×

ไทยลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน ข้อดีข้อเสียคืออะไร ต่างประเทศกักตัวกี่วัน

30.09.2021
  • LOADING...
tourist

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางเข้ามาทางเครื่องบินจะได้รับการลดวันกักตัวลงเหลือ 10 วัน และถ้าหากได้รับวัคซีนโควิดครบแล้วจะลดวันกักตัวเหลือเพียง 7 วัน ตามมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 
  • การลดวันกักตัวนี้มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร และในต่างประเทศต้องกักตัวกี่วัน

ก่อนหน้านี้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องกักตัวเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดและสังเกตอาการเป็นระยะเวลา 14 วัน แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่เดินทางเข้ามาทางเครื่องบินจะได้รับการลดวันกักตัวลงเหลือ 10 วัน และถ้าหากได้รับวัคซีนโควิดครบแล้วจะลดวันกักตัวเหลือเพียง 7 วัน ตามมติที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564

 

นโยบายลดวันกักตัวถูกผลักดันโดยฝ่ายเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงแม้ฝ่ายสาธารณสุขจะจัดทำแผนเสนอขึ้นไปพร้อมกัน แต่ ศบค. ก็ยังไม่เห็นชอบ คงเพราะในขณะนั้นประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ดี จนกระทั่งผ่านการระบาดระลอกสองที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ศบค. ก็อนุมัติแผนผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงการลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วันด้วย 

 

โดยเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบกักตัว 7 วัน ผู้ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบกักตัว 10 วัน ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่พบสายพันธุ์กลายพันธุ์กักตัว 14 วัน ทว่าประเทศไทยกลับพบการระบาดระลอกที่สาม จนต้องเปลี่ยนมากักตัว 14 วันอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 กระทั่งเปิดพื้นที่นำร่องที่ภูเก็ตและเกาะสมุย ซึ่งมีรูปแบบการกักตัวที่ต่างออกไป

 

การลดวันกักตัวนี้มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอย่างไร และในต่างประเทศต้องกักตัวกี่วัน

 

หลักการของการกักตัว

 

การกักตัวหรือ ‘กักกัน’ (Quarantine) ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นการควบคุมผู้สัมผัสโรคให้อยู่ในสถานที่ที่แยกต่างหากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค ดังนั้นผู้ที่ต้องกักตัวจะต้องเป็น ‘ผู้สัมผัสโรค’ หรือมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ บางโรคจะเริ่มแพร่เชื้อหลังจากมีอาการแล้ว แต่สำหรับโควิดพบว่าเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนมีอาการ

 

มาตรการนี้ใช้สำหรับโรคติดต่ออันตรายเท่านั้น เพราะโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ เช่น หัด อีสุกอีใส หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ไม่จำเป็นต้องกักตัว อีกคำที่สำคัญคือ ‘ระยะฟักตัว’ (Incubation Period) เป็นระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเริ่มแสดงอาการ ระยะฟักตัวเฉลี่ยของโควิดเท่ากับ 5 วัน สั้นที่สุด 2 วัน และยาวที่สุด 14 วัน โดยผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม 95% จะมีระยะฟักตัวภายใน 12.5 วัน 

 

จึงเป็นที่มาของระยะเวลากักตัว 14 วัน ในขณะที่สายพันธุ์เดลตา มีข้อมูลจากการสอบสวนโรคที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 พบว่ามีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4 วัน เมื่อคำนวณจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจะได้ว่าผู้ติดเชื้อ 95-99% จะมีระยะฟักตัวภายใน 8-9 วัน ด้วยระยะฟักตัวที่สั้นกว่า สิงคโปร์จึงประกาศลดการกักตัวผู้สัมผัสโรคภายในประเทศเหลือ 10 วัน

 

ระยะเวลากักตัวในต่างประเทศ

 

 

สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศแรกๆ ที่มีการทบทวนเรื่องการลดวันกักตัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำว่าระยะเวลาในการกักตัวคือ 14 วัน แต่สามารถลดวันกักตัวลงได้ขึ้นกับบริบทและทรัพยากรของแต่ละรัฐ โดยมีทางเลือก 2 แบบคือ 

 

  • กักตัว 10 วัน โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อ
  • กักตัว 7 วัน โดยตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 เป็นต้นไป
  • แต่ทั้ง 2 แบบจะต้องสังเกตอาการต่อจนครบ 14 วัน

 

