วันนี้ (26 กรกฎาคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า
- เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 2.4
- เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายจ่ายต่อหัวนักท่องเที่ยวที่สูงกว่าประมาณการในครั้งก่อน โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 36 ล้านคน ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 27.9 ต่อปี และเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 35.7 ล้านคน และรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 47,000 บาทต่อคนต่อทริป เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ 44,600 บาทต่อคนต่อทริป
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa-Free) เพิ่มขึ้นเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน และการเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีรายจ่ายต่อหัวสูง โดยรวมภาคการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้กว่า 1.69 ล้านล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4
- การส่งออกมีสัญญาณขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 2.3 โดยอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน โดย GDP ของประเทศคู่ค้าหลัก 15 ประเทศปรับตัวขึ้นร้อยละ 3.2 เพิ่มจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.1
- การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.5 ส่วนหนึ่งมาจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 8 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง (Real VAT) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้การใช้จ่ายและการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางการคลังและมาตรการด้านสินเชื่อและสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ดุลบริการเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 เกินดุล 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของ GDP
- ตัวเลขการประมาณการ GDPนี้ไม่ได้นับรวมผลที่คาดว่าจะได้รับในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณเบื้องต้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ว่าหากพิจารณาเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.2-1.8 ตลอดทั้งโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเงิน เงื่อนไขโครงการ และจำนวนผู้มีเข้าร่วมโครงการ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้รับสิทธิ