×

ไทย แจงปมหนัง ‘Seaspiracy’ ฉายผ่าน Nexflix พาดพิง ‘ประมงผิดกฎหมาย-ค้ามนุษย์’ ยืนยันแก้ปัญหามาโดยตลอด

โดย THE STANDARD TEAM
08.04.2021
  • LOADING...
ไทย แจงปมหนัง ‘Seaspiracy’ ฉายผ่าน Nexflix พาดพิง ‘ประมงผิดกฎหมาย-ค้ามนุษย์’ ยืนยันแก้ปัญหามาโดยตลอด

วันนี้ (8 เมษายน) พล.ร.ต. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ชี้แจงกรณีภาพยนตร์ เรื่อง Seaspiracy ทาง Nexflix บางตอนพาดพิงประเทศไทยในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในเรือประมง ทำให้เสียภาพลักษณ์ประเทศไทย ศรชล. ขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ภาพยนตร์ดังกล่าวเริ่มออกอากาศเมื่อ 24 มีนาคม 2564 โดยมีผู้อำนวยการผลิตคือ Kip Andersen ผู้กำกับภาพยนตร์คือ Ali Tabrizi และผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์คือ Lucy Tabrizi (นามสกุลเดิม Manning) เรื่องย่อ (Synopsis): ช่วงเวลา 1.06.00-1.12.00 เป็นการนำเสนอเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับลูกเรือประมง ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่จนถึงปี 2558 โดยมีสาระสำคัญของปัญหาประกอบด้วย  ปัญหาแรก การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทั้งในน่านน้ำไทยและในทะเลหลวง โดยใช้เรือไทย และในน่านน้ำประเทศใกล้เคียงโดยใช้เรือที่โอนทะเบียนไปชักธงรัฐนั้นๆ และปัญหาที่สอง การค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงที่ทำประมงในน่านน้ำดังกล่าวข้างต้น 

 

ทั้งนี้สถานะปัจจุบัน หลังประเทศไทยทุ่มเทแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนสำเร็จในปี 2562 ใช้เวลา 4 ปีครึ่ง ซึ่งมีจุดบ่งชี้ที่สำคัญคือ ไทยพ้นจากใบเหลือง IUU ขั้นเลวร้าย มาเป็นใบเขียวคือ ปกติ และพ้นจากบัญชีค้ามนุษย์ขั้นเลวร้ายมาอยู่ใน Tier 2 ตั้งแต่ปี 2562 

 

สำหรับคำชี้แจงของประเทศไทย

 

  1. ประเทศไทยยินดีอย่างยิ่งที่มีการตรวจสอบทุกแง่มุม เพื่อสนับสนุนหลักการด้านความโปร่งใส

 

  1. ประเทศไทยยึดถือและมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อความยั่งยืนของทะเลและทรัพยากรประมง

 

  1. ประเทศไทยจะไม่อดทนต่อการค้ามนุษย์ในภาคประมงอีกต่อไป

 

  1. ประเทศไทยมิได้ดำเนินการแก้ปัญหาโดยลำพัง แต่มีหุ้นส่วนที่ร่วมทำงานแก้ปัญหาทุกมิติ และในทุกพื้นที่ที่มีปัญหามาตลอดเวลา และมุ่งมั่นจะดำรงความโปร่งใสและชัดเจนตลอดการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนต่อไป

 

พร้อมทั้งตระหนักถึงปัญหา สัญญาณด้านลบที่ได้รับ 2 ด้านที่สำคัญ ในปี 2558 ประกอบด้วย ด้านแรก สหภาพยุโรปจัดไทยขึ้นบัญชี IUU ใบเหลือง และสหรัฐอเมริกาจัดไทยขึ้นบัญชีค้ามนุษย์ Tier 3 การนี้ไทยมิใช่เพียงตระหนักถึงปัญหาหนักเฉพาะหน้า แต่ยังยึดถือความยั่งยืนของท้องทะเล ทรัพยากรประมง และของแรงงานประมงเป็นสำคัญ

 

สำหรับกลไกความพยายามระดับชาติ รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะนั้น จึงทำการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มาขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการประมง ตามแผนบริหารจัดการประมงแห่งชาติเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมงทะเล ที่มีการกำกับและตรวจสอบโดยคณะตรวจสอบของกรรมาธิการทะเลแห่งรัฐสภาสหภาพยุโรป และแผนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ มีการติดตามความก้าวหน้าโดยฝ่ายสหรัฐฯ ตลอดช่วงการแก้ไขปัญหา

