×

คนไทยยังจมหนี้! เจอวิกฤตน้ำท่วมซัดซ้ำ เศรษฐกิจอ่วม 5 หมื่นล้าน ‘ส.อ.ท.’ ห่วงสินค้าจีนทะลัก ฉุดดัชนีอุตสาหกรรมร่วงต่ำสุดในรอบปี

16.10.2024
  • LOADING...

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2567 ร่วงต่ำสุดในรอบปี 2567 ห่วงสินค้าจีนทุ่มตลาด เจอวิกฤตน้ำท่วมซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย สูญไม่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นล้านบาท หวังรัฐแจกเงินหมื่นเฟส 2 กระตุ้นการจับจ่าย 3 เดือนสุดท้าย แนะรัฐออกมาตรการเศรษฐกิจปลายปี ชี้ลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยอุ้มผู้ประกอบการไปอีกระยะ

 

วันนี้ (16 ตุลาคม) นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลงจาก 87.7 ในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลง 2 เดือนต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบปี 2567

 

 

ปัจจัยลบมาจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 3- 5 หมื่นล้านบาท 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะนี้กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากแรงกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือน ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนยังคงชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศช่วง 8 เดือน (เดือนมกราคม-สิงหาคม 2567) หดตัว 24%YoY และ 11%YoY ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดย ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียงร้อยละ 63.31 ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง

 

อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีนยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

 

“เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 33.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2567 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 สู่ระดับ 4.75-5.00 ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายนยังมีปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 โดยการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวน 14.5 ล้านราย ช่วงวันที่ 25-30 กันยายน 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค 

 

หวัง ‘ท่องเที่ยว’ พยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กันยายน 2567 มีทั้งสิ้น 26,005,295 คน ขยายตัว 30%YoY สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่า 1,214,681 ล้านบาท 

 

ส่วนภาคการส่งออกปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก เช่น สหรัฐฯ, จีน, อาเซียน, ยุโรป, อินเดีย, แอฟริกา และตะวันออกกลาง และอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rate) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง

 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 

 

“โดยเฉพาะหากมีโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซัน และได้รับผลบวกจากมาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวภาครัฐ อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย”

 

ในสินค้าปิโตรเคมี ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

 

นาวากล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น กระทบต่อวัตถุดิบในภาคเกษตร 

 

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี

 

ชี้ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายช่วยผู้ประกอบการ แนะรัฐอัดฉีดเศรษฐกิจท้ายปี

 

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดความผันผวน รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

“วันนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่คงไว้ 2.5% ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยล่าสุดได้ปรับลดลง 0.25% ซึ่งจะสามารถช่วยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้อีกระยะ” นาวากล่าว

 

ทั้งนี้ขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ (Real Time) ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรป่าต้นน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 

 

“และขอให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ”

 

ด้าน อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สำหรับน้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ส.อ.ท. ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือ เช่น ด้านการเงิน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 12 เดือน, ลดค่างวด 50% และลดดอกเบี้ย 1% นาน 12 เดือน, กู้ซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการได้ 100% และด้านภาษี รวมถึงสามารถย้ายเครื่องจักรและวัตถุดิบออกจากโรงงานไปยังสถานที่อื่นหรือส่งออกในกรณีฉุกเฉิน โดยดำเนินการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในภายหลังได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising