หลังจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้เงื่อนไขว่าไทยจะต้องจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดนั้น ทำให้หลายฝ่ายจับตาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU หลังจากนี้เป็นพิเศษ
ขณะที่นักวิชาการไทยเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นสัญญาณบวก และช่วยกดดันให้ไทยเดินตามโรดแมปประชาธิปไตย
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อาจารี ถาวรมาศ ผู้บริหารบริษัท Access Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายการดำเนินความสัมพันธ์กับ EU สำหรับภาครัฐและเอกชนไทย โดยทั้ง 2 ท่านได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการตัดสินใจปรับท่าทีของ EU ในครั้งนี้ รวมถึงคาดการณ์ทิศทางความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และความหวังในการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่าง 2 ฝ่าย
จุดยืนค้ำคอ! เหตุ EU ระงับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยปี 2557
รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า EU มีค่านิยมทางการเมืองตัวหนึ่งที่ได้รับการบัญญัติลงในรัฐธรรมนูญของ EU ซึ่งสะท้อนให้เห็น ‘อัตลักษณ์’ ของอารยธรรมตะวันตกที่เชิดชูประชาธิปไตยเสรีนิยมและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น EU จึงนำค่านิยมนี้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศเสมอมา
เพราะฉะนั้น เมื่อประเทศใดมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนนำไปสู่ระบอบอำนาจนิยม หรือเผด็จการ ก็จะถูก EU ใช้มาตรการกดดันต่างๆ โดยบทลงโทษก็มีหลายระดับตั้งแต่ออกแถลงการณ์วิจารณ์ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ไปจนถึงการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือใช้กำลังทางทหาร ซึ่งเป็นบทลงโทษสูงสุด ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นในปี 2557 EU จึงใช้หลักการเดียวกันนี้บีบไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
EU รอจังหวะ ‘ปลดล็อก’ ความสัมพันธ์ไทย
ดร.อาจารี มองว่า EU รอการ ‘ปลดล็อก’ ความสัมพันธ์กับไทยมานานแล้ว และคาดหวังว่าไทยจะประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน เพื่อที่ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อไทยได้ ดังนั้น หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศโรดแมปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า จึงทำให้ EU ได้โอกาสเปลี่ยนท่าทีทันที
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ท่าทีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการปรับความสัมพันธ์สู่ภาวะปกติเท่านั้น โดยหลังจากนี้ EU จะยังคงจับตาดูไทยต่อไปว่า นับจากวันนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีหน้า รัฐบาล คสช. จะสามารถจัดการเลือกตั้งแบบเสรีได้จริงหรือไม่ โดยคณะสังเกตการณ์ของ EU จะไม่ดูเพียงการเปิดคูหาเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังดูไปถึงกระบวนการหาเสียงของพรรคการเมือง กระบวนการพิพากษา ระดับสิทธิเสรีภาพ และท้ายที่สุดดูว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใสหรือมีอิสระเสรีมากน้อยเพียงใด
ซึ่งหาก EU พบว่าไทยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจนเป็นที่พอใจ ก็อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง EU กับไทยตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หรือเลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ EU อาจตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งก็เป็นได้
การตัดสินใจฟื้นฟูความสัมพันธ์ของ EU สะท้อนอะไร?
ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างก็ยึดถือโมเดลประชาธิปไตยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ พร้อมกับคาดหวังให้ประเทศอื่นๆ ต้องยึดค่านิยมเหล่านี้เป็นแนวทางปฏิบัติเช่นกัน แต่ EU เองก็เลือกปฏิบัติไม่แตกต่างจากสหรัฐฯ โดยประเทศเหล่านี้จะพิจารณาตามสถานการณ์และดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งรวมถึงการดูว่าประเทศนั้นๆ มีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ต่อพวกเขาเพียงใด
หากมีมาก EU ก็จะเลือกใช้มาตรการกดดันที่มีความรุนแรงน้อยลง หรืออาจใช้เพียงมาตรการกดดันทางการทูตในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการประกาศระงับการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงของ EU กับไทยตั้งแต่ปี 2557 ซึ่ง รศ.ดร.สมชาย มองว่า มาตรการทางการเมืองนี้มีผลกระทบกับไทยไม่มากนัก เพราะการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินอยู่ จะมีก็แต่การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) และกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับ EU ที่หยุดชะงักลง
เมื่อพิจารณาภาพรวมจะเห็นว่า การที่ EU เลือกใช้เพียงมาตรการลดระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทย และไม่ได้ออกมาตรการลงโทษที่รุนแรงอื่นๆ ตามมาในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมานั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของไทยที่มีต่อ EU และภูมิภาคยุโรป
รศ.ดร.สมชาย กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพราะตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของกลุ่มอาเซียน รวมถึงเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย นอกเหนือจากอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน 10+3 และ 10+6 กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) รวมถึงเวทีประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ EU ให้ความสำคัญในฐานะหมุดเชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชีย-แปซิฟิก และจะเป็นประตูสู่ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อมาก โดยภูมิภาคแห่งนี้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว เฉพาะอาเซียนก็มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 5% ต่อปี ด้วยเหตุนี้ EU จึงไม่อาจละสายตาจากไทยได้
การขยายอิทธิพลของจีนในเอเชีย-แปซิฟิก และการคานอำนาจของ EU
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ EU ต้องการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยก็คือ การหวนกลับมาคานอำนาจกับจีน หลังจากที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายเข้าหาจีนมากขึ้น โดย ดร.อาจารี มองว่า จีนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้จีนยังพยายามแสดงบทบาทเป็นผู้นำในการเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน และยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ ‘Belt & Road’ ด้วย และการที่ประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งไทย หันเข้าหาจีนมากขึ้น ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ EU ตัดสินใจปรับความสัมพันธ์กับไทย
‘ทฤษฎีเกม’ ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ หากการเจรจา FTA เดินหน้า
EU เล็งเห็นว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปกับไทย จะเปิดประตูสู่การเจรจา FTA เพราะที่ผ่านมา การถูกบล็อกด้วยการเมืองและค่านิยมหลัก ทำให้ EU อาจ ‘ตกขบวน’ เนื่องจาก EU มองอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สำคัญ ถ้า FTA ไม่เดินหน้า ทั้ง EU และไทยต่างก็จะเสียประโยชน์ โดย EU ต้องการเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย และต้องการให้ไทยเป็นฐานส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย
รศ.ดร.สมชาย มองว่า การค้าเสรีคือข้อตกลงแบบ ‘win-win’ ที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย แต่ใครจะได้ประโยชน์มากกว่าหรือใครเสียน้อยกว่าย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจาและอำนาจต่อรองของแต่ละประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไทยมีอำนาจต่อรองน้อยกว่า EU ดังนั้น ทางออกของไทยคือต้องดึงประเทศสมาชิกอาเซียนมาร่วมเจรจาในระดับพหุภาคีด้วย
ที่ผ่านมา การระงับความสัมพันธ์ทางการเมือง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากนัก แต่เมื่อใดก็ตามที่ไทยกับ EU สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีและจัดตั้ง FTA ได้สำเร็จ ก็จะทำให้กรอบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายมีความแนบแน่นยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีลักษณะกว้างๆ ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เท่านั้น
แต่ความแนบแน่นนี้ก็อาจเป็นดาบ 2 คมเช่นกัน เพราะเมื่อมีโครงสร้างและกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้การกำหนดนโยบายต่างประเทศของ 2 ฝ่ายต้องทำอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบต่อการค้าระดับทวิภาคีมากกว่าแต่ก่อน
ทิศทางความสัมพันธ์ในอนาคต ไทยควรทำอะไรต่อไป?
ดร.อาจารี กล่าวว่า จากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่าง EU กับไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางบวก ถึงแม้ EU จะยังมีความกังวลในสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยก็ตาม ดร.อาจารี แนะว่า หลังจากที่ EU ได้แง้มประตูให้ไทยแล้ว ไทยก็ควรถือโอกาสนี้เร่งเดินหน้าเจรจา FTA เพราะเป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้เร็ว และเป็นรูปธรรมที่สุด
แต่กระนั้นการเจรจาการค้าเสรีระหว่าง 2 ฝ่ายยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก เพราะแน่นอนว่า EU จะต้องหยิบยกประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงประชาธิปไตยมาเป็นเงื่อนไขต่อรองแน่นอน ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะนักเจรจาในเวลานั้นว่าจะสามารถรักษาผลประโยชน์ให้กับไทยได้มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลไทยควรเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ เพราะเวลานี้นานาชาติกำลังจับตาไทยเป็นพิเศษ หลังจากที่ EU ได้เปลี่ยนท่าทีพร้อมฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย โดย รศ.ดร.สมชาย ยังมองด้วยว่า เป็นเรื่องดีสำหรับคนไทยที่ EU กำหนดเงื่อนไขให้ไทยจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
Photo: AFP