ปัจจุบันยังมีข้อยกเว้นเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว* และไม่มีอาการไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่จะต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ภายในอาคารที่เป็นสถานที่สาธารณะเป็นระยะเวลา 14 วัน หรือจนกว่าผลการตรวจหาเชื้อจะเป็นลบ โดยต้องตรวจหาเชื้อภายใน 3-5 วันหลังสัมผัสกับผู้ป่วย และต้องแยกตัวทันทีเมื่อมีอาการ เงื่อนไขนี้ยังสามารถใช้กับผู้เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนภายใน 90 วันและไม่มีอาการด้วย

 

สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ หากได้รับวัคซีนครบแล้ว* จะต้องตรวจหาเชื้อ 1-3 วันก่อนเดินทาง และตรวจหาเชื้ออีกครั้ง 3-5 วันหลังเดินทาง โดยไม่ต้องกักตัว แต่ถ้าหากยังไม่ได้รับวัคซีนจะต้องกักตัว 7-10 วันตามเกณฑ์ข้างต้น (หมายเหตุ: *ครบโดสของวัคซีนและครบ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนโดสสุดท้าย เฉพาะวัคซีน Pfizer, Moderna, J&J และวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรอง)

 

 

สหราชอาณาจักร สำหรับผู้สัมผัสโรคภายในประเทศต้องกักตัว 10 วัน ยกเว้นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้วอายุต่ำกว่า 18 ปี 6 เดือน อาสาสมัครในการวิจัยวัคซีน และผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ แต่สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศ หากได้รับวัคซีนครบแล้ว** จะต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง และตรวจหาเชื้ออีกครั้ง 2 วันหลังเดินทาง โดยไม่ต้องกักตัว 

 

หากยังไม่ได้รับวัคซีนจะต้องกักตัว 10 วัน และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งในวันที่ 2 และ 8 หลังเดินทาง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือตรวจหาเชื้อในวันที่ 5 หากผลเป็นลบจะสามารถออกจากการกักตัวก่อนกำหนดได้ (หมายเหตุ: **ครบโดสของวัคซีนและครบ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนโดสสุดท้าย เฉพาะวัคซีน Pfizer, Moderna, J&J และ AstraZeneca จากประเทศในรายชื่อที่กำหนด)

 

อย่างไรก็ตามหากเดินทางมาจากประเทศสีแดงจะต้องกักตัว 10 วันและตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบแล้วก็ตาม (สหราชอาณาจักรแบ่งประเทศต้นทางออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ปัจจุบันไทยจัดอยู่ในกลุ่มสีแดง ซึ่งผู้ถือวีซ่าท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ในขณะนี้ ยกเว้นถือวีซ่าสหราชอาณาจักรและต้องพักอยู่ประเทศนอกกลุ่มสีแดงเกิน 10 วัน) 

 

 

จีน เป็นประเทศที่ใช้แนวทางกำจัดโควิด (Zero-COVID) จึงมีมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวด ปัจจุบันยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว นักศึกษารับเฉพาะจากเกาหลีใต้ ส่วนผู้ที่จะไปทำงานต้องมีวีซ่าเฉพาะ ทว่าไม่มีข้อกำหนดเรื่องวัคซีน แต่ถ้าได้รับวัคซีนจีนจะสามารถเดินทางไปเยี่ยมญาติ หรือดูแลผู้สูงอายุได้ ส่วนวัคซีนอื่นจะไม่ได้รับอนุญาตเช่นนี้

 

ก่อนเดินทางจากจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และตรวจภูมิคุ้มกันภายใน 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดจะต้องได้รับการสแกนปอด ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้งห่างกัน 24 ชั่วโมง และกักตัวครบ 14 วันก่อนจะสามารถยื่นเอกสารสุขภาพที่สถานทูตต้นทางได้ สำหรับการกักตัวหลังเดินทางมาถึงจีนแล้ว ทุกกรณีต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 14-21 วันขึ้นกับเมืองที่เดินทางไป 

 

เช่น ปักกิ่ง มีมาตรการกักตัวเข้มงวดมาก กำหนดให้กักตัว 14 วันในสถานที่ที่กำหนด จากนั้นกักตัวต่อที่บ้านอีก 7 วัน ต่อด้วยการติดตามอุณหภูมิและอาการอีก 7 วัน รวมเป็น 28 วัน

 

การกักตัวในประเทศไทย

 

การกักตัวจะแบ่งเป็น 2 กรณีคล้ายกับประเทศอื่น คือ 1. การกักตัวสำหรับผู้สัมผัสโรคภายในประเทศ เช่น ผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อ กรณีนี้ยังต้องกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR อย่างน้อย 1 ครั้งในวันที่ 7 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อเป็นต้นไป หรือถ้าตรวจด้วย ATK จะต้องตรวจอย่างน้อย 2 ครั้งในวันที่ 3-5 และวันที่ 10-14 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย 

 

  1. การกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หากได้รับวัคซีนครบแล้ว*** ต้องกักตัวหรือเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างน้อย 7 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้งในวันแรก และวันที่ 6-7 แต่หากยังไม่ได้รับวัคซีน จะแยกเป็นการเดินทางมาทางเครื่องบินหรือทางน้ำจะกักตัว 10 วัน ส่วนการเดินทางทางบกจะกักตัว 14 วัน โดยทั้ง 2 ช่องทางจะต้องตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งในวันแรก และช่วงก่อนปล่อยตัว

 

(หมายเหตุ: ***ครบโดสของวัคซีนและครบ 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนโดสสุดท้าย ปัจจุบันมี 7 รายการตามที่องค์การอนามัยโลกหรือกระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ Sinovac, AstraZeneca หรือ Covidshield, Pfizer, J&J, Moderna, Sinopharm และ Sputnik V สำหรับการฉีดวัคซีนไขว้ต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อยตามวัคซีนเข็มแรก เช่น Sinovac + AstraZeneca ต้องห่างจากเข็มแรก 2-4 สัปดาห์)

 

จุดแข็งของการลดวันกักตัวคือจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลา และใน Phuket Sandbox นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวภายในจังหวัดระหว่างกักตัวได้อยู่แล้ว สังเกตว่าประเทศที่ลดวันกักตัวเหลือ 7 วันคือสหรัฐฯ ซึ่งในการประเมินความเสี่ยงของ CDC คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่หลุดจากการตรวจพบ 5% แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้นำประสิทธิผลของวัคซีนมาคำนวณด้วย

 

จุดอ่อนคืออาจมีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการหลังจากครบกักตัว แล้วแพร่เชื้อให้กับนักท่องเที่ยวด้วยกัน หรือผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ข้อมูลจาก Phuket Sandbox พบผู้ติดเชื้อ 115 ราย (0.3%) จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 37,978 คน ในจำนวนนี้ 75 ราย (65.2%) ตรวจพบในช่วง 7 วันแรก แต่อีก 11 ราย (9.6%) ตรวจพบจากการตรวจครั้งที่ 3 (วันที่ 12-13) ส่วนที่เหลือ 29 ราย (25.2%) เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด 

 

ดังนั้นนักท่องเที่ยวจึงควรสังเกตอาการตนเอง หรือมีระบบติดตามต่อจนครบ 14 วัน หากมีอาการต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ และเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้วก็ต้องสอบสวนโรคเพื่อระบุตัวผู้สัมผัส ซึ่งยังไม่เห็นรายละเอียดชัดเจนว่านักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สัมผัสจะต้องกักตัวหรือไม่และกักตัวกี่วัน ส่วนคนไทยที่เป็นผู้สัมผัสจะได้รับการลดวันกักตัวเหมือนนักเที่ยวต่างชาติหรือไม่ 

 

นอกจากนี้แนวทางลดวันกักตัวรอบนี้ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของประเทศต้นทาง ซึ่งแต่ละประเทศมีสถานการณ์การระบาดต่างกัน หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศที่ยังมีการระบาดอยู่ในระดับสูงก็จะมีโอกาสเกิดการระบาดจากนักท่องเที่ยวสูงขึ้น (แต่ไทยเองก็ยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศสีแดงของสหราชอาณาจักร) อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงสายพันธุ์กลายพันธุ์เหมือนเมื่อเดือนเมษายน 2564

 

ทั้งนี้ พื้นที่นำร่องหรือจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวจะต้องมีผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 70% และในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวอย่างน้อย 80% (ควรใกล้เคียง 100%) ความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อนี้อาจยอมรับได้ตามแนวทางอยู่ร่วมกับโควิด แต่ควรมีการเฝ้าระวังในกลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น การตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ตรวจพบผู้ติดเชื้อได้เร็ว และควบคุมโรคได้ก่อนที่จะระบาดเป็นวงกว้าง

 

โดยสรุปการลดวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ มีความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการจากข้อมูลระยะฟักตัวของสายพันธุ์เดลตา และในต่างประเทศก็กำหนดให้กักตัว 10 วันเช่นกัน แต่เมื่อลดวันกักตัวเหลือ 7 วันก็น่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ตรวจไม่พบระหว่างการกักตัวเพิ่มขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีแผนรองรับ และเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X