×

ชะตาชีวิต…เศรษฐกิจไทย

08.03.2021
  • LOADING...
ชะตาชีวิต...เศรษฐกิจไทย

I dreamed a dream in times gone by 

When hope was high and life worth living…

 

I Dreamed a Dream เพลงจาก Les Misérables ที่ร้องโดยตัวละคร ฟองทีน

 

สวัสดีครับ เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์กึ่งละครเพลงเรื่อง Les Misérables หรือที่มีชื่อไทยว่า เหยื่ออธรรม ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมชั้นครูที่แต่งโดยวิกตอร์ อูโก นักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส เหยื่ออธรรม เล่าเรื่องราวของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ถูกกดขี่ข่มเหงโดยชนชั้นสูงและระบบการปกครองจนนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789-1832 โดยบอกเล่าผ่านตัวละครเอกที่เป็นเหยื่อของระบบการปกครอง สังคมและวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยว

 

หนึ่งในตัวละครที่สะท้อนถึงการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมคือ ฟองทีน (Fantine) เธอเคยเป็นเด็กสาวที่มีความฝันและเชื่อว่าโลกนั้นน่าอยู่ แต่เมื่อเติบโตขึ้น ฟองทีนกลับต้องเผชิญกับชะตากรรมที่น่าสงสาร เธอพบรักกับ โธโลมิเย (Tholomyès) นักศึกษาจากครอบครัวชั้นสูงและให้กำเนิดลูกสาว แต่โธโลมิเยปฏิเสธความรับผิดชอบและทิ้งเธอไป ฟองทีนจึงต้องเลี้ยงลูกสาวเพียงลำพัง

 

หลังจากนั้นฟองทีนก็มีชีวิตที่ยากลำบาก เธอฝากลูกสาวไว้กับครอบครัวเดนาร์ติเยร์ (The Thénardiers) เพื่อออกมาหางาน แต่งานก็หายากและให้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย เพราะสังคมฝรั่งเศสในสมัยนั้นไม่ยอมรับหญิงที่ท้องโดยไม่มีสามี ซ้ำร้ายยังถูกครอบครัวเดนาร์ติเยร์เอาเปรียบโดยโกหกว่าลูกสาวของเธอป่วยและขอเงินค่ารักษา ในที่สุดฟองทีนจึงจำใจต้องขายผมกับฟันหน้าและกลายมาเป็นโสเภณี ฟองทีนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แม้ในวาระสุดท้ายของชีวิตเธอก็ยังห่วงลูกสาวและรู้สึกคับแค้นต่อโชคชะตาและสังคมรอบข้าง

 

ฟองทีนเป็นตัวแทนของประชาชนชาวฝรั่งเศสที่ตกเป็นเหยื่อของ ‘กรอบ’ หรือ ‘กฎเกณฑ์’ ที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของประชาชนในยุคสมัยนั้น ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราเรียกกรอบหรือกฎเกณฑ์นี้ว่า ‘โครงสร้างเชิงสถาบัน’ ชีวิตของเธอทำให้เราเห็นว่าโครงสร้างเชิงสถาบันสามารถกำหนดชะตาชีวิตของประชาชนได้ เช่นเดียวกับชะตาของเศรษฐกิจและสังคม

 

จากบทความฉบับที่แล้ว ผมทิ้งคำถามไว้ว่า เราจะเปลี่ยนระบบสถาบันการเงินไทยอย่างไรเพื่อให้สถาบันการเงินมีบทบาทในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น การจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สัมฤทธิ์ผลจำเป็นต้องเปลี่ยนที่รากของปัญหานั่นคือ ‘โครงสร้างเชิงสถาบัน’ ที่กำหนดรูปแบบการดำเนินกิจการของสถาบันทางการเงิน ในบทความฉบับนี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบสถาบันการเงินที่ดี และหาคำตอบร่วมกันว่าโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบสถาบันการเงินไทยเป็นอย่างไร

 

เรียนรู้จากระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศส

นอกจากมีวรรณกรรมที่ดีแล้ว ฝรั่งเศสยังมีระบบสถาบันการเงินที่ดีด้วย โดยระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศสประสบความสำเร็จทั้งในมิติของ 1. บทบาทในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างทั่วถึง 2. การแข่งขันภายในระบบสถาบันการเงิน และ 3. การบริหารจัดการความเสี่ยง

 

ในมิติของบทบาทในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างทั่วถึง ข้อมูลจาก Bank for International Settlements (BIS) ระบุว่า ในปี 2019 ฝรั่งเศสมีสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจต่อมูลค่า GDP สูงถึง 150.1% ซึ่งเป็นอันดับที่ 6 จาก 48 ประเทศในถังข้อมูล นอกจากนี้ระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศสยังสนับสนุนธุรกิจ SMEs ได้ดีอีกด้วย โดยข้อมูลจาก European Banking Federation (EBF) ระบุว่า สินเชื่อใหม่ที่ให้กับธุรกิจ SMEs คิดเป็นถึง 42% สินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งหมดในเดือนธันวาคม 2019 นอกจากนี้คำขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนของ SMEs ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ก็ได้รับการยินยอมให้กู้ถึง 97%

 

ในมิติของการแข่งขันภายในระบบสถาบันการเงิน ข้อมูลจาก EBF ระบุว่า ฝรั่งเศสมีธนาคารจดทะเบียน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2020 สูงถึง 340 บริษัท ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่าระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศสมีการแข่งขันสูงเป็นอันดับที่ 55 จาก 160 ประเทศ การแข่งขันที่ดีส่งผลให้สถาบันการเงินฝรั่งเศสมี Overhead Cost ต่อสินทรัพย์รวมต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 31 จาก 186 ประเทศ และสามารถคิดอัตราเงินกู้และเงินฝากที่เหมาะสมสะท้อนจาก Net Interest Margin ที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 13 จาก 184 ประเทศทั่วโลก[i]

 

นอกจากนี้ระบบสถาบันการเงินของฝรั่งเศสยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL) ที่ต่ำกว่า 3% นอกจากนี้สถาบันการเงินฝรั่งเศสยังมีความน่าจะเป็นที่จะล้มละลายน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 17 จาก 183 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย

 

1985 Banking Act กฎหมายพลิกชะตาของระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศส

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝรั่งเศสมีระบบสถาบันการเงินที่ดี? ประวัติศาสตร์มีคำตอบครับ

 

ก่อนหน้าที่สถาบันการเงินฝรั่งเศสจะเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเหมือนทุกวันนี้ สถาบันการเงินฝรั่งเศสก็เคยมีช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก่อน โดยหากย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถาบันการเงินทั้งหมดถูกรวมศูนย์เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง (The Treasury) ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถแทรกแซงกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินได้ถึง 2 ต่อ

 

ต่อแรก กระทรวงการคลังได้ก่อตั้ง Deposit Network ซึ่งเป็นเครือข่ายของสถาบันการเงินและสหกรณ์ขนาดใหญ่ โดยสถาบันการเงินที่อยู่ในเครือข่ายนี้จะสามารถเข้าถึงเงินฝากต้นทุนต่ำและได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงการคลัง สิทธิประโยชน์ดังกล่าวทำให้สมาชิกของ Deposit Network กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในระบบสถาบันการเงินของฝรั่งเศสไปโดยปริยาย โดยกระทรวงการคลังก่อตั้ง Deposit Network มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สถาบันการเงินในเครือข่ายเป็นเครื่องมือในการให้สินเชื่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ภาครัฐต้องการสนับสนุน (Subsidized Loan) ซึ่งธุรกิจบางรายมีผลการดำเนินงานที่แย่ ดังนั้นการให้สินเชื่อกับธุรกิจเหล่านี้จะเข้าข่าย Zombie Lending

 