 

ส่วนนโยบายหลัก ศปมผ. ทำงานตามเป้าหมายเชิงนโยบาย 6 ด้าน คือ 1. การปฏิรูปกฎหมาย 2. การจัดการกองเรือ 3. การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง 4. การบังคับใช้กฎหมาย 5. การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาคประมง และ 6. การแสวงหาหุ้นส่วน ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายหลักเหล่านี้ดำเนินการอย่างมีลำดับขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลทุกประเด็น

 

เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ การชี้นำของผู้นำทางการเมือง ครอบคลุมทั้งด้านการประมงและการค้ามนุษย์ มีความจริงจัง ต่อเนื่องตลอดเวลา จนถึงวันที่บรรลุเป้าหมาย การสนับสนุนทางการเงินและการจัดสรรงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแก้ปัญหาประมงในน่านน้ำ และการช่วยเหลือลูกเรือที่เป็นเหยื่อนอกน่านน้ำ ในระดับปฏิบัติการมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การนำของ ศรชล. ได้แก่ กองทัพเรือ, กรมประมง, กรมเจ้าท่า, กรมศุลกากร, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมการจัดหางาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมเป็น ‘ชุดสหวิชาชีพ’ ทั้งเพื่อการตรวจเรือหน้าท่า และการปูพรมตรวจแรงงานในสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำ และกิจการต่อเนื่องอาหารทะเล (ยุบเลิกเมื่อตรวจเสร็จตามเป้า) 

 

กิจกรรมสำคัญ ตราพระราชกำหนดการประมง ปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ในเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำอย่างเฉียบขาด มีรายงานผลคดีทุกปี จัดระบบข้อมูลและทะเบียนเรือประมงทั้งประเทศ เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงการนำแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมง และปริมาณผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ค่าผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน (Maximum Sustainable Yield: MSY) และจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ในทุกจังหวัดชายทะเล เพื่อควบคุมการเข้าออกท่าเทียบเรือประมง มีการใช้ระบบประเมินความเสี่ยงร่วม (Common Risk Assessment: CRA) ในการควบคุมการทำการประมงด้วย และจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือประมงเข้าออก (Port In-Port Out Controlling Centre: PIPO) ครบทุกจังหวัดชายทะเลเพื่อกำกับการเข้าออก

 

ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 (C188) และจัดระเบียบและจัดระบบลูกเรือประมง ทั้งด้านการอนุญาต การจ้างงาน การคุ้มครองแรงงาน และการตรวจตราการเข้า-ออกกับเรือในการทำประมง เก็บอัตลักษณ์บุคคลเป็นชุดข้อมูลไบโอเมตริก โดยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจยืนยันบุคคลได้ผ่านฐานข้อมูลดิจิทัล การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยในต่างแดนจากทุกภูมิภาค การตรวจประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาอย่างเอาจริงเอาจังสามารถจัดระบบให้เรือประมงและแรงงานประมงทะเลมีระบบกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างต่อเนื่องได้เรียบร้อยในปี 2562 โดยมีตัวชี้วัดสำคัญคือ สหภาพยุโรปปลดประเทศไทยจากบัญชีใบเหลือง ในต้นปี 2562 และสหรัฐฯ จัดไทยในบัญชีการค้ามนุษย์ดีขึ้นจาก Tier 3 ในปี 2559 เป็น Tier 2.5 และ Tier 2 ตามลำดับ ในปี 2562 

 

รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กองทัพเรือ เสนอเมื่อ 8 ตุลาคม 2562 ให้ถ่ายโอนภารกิจจาก ศปมผ. ไปยังหน่วยงานตามพันธกิจ เพื่อปฏิบัติการรักษากฎหมายต่อไป ปัจจุบัน ศรชล. เป็นหน่วยที่รับผิดชอบในการเป็นแม่งานต่อไป โดย ศรชล. และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินงานด้วยระบบตรวจสอบและเฝ้าระวังการประมงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อประกันความยั่งยืนของทะเล และการคุ้มครองแรงงานประมงตามแนวทางของสหประชาชาติต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising