×

รัฐบาลไทยมีหนี้สาธารณะสูงเป็นอันดับ 11 จาก 35 ประเทศเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2024 ตามการประเมินของ IMF

25.10.2024
  • LOADING...

IMF คาด หนี้รัฐบาลไทยแตะ 65.0% ต่อ GDP ในปี 2024 นับว่าสูงเป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่หนี้สาธารณะทั่วโลกก็มีแนวโน้มจะแตะทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยจะเข้าใกล้ 100% ของ GDP ภายในปี 2030 IMF ยังกระทุ้งรัฐบาลทั่วโลกให้รัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มากขึ้น พร้อมรับความไม่แน่นอนในอนาคต

 

ในรายงาน Fiscal Monitor ฉบับเดือนตุลาคม 2024 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์หนี้รัฐบาลไทย (General Government Gross Debt) โดยประเมินว่า ในปี 2024 หนี้รัฐบาลไทยจะไปแตะ 65.0% ต่อ GDP นับว่าสูงขึ้นจากรายงานฉบับปีก่อนที่ 62.5%

 

โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกพบว่า หนี้รัฐบาลไทยต่อ GDP ของไทยสูงเป็นอันดับที่ 11 ของภูมิภาคจาก 35 ประเทศในฐานข้อมูลรายงาน

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง แสดงให้เห็นว่า ณ เดือนสิงหาคม 2024 หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 64.02% โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะไทย ณ สิ้นปี 2024 คาดว่าจะอยู่ที่ราว 65% ต่อ GDP ภายใต้สมมติฐานว่า Real GDP (ที่ปรับกับเงินเฟ้อแล้ว) จะขยายตัวที่ราว 3%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ในประมาณการล่าสุดของ IMF คาดว่าหนี้รัฐบาลไทยจะแตะระดับสูงสุด (Peak) ที่ 66.4% ในปี 2026 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ ใกล้เคียงกับแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2568-2571 ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 (ฉบับล่าสุด) ของไทย ที่คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะของไทยจะไปแตะระดับสูงสุดราว 69% ต่อ GDP ในปี 2027 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ

 

ทั้งนี้ คำนิยามหนี้สาธารณะไทยตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ และหนี้รัฐบาลของ IMF มีความแตกต่างกัน โดยคำนิยามของไทยมีความอนุรักษนิยม ‘มากกว่า’ เนื่องจาก IMF ไม่ได้รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่รับภาระเข้าไป ทำให้มีสัดส่วนน้อยกว่า

 

 

ส่องเทรนด์ ‘หนี้สาธารณะโลก’ จ่อทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์ปีนี้

 

โดยในรายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุดยังคาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะโลกจะทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือคิดเป็นประมาณ 93% ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง โดยเข้าใกล้ 100% ของ GDP ภายในปี 2030 นับว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มีการระบาดของโควิดราว 10%

 

โดยในสถานการณ์เลวร้ายรุนแรง (Severely Adverse Scenario) หนี้รัฐบาลทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์พื้นฐาน (Baseline Projection) เกือบ 20% ต่อ GDP ภายในช่วง 3 ปีข้างหน้า

 

โดยคาดการณ์พื้นฐาน IMF คาดการณ์ว่าอีก 3 ปีข้างหน้า หนี้รัฐบาลทั่วโลกจะอยู่ที่ราว 97% ต่อ GDP แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรง หนี้รัฐบาลเฉลี่ยทั่วโลกอาจแตะ 115% ต่อ GDP

 

“ระดับหนี้ในอนาคตอาจสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแผนการเงินในแต่ละประเทศให้มากกว่าปัจจุบัน เพื่อที่จะสามารถรักษาเสถียรภาพหรือทำให้ความเป็นไปได้ในการลดหนี้มีมากขึ้น” IMF ระบุ

 

ในรายงานยังระบุอีกว่า หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน กระนั้นสถานการณ์แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน โดยสถานการณ์หนี้สาธารณะ 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิกคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นหรือมีปริมาณลดลง 

 

นอกจากนี้รายงานยังแนะให้ประเทศต่างๆ ควรดำเนินนโยบายการคลังที่มีความรอบคอบมากขึ้น เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบาง ขณะเดียวกันก็ควรใช้ประโยชน์จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่กำลังเกิดขึ้นด้วย

 

 

เปิดปัจจัยกดดัน ‘หนี้สาธารณะโลก’ แย่กว่าคาด

 

IMF ยังกล่าวอีกว่า แนวโน้มทางการคลังของหลายประเทศอาจแย่กว่าการคาดการณ์ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ได้แก่

 

1. แรงกดดันค่าใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น (Large Spending Pressures) 

 

โดยปัจจัยด้านการเมืองอาจทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางปัญหาสังคมผู้สูงอายุและระบบสาธารณสุข การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวและการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความมั่นคงด้านกลาโหมและพลังงาน เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น 

 

2. การคาดการณ์ที่มองโลกในแง่ดีเกินไป (Optimism Bias of Debt Projections)

 

เหตุการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่า การคาดการณ์หนี้สาธารณะมักจะประเมินผลลัพธ์ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP อีก 5 ปีข้างหน้าสามารถสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 10% ของ GDP โดยเฉลี่ย

 

IMF นำเสนอกรอบการวิเคราะห์ใหม่ที่เรียกว่า ‘Debt-at-Risk’ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างเงื่อนไขด้านการเงินมหภาค (Macro-Financial) และการเมืองในปัจจุบัน เข้ากับการประมาณผลลัพธ์หนี้ที่เป็นไปได้ในอนาคต 

 

โดยกรอบการวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หนี้สาธารณะทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 115% ของ GDP ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เกือบ 20% ทั้งนี้ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง, เงื่อนไขทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น, ความล้มเหลวทางการคลัง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและนโยบายที่มากขึ้น ที่สำคัญคือประเทศต่างๆ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั่วโลกที่ส่งผลไปถึงต้นทุนการกู้ยืม รวมไปถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางนโยบายที่เพิ่มขึ้นจากประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา 

 

3. โลกยังมีหนี้จำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้สาธารณะ (Sizable Unidentified Debt)

 

IMF ระบุว่า ยังมีหนี้อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นหนี้สาธารณะ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก

 

จากการวิเคราะห์ประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศพบว่า มีหนี้ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นหนี้สาธารณะ โดย 40% เกิดจากภาระผูกพันและความเสี่ยงทางการเงินที่รัฐบาลต้องเผชิญ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการขาดทุนในวิสาหกิจของรัฐในอดีต

 

โดยหนี้ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นหนี้สาธารณะมีจำนวนมาก โดยอยู่ที่ 1-1.5% ของ GDP โดยเฉลี่ย และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีภาวะตึงเครียดทางการเงิน

 

โลกต้องรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) มากขึ้น 

 

IMF ระบุว่า หากหนี้สาธารณะสูงกว่าการประมาณการ นั่นหมายความว่าความเข้มงวดทางการคลังยังไม่เพียงพอ

 

“ในประเทศที่หนี้สาธารณะคาดว่าจะมีเสถียรภาพลดลง เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ก็มีทางเลือกในการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ” IMF ระบุ 

 

IIF ห่วงรัฐบาลขาดเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ

 

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF เผยแพร่รายงาน Global Debt Monitor ฉบับล่าสุดเดือนกันยายน โดยประเมินว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีส่วนทำให้อัตราการก่อหนี้ทั่วโลกเร่งตัวขึ้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ขาดเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นทั้งในตลาดพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
ขณะที่ปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น ประชากรสูงอายุ และความต้องการเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการกู้ยืมของรัฐบาลเพิ่มขึ้น และเกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ

 

“ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการผลิตที่ลดลง รวมถึง GDP ที่ลดลงในเขตเศรษฐกิจหลักๆ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การพึ่งพาการแทรกแซงของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความผันผวนทางเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางศีลธรรมและนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาด” IIF ระบุ

 

ขณะเดียวกันปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การก่อหนี้สูงขึ้น โดยประเมินว่าหนี้ของรัฐบาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 50% ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นความท้าทายที่สำคัญ เพราะรัฐบาลประเทศต่างๆ มีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมหาศาล ซึ่งภาระดอกเบี้ยเหล่านี้มักสูงกว่างบประมาณด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคม อีกทั้งยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะสั้น 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X