ต่อที่สอง ในช่วงปี 1970 ภาครัฐพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ Deposit Network อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังต้องจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แทนที่จะยอมปรับอัตราดอกเบี้ยกลางให้สูงขึ้น กระทรวงการคลังกลับออกโปรแกรม Encadrement du crédit เพื่อตั้งเพดานการให้สินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ Deposit Network เพื่อจำกัดปริมาณเงินในระบบ ขณะเดียวกันก็อัดฉีดเงินให้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ Deposit Network นำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ภาครัฐต้องการอุ้ม

การแทรกแซงดังกล่าวเป็นการบิดเบือนกลไกการตลาดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทรัพยากรทางการเงินไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่ได้สะท้อนถึงผลิตภาพการผลิตของธุรกิจหรือความต้องการสินเชื่ออย่างที่ควรจะเป็น

 

การทำงานที่ผิดปกติของระบบสถาบันการเงินส่งผลให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสขาดความสมดุล สะท้อนจากการขาดดุลการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแทรกแซงของภาครัฐกลายเป็นภาระทางการคลังมูลค่ามหาศาลจนภาครัฐไม่สามารถรองรับได้ ในที่สุดจึงเกิดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในปลายปี 1984 โดยกระทรวงการคลังออกกฎหมาย 1985 Banking Act ที่ช่วยวางโครงสร้างเชิงสถาบันของระบบสถาบันการเงินฝรั่งเศสเสียใหม่

 

ภายใต้ 1985 Banking Act กระทรวงการคลังได้ประกาศยกเลิกการให้เงินอุดหนุนกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ Deposit Network และยกเลิกการควบคุมเพดานการให้สินเชื่อภายใต้โปรแกรม Encadrement du crédit นอกจากนี้ภาครัฐยังยอมแปรรูปกิจการธนาคารขนาดใหญ่ให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของ (Privatization) ซึ่งธนาคารขนาดใหญ่เหล่านี้มีสัดส่วนสินทรัพย์สูงถึง 20% ของระบบธนาคารทั้งหมด

 

การบังคับใช้กฎหมาย 1985 Banking Act ส่งผลดีต่อระบบสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถาบันการเงินเริ่มกลับมาให้สินเชื่อโดยพิจารณาจากผลประกอบการและความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจ นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังช่วยลดบทบาทของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ Deposit Network และช่วยให้การแข่งขันภายในระบบสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น

 

โครงสร้างเชิงสถาบันที่ดีเอื้อให้สถาบันการเงินฝรั่งเศสก้าวขึ้นมามีบทบาทในการสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีประสิทธิภาพสูง โดยงานศึกษาของ Bertrand, Schoar, and Thesmar (2007)[ii] พบว่า การปฏิรูประบบสถาบันการเงินของฝรั่งเศสเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เร่งให้เกิดกระบวนการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ที่ปลดล็อกศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจฝรั่งเศส และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

…Then I was young and unafraid

And dreams were made and used and wasted

There was no ransom to be paid

No song unsung, no wine untasted…

 

ทำความเข้าใจโครงสร้างเชิงสถาบัน Inclusive Institution vs. Extractive Institution

เรื่องราวของกฎหมาย 1985 Banking Act ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างเชิงสถาบันมีความสำคัญต่อ ‘ชะตา’ ของระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากเพียงใด เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างเชิงสถาบันให้มากขึ้นกันครับ

 

ในหนังสือ Why Nations Fail (2012) ของ Daron Acemoglu และ James A. Robinson นักเศรษฐศาสตร์สถาบันชื่อดังแบ่งโครงสร้างเชิงสถาบันออกเป็น 2 ประเภท เพื่อให้เห็นภาพ เราสามารถเทียบโครงสร้างเชิงสถาบันทั้งสองประเภทกับเนื้อเพลง I Dreamed a Dream ได้ดังนี้ครับ

 

