่อไป ดอกเบี้ยที่สูงก็ย่อมฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ” บุรินทร์กล่าว
บุรินทร์กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านในปีนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ดี แนวโน้มของภาคท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยคาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อาจขยายตัวได้สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ 3.7-3.8%
บาทแข็งส่อซ้ำเติมส่งออก
ขณะที่ รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแล้ว การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันการส่งออกไทยในปีนี้ โดยประเมินว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน แต่ระหว่างทางจะมีความผันผวนจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ
“นับจากต้นปีเงินบาทแข็งค่ามาแล้วราว 5% สูงที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ผลกระทบในแต่ละอุตสาหกรรมจะไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักจะถูกกระทบจากค่าเงินหนักกว่าอุตสาหกรรมที่นำเข้าชิ้นส่วนมาจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิต แต่ในภาพรวมยังเชื่อว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 0-0.5% เท่านั้น” รุ่งกล่าว
รุ่งกล่าวต่อว่า ปัจจัยที่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทคือท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยขณะนี้ตลาดมองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 0.50% แบ่งเป็น 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ และอีก 0.25% ในเดือนมีนาคม ก่อนจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5% โดยมีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหากเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับลดลงมาได้เร็ว
“หากการประชุมของ Fed ส่งสัญญาณออกมาตามนี้อาจทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า แต่เงินบาทก็จะมีหนุนจากการท่องเที่ยวที่จะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนเช่นกัน โดยมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในปีนี้อาจสูงถึง 28 ล้านคน ทำให้ไทยจะเกินดุลต่อเนื่อง เราจึงมองว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทในปีนี้จะมีความผันผวน” รุ่งกล่าว