โครงสร้างเชิงสถาบันที่ดีเรียกว่า Inclusive Institution อันหมายถึงโครงสร้างเชิงสถาบันที่สนับสนุนการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น มีกฎหมายที่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม โดยประชาชนควรได้โอกาสในการเข้าสู่ตลาดและเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบหรือกดขี่ข่มเหง และหากดำเนินธุรกิจแล้ว ล้มเหลวก็ควรได้รับโอกาสกลับเข้าสู่ตลาดอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับระบบสถาบันการเงิน Inclusive Institution จะเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินอย่างเท่าเทียม ณ ต้นทุนที่เหมาะสม คล้ายกับระบบสถาบันการเงินของฝรั่งเศสในปัจจุบัน

 

โครงสร้างเชิงสถาบันที่ไม่ดีเรียกว่า Extractive Institution ซึ่งหมายถึงโครงสร้างเชิงสถาบันที่กีดกันการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้อำนาจกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ (Vested Interest Group) ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ในประเทศที่มีโครงสร้างเชิงสถาบันแบบ Extractive Institutions กลุ่มผลประโยชน์จะแทรกแซงรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เช่น การพยายามกีดกันไม่ให้ธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ตลาด หรือการใช้อำนาจฉกชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจจากคู่แข่งผ่านการใช้อำนาจโน้มน้าวให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทของตน

 

ดังนั้นระบบเศรษฐกิจใดที่มีโครงสร้างเชิงสถาบันแบบ Extractive คนในระบบเศรษฐกิจนั้นจะถูกฉกชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจไปอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะรู้สึกคุ้นชินจนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบี้ยวไปแล้ว คล้ายกับที่ครอบครัวเดนาร์ติเยร์เอารัดเอาเปรียบฟองทีน ท้ายที่สุดกลไกการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบี้ยวจะฉีกความฝันของเราเป็นชิ้นๆ จนเราอายที่จะฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

 

…But the tigers come at night

With their voices soft as thunder

As they tear your hope apart

As they turn your dream to shame…

 

ชะตาของเศรษฐกิจไทยอาจถูกแขวนไว้บน Extractive Institution

ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ระบบสถาบันการเงินไทยและระบบเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีโครงสร้างเชิงสถาบันแบบใด ผมขอตอบคำถามด้วยข้อสังเกตสองประการ

 

ข้อสังเกตที่ 1 ข้อมูลระบุว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Extractive Institutions การระบุว่าระบบเศรษฐกิจหนึ่งมีโครงสร้างเชิงสถาบันแบบใด สามารถวัดจากบทบาทของกลุ่มผลประโยชน์ หากกลุ่มผลประโยชน์มีบทบาทมากก็มีแนวโน้มที่ระบบเศรษฐกิจนั้นจะมีโครงสร้างเชิงสถาบันแบบ Extractive ผมใช้วิธีวิจัยของ Knack (2003) ในการวัดอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ในไทย โดยนับว่าคนไทย 1 คนมีส่วนร่วมกับกลุ่มผลประโยชน์กี่จำพวก[iii] ผลปรากฏว่าในปี 2017 คนไทยมีส่วนร่วมในกลุ่มผลประโยชน์เฉลี่ยคนละ 0.44 จำพวกซึ่งสูงเป็นอันดับสองของกลุ่มตัวอย่าง (อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา)

 

ข้อสังเกตที่ 2 สถาบันการเงินไทยเองก็อาจเป็นหนึ่งในกลุ่มผลประโยชน์เช่นกัน ผมอยากชวนท่านผู้อ่านมองระบบสถาบันการเงินไทยผ่านมุมมองของ Buttonwood คอลัมนิสต์ชื่อดังแห่ง The Economist ซึ่งเคยเขียนบทความเรื่อง ‘The question of extractive elites’ ไว้เมื่อเดือนเมษายน 2012 คอลัมนิสต์ท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า สถาบันการเงินขนาดใหญ่ก็เข้าข่ายที่จะเป็นกลุ่มผลประโยชน์เช่นกัน เพราะสถาบันการเงินเป็นเจ้าของเงินทุนมหาศาล ประกอบกับมีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนทางการเงินของประชาชน อีกทั้งยังมีบทบาทในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐและธนาคารกลาง ยิ่งสถาบันการเงินผูกขาดมากเท่าไรก็ยิ่งสามารถเอาเปรียบประชาชนและมีอิทธิพลกับภาครัฐมากตามไปด้วย

 

นอกจากนี้กฎระเบียบในการกำกับสถาบันการเงินต่างๆ ยังถูกออกแบบมาเพื่อ ‘ปกป้อง’ สถาบันการเงินจากผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบาย Too Big Too Failed ซึ่งปกป้องไม่ให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสร้างรอยขีดข่วนบนงบทางการเงินของสถาบันการเงินได้ การปกป้องสถาบันการเงินเป็นเรื่องจำเป็นต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แต่ต้องไม่ลืมว่าหากปกป้องมากเกินไปสถาบันการเงินจะช่วยรองรับหรือบรรเทาผลกระทบของวิกฤตที่มีต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้น้อยลง ทั้งที่เป็นหน้าที่อันดับแรกที่สถาบันการเงินพึงกระทำ นอกจากนี้เมื่อสถาบันการเงินล้มไม่ได้ก็จะยิ่งส่งผลให้การแข่งขันภายในสถาบันการเงินมีน้อยลง ปล่อยให้สถาบันการเงินบางรายมีอำนาจตลาดมากเกินไปคล้ายกับสถาบันการเงินชั้นอภิสิทธิ์ที่เป็นสมาชิกของ Deposit Network ในฝรั่งเศสก่อนการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

 

บทส่งท้าย: โครงสร้างระบบสถาบันการเงินกับอนาคตเศรษฐกิจไทย

ข้อสังเกตทั้งสองประการทำให้ผมกังวลว่าโครงสร้างเชิงสถาบันของเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินไทยอาจเป็นแบบ Extractive ซึ่งข้อบกพร่องดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ระบบสถาบันการเงินไทยไม่สามารถทำหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างเต็มที่ จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน (บทความเรื่อง ระบบเศรษฐกิจไทยควร ‘กลัว’ ความเสี่ยงแค่ไหน) และทำให้สุขภาพของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงแยกออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ (บทความเรื่อง ภาคการเงินไทยสุขภาพดีกว่าใคร เหตุใดจึงไปไม่ถึงภาคเศรษฐกิจจริง?)

 

ที่น่ากังวลใจไปกว่านั้น ถ้าโครงสร้างเชิงสถาบันไทยเป็นแบบ Extractive ทั้งในระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม สิ่งดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส ฐานะทางสังคม และคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จะมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ถูกโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมปิดโอกาสให้เข้าถึงชีวิตที่ดี และจะมีคนไทยอีกจำนวนมากที่เคยมีความฝัน แต่ไม่มีโอกาสได้ทำความฝันนั้นให้กลายเป็นจริง คล้ายกับเรื่องราวชีวิตของฟองทีน

 

…I had a dream my life would be

So different from this hell I’m living

So different now from what it seemed

Now life has killed the dream I dreamed.

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • [i] ข้อมูลจาก Global Financial Development Database ของธนาคารโลก ข้อมูลปี 2017
  • [ii] BERTRAND, M., SCHOAR, A. and THESMAR, D. (2007), Banking Deregulation and Industry Structure: Evidence from the French Banking Reforms of 1985. The Journal of Finance, 62: 597-628. https://doi.org/10.1111/j.1540-6261.2007.01218.x
  • [iii] ผมใช้ข้อมูลจาก World Value Surveys ซึ่งสอบถามถึงกลุ่ม Association Activity ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีส่วนร่วม โดยกลุ่มที่จัดเป็น Vested Interest Groups ตามหลักเกณฑ์ของ Olson แบ่งออกเป็นสามจำพวก ได้แก่ Professional Associations, Trade Unions, และ Political Parties สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Knack (2003)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X